รีวิว "Samsung Galaxy A9" สมาร์ทโฟน 4 กล้องรุ่นแรกของซัมซุง

รีวิว "Samsung Galaxy A9" สมาร์ทโฟน 4 กล้องรุ่นแรกของซัมซุง

รีวิว "Samsung Galaxy A9" สมาร์ทโฟน 4 กล้องรุ่นแรกของซัมซุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องยอมรับว่าหลังจากสมาร์ทโฟนจีนรุกตลาดอย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบกับเจ้าตลาดอย่างซัมซุงไม่น้อยที่ต้องเร่งปรับแนวคิดของผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่ในตลาดสมาร์ทโฟนไป (มากกว่านี้)

ซึ่ง Samsung Galaxy A9 (2018) ก็เป็นสมาร์ทโฟนที่ให้กลิ่นอายที่แตกต่างจากสมาร์ทโฟนซัมซุงรุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งกล้องหลายตัวทำงานหลายหน้าที่ และสีสันของเครื่องที่เป็นแนวไล่เฉดสี ซึ่งวันนี้แบไต๋จะรีวิวเจาะลึกให้อ่านกันว่าสมาร์ทโฟนระดับรองท็อปของซัมซุงในตอนนี้มันเจ๋งยังไงบ้าง

ดีไซน์และหน้าจอของ Galaxy A9

สิ่งที่แปลกตาที่สุดของ Samsung Galaxy A9 คือดีไซน์ของกล้องด้านหลังเครื่องครับ ซึ่งวางเรียงกัน 4 กล้อง ซึ่งถ้ารวมแฟลชด้วยก็จะเห็นเป็น 5 ตุ่มอยู่ด้านหลังเครื่อง ซึ่งการเรียงกล้องแบบนี้ใครจะว่าสวยหรือไม่สวย อันนี้ก็แล้วแต่ความเห็นส่วนตัวกันแล้วกันนะครับ เรื่องนี้แบไต๋จะไม่ยุ่ง!

Samsung Galaxy A9 นั้นมีให้เลือก 3 สีครับ ซึ่งสีที่เราได้มาคือสีน้ำเงิน Lemonade ซึ่งจะไล่จากสีฟ้าไปถึงสีน้ำเงิน ซึ่งก็เป็นสีสันที่สวยสะดุดตาดีครับ สะท้อนแสงได้สดใส เมื่อรวมกับฝาหลังที่เป็นกระจกแล้วยิ่งดูดีเข้าไปใหญ่ แล้วอีก 2 สีที่ซัมซุงมีให้เลือกคือสีชมพู Bubble Gum ที่ไล่จากสีชมพูอ่อนไปหาชมพูเข้ม ซึ่งคุณผู้หญิงน่าจะชอบกัน และสีดำ Caviar ที่ก็แค่เป็นสีดำอ่ะครับ ไม่ได้ไล่เฉดอะไร

นอกจากนี้ฝาหลังยังเป็นที่อยู่ของเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือซึ่งก็ทำงานได้ดีในระดับหนึ่งครับ แต่ยังไม่เร็วเท่าสมาร์ทโฟนจากจีนหลายๆ รุ่น แต่ก็สามารถใช้การสแกนหน้าเพื่อปลดล็อกเครื่องอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งสามารถใช้พร้อมกันได้ทั้งสแกนหน้าและนิ้วพร้อมกัน แต่เราหาวิธีสแกนหน้าแล้วไม่ปลดล็อกเครื่องทันทีไม่เจอนะครับ ที่เทสคือเมื่อเจอหน้าเวลาอยู่ใน Lock Screen จะปลดล็อกให้เลย ซึ่งหลายคนก็ไม่ชอบรูปแบบนี้เท่าไหร่

ส่วนด้านหน้านั้นเป็นที่อยู่ของจอภาพขนาด 6.3 นิ้วแบบ Super AMOLED ความละเอียด FullHD+ ซึ่งแน่นอนว่าสมาร์ทโฟนจากซัมซุงนั้นยังไม่มีติ่งหรือรอยบากให้กวนใจในตอนนี้ครับ (แต่อนาคตรุ่นมีรูบนจอมาแล้ว) ก็เป็นด้านหน้าเครื่องที่ดูสมดุลดีระหว่างขอบจอด้านล่างและด้านบน แต่ถ้าใครชินกับมือถือจอบากมาก็จะรู้สึกว่าขอบบนและขอบล่างนั้นหนาไปหน่อย ส่วนคุณภาพของหน้าจอนั้นดีงามอยู่แล้วในสไตล์ซัมซุง ซึ่งก็ให้สีสันได้สดใสเป็นธรรมชาติ ไม่สดจนเกินไป แถมยังมีโหมด AMOLED Cinema เพื่อช่วยให้การดูหนังได้อรรสรสมากขึ้นด้วยปรับจอให้มีสีโทนอุ่นหน่อยๆ

ที่ขอบด้านข้างเครื่องก็เป็นที่อยู่ของสารพัดสิ่งครับ ขอบซ้ายนั้นมีปุ่ม Bixby ที่หลายคนไม่ชอบอยู่ 555, ขอบขวาเป็นปุ่มเร่ง-ลดเสียงกับปุ่มล็อกจอ, ขอบบนเป็นถาดใส่ซิม และขอบล่างเป็นที่อยู่ของพอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB-C ช่องหูฟัง 3.5 mm ที่ให้เสียงดีใช้ได้เลยหลังจากเปิดใช้ Dolby Atmos ในเครื่อง และด้านล่างของเครื่องยังเป็นที่อยู่ของลำโพงครับ ซึ่ง Galaxy A9 นั้นมีลำโพงแค่ตัวเดียวนะครับ ไม่ได้เป็นลำโพงสเตอริโอ และเสียงที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของลำโพงจากสมาร์ทโฟน คือเสียงดังแต่เบสไม่มีครับ

ประสิทธิภาพของ Samsung Galaxy A9 (2018)

สเปคของ Samsung Galaxy A9 นั้นเป็นแบบนี้ครับ

CPU: Snapdragon 660 พร้อม AI Engine 2 + 6 cores (2.0 GHz Kryo 360 Gold – Cortex-A75 derivative + 1.7 GHz Kryo 360 Silver – Cortex-A55 derivative) RAM: 6 GB หน่วยความจำ: 128 GB

ซึ่งผลการทดสอบ Samsung Galaxy A9 นั้นได้คะแนนดังนี้

Geekbench 4 ได้คะแนน Multi-core ไปราว 5600 คะแนน 3Dmark ชุดทดสอบ Sling Shot Extreme ก็ได้คะแนนในส่วน OpenGL ไป 1300 คะแนน Antutu 7.1 ได้คะแนนไปราว 140,000 คะแนน

ซึ่งประสิทธิภาพระดับนี้ก็ดีพอที่จะเล่นเกมยอดนิยมในปัจจุบันอย่าง Contra: Return ได้ลื่นๆ แบบไม่มีกระตุกครับ หรือ PUBG ก็สามารถปรับคุณภาพภาพเป็น High และเล่นได้ลื่นๆ เช่นกัน ก็สมฐานะความเป็น Snapdragon ที่ชื่นชั้นการันตีว่าเล่นเกมลื่น ซึ่งเมื่อเล่นไปสักพักจะรู้สึกว่าเครื่องอุ่นๆ นอกจากนี้การที่เราเล่นเกมผ่าน Game Launcher ของซัมซุงก็ทำให้สามารถประสบการณ์การเล่นเกมได้ด้วย ทั้งการปิด Notification ระหว่างเล่นเกม หรือการปรับประสิทธิภาพเครื่องไปให้ถึงขีดสุดเพื่อให้เล่นเกมได้ลื่นก็ทำได้

ส่วนการใช้งานทั่วไปเล่น facebook เล่น LINE ก็ทำได้ลื่นไหลอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าในบางจังหวะก็แอบรู้สึกว่ามีความหน่วงอยู่บ้าง ซึ่งก็หวังว่าซัมซุงจะปรับตัว Samsung Experience 9.0 ที่เป็นซอฟต์แวร์ครอบ Android 8 ให้สามารถจัดการประสิทธิภาพเครื่องให้ได้ลื่นไหลกว่าเดิมอีกหน่อยนะครับ

เรื่องกล้อง การปรับปรุงครั้งสำคัญของ Galaxy A9

Samsung Galaxy A9 นั้นเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของซัมซุง (และน่าจะเป็นรุ่นแรกของโลกด้วยมั้ง) ที่มีกล้องหลัง 4 ตัว ประกอบไปด้วย (ไล่จากกล้องบนลงล่างนะ)

เลนส์มุมกว้าง 120 องศา ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล f/2.4 เลนส์ซูม 2 เท่า ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล f/2.4 เลนส์หลักความละเอียด 24 ล้านพิกเซล f/1.7 เลนส์วัดระยะ เอาไว้ทำหน้าชัดหลังเบลอความละเอียด 5 ล้านพิกเซล f/2.2

ก็เป็นเทรนด์ไปแล้วสำหรับสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมเลนส์ซูมและเลนส์มุมกว้าง เพื่อถ่ายภาพให้ได้หลากหลายระยะ ผู้ใช้สามารถกดสลับเปลี่ยนระยะได้ง่ายๆ จากหน้าถ่ายรูป ซึ่งจากสเปคของตัวกล้อง ถ้าถ่ายภาพกลางคืนก็พยายามใช้เลนส์หลักให้ได้มากที่สุดดีกว่าครับ เพราะจะเก็บแสงได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับเลนส์มุมกว้างและเลนส์ซูม 2 เท่า แต่การสลับเลนส์นี้เราขอตินิดหนึ่งว่าการสลับเลนส์ทำได้ช้าไปหน่อย คือหลังจากกดแล้วต้องรออึดใจหนึ่งเพื่อดูเอฟเฟกภาพซูมเข้า-ออก ถ้า Firmware รุ่นต่อๆ จะพัฒนาให้การเปลี่ยนเลนส์ทำได้เร็วขึ้นกว่านี้จะดีมากเลย

ส่วนคุณภาพรูปถ่ายจาก Galaxy A9 นั้นจะเป็นอย่างไร สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น เราไปดูภาพตัวอย่างจาก Galaxy A9 กันครับ

ภาพจากกล้องมุมกว้างของ Samsung Galaxy A9

ภาพจากกล้องมุมกว้าง

เรื่องที่เราประทับใจเกี่ยวกับกล้องของ Samsung Galaxy A9 คือเลนส์มุมกว้างครับ ที่ทำให้การถ่ายรูปสนุกขึ้นอีกเยอะ จากกล้องทั่วไปที่มักมีปัญหาเวลาต้องถ่ายภาพในพื้นที่แคบๆ หรือไม่สามารถเก็บภาพวิวทิวทัศน์ทั้งหมดได้ แต่เมื่อ Galaxy A9 นั้นมีกล้องมุมกว้างก็แก้ไขจุดอ่อนในเรื่องนี้ไปได้ ซึ่งเทรนด์กล้องมือถือมาพร้อมเลนส์มุมกว้างก็น่าจะลากยาวไปถึงสมาร์ทโฟนเรือธงในปีหน้าด้วย เพราะมันเป็นความสามารถที่ได้ลองแล้วจะลืมมันไม่ลงจริงๆ

แต่การใช้เลนส์มุมกว้างก็มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่สามารถรับแสงได้น้อยกว่าเลนส์หลักนะครับ เพราะมีรูรับแสงที่แคบกว่า ซึ่งจาก 3 ภาพด้านบนจะเห็นว่าในซีนกลางคืนเหมือนกัน ภาพจากเลนส์หลักนั้นจะให้ภาพสว่างสดใสและมีรายละเอียดมากที่สุด ส่วนการใช้เลนส์มุมกว้างนั้นจะให้ภาพที่มืดลงไปเยอะ ส่วนกล้องเลนส์ซูมก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ดีนักในพื้นที่แสงน้อยขนาดนี้ครับ

แต่เรื่องหนึ่งที่สังเกตได้จากกล้องของ Samsung Galaxy A9 คือสีสันและ Contrast ของภาพนั้นจะไม่สดใสนักครับ ให้ภาพออกไปในแนวทึมๆ โดยเฉพาะภาพถ่ายในที่ร่มครับ ซึ่งต้องเอาไปแต่งต่อเพื่อดึงความสดใสของภาพออกมา ซึ่งก็เป็นความแตกต่างของกล้องในสมาร์ทโฟนระดับกลางอย่าง A9 เมื่อเทียบกับกล้องของรุ่นท็อปอย่าง S9 หรือ Note 9 นะครับ ที่ให้ภาพแบบ “สวยเลย” ได้มากกว่า

อีกเรื่องหนึ่งที่เราก็แอบสงสัยเวลาใช้งานกล้องคือทำไมซัมซุงต้องแยกโหมด Automatic กับ Scene Optimizer หรือการใช้ AI เพื่อตรวจสอบซีนภาพแล้วปรับให้เหมาะสมออกจากกัน เพราะในสถานการณ์ทั่วไป 2 โหมดนี้ให้ภาพที่คล้ายกันมากครับ แยกกันไม่ออก มีบางสถานการณ์เท่านั้นแหละที่ Scene Optimizer ก็จะให้ภาพที่สดใสกว่า เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามใช้โหมด Scene Optimizer ตลอดเวลาที่ถ่ายภาพครับ

ดูภาพถ่ายหน้าชัดหลังเบลอกันบ้าง

การถ่ายภาพบุคคลให้หลังเบลอด้วยโหมด Live Focus

ส่วนในเรื่องการถ่ายวิดีโอนั้นก็ทำได้ดีในระดับหนึ่งครับ มีการป้องกันภาพสั่นไหว ทำให้ได้วิดีโอที่ดูคมชัดแม้ว่าจะถือถ่าย แต่ข้อจำกัดของการถ่ายวิดีโอคือไม่สามารถสลับไปใช้เลนส์มุมกว้างได้ การถ่ายในโหมดปกติจะสามารถสลับได้ระหว่างภาพจากเลนส์ปกติและเลนส์ซูม 2 เท่าเท่านั้น ส่วนการใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายจะต้องเลือกเป็นเลนส์มุมกว้างจากโหมดภาพนิ่งก่อน แล้วค่อยกดถ่ายวิดีโอ แล้วเมื่อเริ่มถ่ายแล้วก็ไม่สามารถสลับไปใช้เลนส์อื่นๆ ได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับ Huawei Mate 20 ที่เป็นระบบซูม 3 ระยะเหมือนกัน แต่สามารถสลับเลนส์ไปมาได้ระหว่างถ่ายวิดีโอ ก็น่าเสียดายกับ A9 ตรงนี้ครับ

ภาพจากเลนส์ซูม 2 เท่า

ภาพจากกล้องหน้า

สรุปว่า 4 กล้องของ Samsung Galaxy A9 นั้นทำงานได้ดีครับ โดยเฉพาะเลนส์มุมกว้างที่เปิดโอกาสให้ได้ภาพเก๋ๆ อีกเยอะมาก แต่คุณภาพภาพจากกล้องก็ยังไปไม่สุดทางนะครับ น่าจะต้องดูกล้องของ Galaxy S10 ที่น่าจะใช้ระบบ 4 เลนส์เหมือนกัน แต่น่าจะให้ความสดใสของภาพได้ดีกว่านี้

สรุปประสบการณ์การใช้ Samsung Galaxy A9 Galaxy A9 นั้นมาพร้อมระบบ Fast Charge 15W มาตรฐานของซัมซุงซึ่งชาร์จ 10 นาทีได้ 12% และชาร์จแบตเตอรี่ความจุ 3800 mAh เต็มใน 1.36 ชั่วโมง GPS ของ A9 ทำงานได้ดี ใช้นำทางตำแหน่งไม่หลุด ซึ่งเราเทสนำทางไปเที่ยวต่างจังหวัดจติดกันหลายวัน ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เสียงจากช่องหูฟัง 3.5 มม. นั้นออกมาได้ดี และเสียงจะก้องกังวาลน่าฟังขึ้นไปอีกเมื่อเปิดใช้ Dolby Atmos ในตัวเครื่อง แต่แอบสงสัยว่าทำไมถึงไม่มี Samsung Pay ให้ใช้ในมือถือรุ่นนี้นะ รองรับ MicroSD สูงสุด 512 GB ซึ่งมาพร้อมถาดซิมแบบ 3 ช่อง สามารถใส่ 2 ซิมได้พร้อม MicroSD เลย ราคาเปิดตัว 19,990 บาท แชร์โพสนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook