Google Keyboard รองรับตัวอักษรต่างๆ ครบ 500 ภาษาในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรก
เป็นอีกหนึ่งโครงการของ Search Engine รายใหญ่ ที่จะนำผู้ใช้อีกครึ่งค่อนโลกที่เหลือเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตให้ได้ ตามวิสัยทัศน์ The Next Billion Users (หนึ่งพันล้านคนถัดไป) เพราะล่าสุด Google ได้ประกาศผ่านบล็อกของตัวเองว่า Google Keyboard (เรียกอีกชื่อว่า Gboard) รองรับตัวอักษรต่างๆ ครบ 500 ภาษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาแค่สองปีโดยนับจากวันเปิดตัวครั้งแรก ทำให้คนทั่วโลกกว่า 90% สามารถพิมพ์ภาษาแม่บน Gboard ได้เลยโดยที่ไม่ต้องโหลดแอพคีย์บอร์ดเสริม
ตัวอย่างอักษรโอลสิกิ
ปัจจุบันนี้ Gboard รองรับระบบการเขียนมากกว่า 40 ระบบ จากตัวอักษรที่มีในหลายๆ ภาษา อาทิเช่นอักษรโรมัน (ใช้ในภาษาอังกฤษและยุโรปตะวันตก), อักษรซีริลลิค (ใช้ในภาษารัสเซียและดินแดนของโซเวียตในอดีต) และอักษรเทวนาครี (ใช้ในภาษาฮินดี และภาษาท้องถิ่นของอินเดีย) รวมไปถึงอักษรใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาอย่างอักษรโอลสิกิ (ใช้ในภาษาสันถาลี) เป็นต้น รูปแบบแป้นพิมพ์จึงถูกปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละภาษา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์โต้ตอบได้ตามปกติไม่ติดขัด รวมถึงฟังก์ชั่นอื่นๆ ด้วย เช่น ระบบแก้ไขคำโดยอัตโนมัติ (Autocorrect) และระบบเดาคำศัพท์ล่วงหน้า
Google เปิดตัว Gboard ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2016 โดยรองรับ 100 ภาษาแรกตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นจึงรองรับภาษาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา Google มีเป้าหมายสำคัญที่จะเพิ่มภาษาใหม่ให้ครบ 500 ภาษาในระยะเวลาเพียงแค่สองปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้ตัวอักษรของภาษาใหม่ๆ มาสอนให้ AI ได้เรียนรู้ สำหรับภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสนั้นถือว่าเรียนรู้ได้ง่ายมาก แต่ภาษาของชนกลุ่มน้อยนั้นถือเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะภาษาที่ไม่ค่อยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (มีการพูดมากกว่าการเขียน)
เพื่อทำให้ Google ได้ข้อมูลมากพอที่จะเพิ่มภาษาใหม่ๆ ลงไปได้ ระบบของ Gboard จะเปิดผู้ใช้ป้อนภาษาแม่ของตัวเองลงไป เพื่อสร้างฐานข้อมูลของตัวอักษรเหล่านั้น เมื่อเลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดภาษานั้นถูกออกแบบขึ้นมา และ AI ได้เรียนรู้ภาษาใหม่นั้นแล้ว Google จะเปิดให้ทดลองใช้ รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ใช้ในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้ได้ภาษาใหม่ที่สมบูรณ์ และปล่อยอัปเดตจริงๆ ต่อไปในอนาคต
ต้องคอยดูกันต่อไปว่า Google จะเพิ่มภาษาอะไรลงไปใน Gboard อีกบ้าง แต่ไม่แน่ เราอาจจะได้เห็นภาษาของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในประเทศไทย เพิ่มมาอีกสักหนึ่งภาษาก็เป็นได้ครับ