ส่อง Hashtag ติดเทรนด์ว่ามาจากไหนด้วย Trendsmap Topic พบ #BoycottThailand ส่วนใหญ่มาจากไทย!
จากกระแสข่าวการจับกุมตัวนายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนในประเทศไทย จนนำมาสู่การฝากขังจากทางศาล และเกิดการรณรงค์ให้ปล่อยตัวนายฮาคีมด้วยการติด Hashtag #SaveHakeem พร้อมกันนั้น ยังเกิด Hashtag #BoycottThailand และทำให้ Hashtag นี้ เป็นเทรนด์บนหน้าฟีดของทวิตเตอร์เพียงชั่วข้ามคืน
หลายต่อหลายสำนักข่าวต่างลงข่าวและนำเสนอว่า “Hashtag ดังกล่าวนี้ มาจากชาวต่างชาติเป็นผู้จุดประเด็นขึ้นมา แสดงถึงความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในเมืองไทย และเรียกร้องให้ทั่วทั้งโลกพากันประณาม ที่เรียกร้องให้ทั่วทั้งโลกร่วมกันบอยขอตประเทศไทยจากการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลของทางฟีฟ่า”
>> "ฮาคีม อัล อาไรบี" คือใคร? ทำไมเขาถึงถูกจับที่ไทย?
แต่ทว่า… ในโลกออนไลน์ ได้มีการตรวจสอบว่า Hashtag #BoycottThailand ที่มีกล่าวอ้างว่าทั่วทั้งโลกต่างพิมพ์ในทวิตเตอร์จนเป็นเทรนด์กันไปนั้น มาจากประเทศไหนกันแน่ และได้ทราบว่า Hashtag ดังกล่าวนี้ ไม่ได้มาจากประเทศใดไหนอื่นเลย ก็มาจากประเทศไทยนี่แหละ คนไทยด้วยกันพิมพ์ประณามกันเอง ถึงแม้ว่าจะมีบางประเทศที่ร่วมพิมพ์ใน Hashtag นี้ แต่ก็ไม่ได้มีมากพอตามที่สื่อบางสำนักได้รายงานออกไป
ในเรื่องของคดีความให้ปล่อยเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรม แต่สิ่งที่จะนำเสนอให้ผู้อ่านได้อ่านกันนั้น คือเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบว่ามีการพูดคุยในหัวข้อต่างๆ หรือว่า Hashtag บางอันที่กำลังเป็นเทรนด์นั้น มาจากที่ใด โดยเครื่องมือนี้มีชื่อว่า “Trendsmap Topic”
Trendsmap Topic เป็นเครื่องมือรวบรวมการค้นหาและการพูดคุยของผู้คนบนโลกออนไลน์จากทั่งทั้งโลก โดยอ้างอิงตามตำแหน่งผู้ใช้งานเป็นส่วนใหญ่ และสรุปออกมาว่าในพื้นที่ต่างๆ นั้น พูดคุยเรื่องอะไรบ้าง โดยวัดจากคำพูด หัวข้อ และ Hashtag จากสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง Facebook, Twitter และ Instagram ทั้งนี้ ยังสามารถตรวจสอบได้ลึกถึงระดับที่ว่า ในหัวข้อหรือ Hashtag ที่ค้นหาไปนั้น ใครเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือรีทวีตมากที่สุด โดยเราจะแนะนำเครื่องมือบางชิ้นที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์สำหรับเราๆ ให้ได้ทราบกัน
นี่คือหน้าแรกของ Trendsmap Topic
จะสังเกตได้ว่า มี Hashtag ที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วทั้งโลก แสดงผลออกมาแบบยิบยับไปหมด สนใจ Hashtag ไหน ก็เลือกคลิกเข้าไปได้เลย อยากจะซูม หรือเลือกจำกัดแค่ในพื้นที่ของเรา หรือในประเทศของเรา ก็ทำได้
เมื่อเปิดแถบเมนูด้านข้าง จะพบกับเมนูย่อยหลายรายการด้วยกัน
Analytics
เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการค้นหาและวิเคราะห์จากคำค้นหาของเรา โดยสามากำหนดค่าได้ว่าจะค้นหาจากประเทศไหน ภาษาอะไร ย้อนหลังกี่วัน ซึ่งสามารถย้อนหลังได้มากสุดถึง 20 สัปดาห์ (140 วัน เท่ากับประมาณ 4 เดือนนิดๆ…)
Topic Search
ลักษณะการใช้งานจะคล้ายกับ Analytics แต่ต่างกันตรงที่ค้นหาโดยใช้คำ หัวข้อ Hashtag หรือตัวบุคคล
Global Top Tweets
เป็นเครื่องมือรวบรวมและแสดงผลว่าทวิตของใคร ที่มีผู้กดรีทวีตไปมากที่สุด โดยสามารถเลือกกรอบเวลาในการค้นหาได้ตั้งแต่ 5 นาที ไปจนถึง 1 วัน นอกเหนือจากนี้ ยังสามารถจำกัดผลการค้นหาได้ด้วยว่า บัญชีผู้ใช้งานนั้นผ่านการยืนยันตัวตนหรือไม่ เลือกเฉพาะทวีตอย่างเดียวหรือการตอบกลับ และยังสามารถเลือกได้ว่าทวิตดังกล่าวนั้น มีภาพนิ่ง ไฟล์วิดีโอ หรือภาพแบบ Gif แนบมาด้วยหรือไม่
Top Twitter Users
แม่แขยืนหนึ่ง ส่วนจัสตินมาเป็นเบอร์รอง…
เป็นหน้ารวบรวมจำนวนผู้ที่ถูกติดตามในสังคมทวิตเตอร์ โดยเรียงลำดับจากมากสุดเป็นอันดับที่หนึ่ง และไล่เรียงลงมาจนถึงลำดับที่ 1,000 ซึ่งแน่นอน แม่แขของน้องๆ อย่าง Katy Perry ครองผู้ติดตามบนทวิตเตอร์มากที่สุดในขณะนี้ (ติดอย่างเดียวที่ไม่สามารถนำชื่อผู้ใช้งานที่ต้องการค้นหามากรอกใส่และตรวจลำดับได้…)
และนี่คือหน้าตาของผลการค้นหาที่ผ่านการประมวลผลจากระบบแล้ว…
เครื่องมือจากด้านซ้าย: ตัวกรองที่กำหนดได้ว่าให้ประมวลผลในรอบกี่วัน ภาษาอะไร และจากประเทศอะไร, สรุปโดยรวมที่มีตั้งแต่จำนวนทวีต, จำนวนรีทวีต, ความถี่ และแบ่งเพศว่าในประเด็นนี้ มีเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่, ไทม์ไลน์ ที่จำลองอออกมาเป็นกราฟ เทียบเคียงตามลำดับเวลา
เราได้ทำการลองค้นห้าด้วย Hashtag #SaveThailand ผลปรากฎว่า นับจนถึงตอนที่บทความกำลังจัดทำขึ้นมานั้น มีผู้ที่ทวีตไปแล้วเกือบๆ 1.7 แสนคน รีทวีตไปแล้วกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ จาททวีตทั้งหมดที่พูดถึง และเมื่อดูกราฟไทม์ไลน์แล้วจะพบว่า มีการพิมพ์ในหัวข้อดังกล่าว และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีบางช่วงบางตอนที่กระแสในการพูดถึงลดน้อยถอยลงไปบ้าง
ส่วนต่อมาเป็นแผนที่จำลอง ที่จำลองให้เห็นว่า มีประเทศ หรือภูมิภาคใดบ้างที่พูดเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเราสามารถเข้าไปกดดูตัวอย่างของทวีตที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้อีกด้วย
ในส่วนตรงนี้ จะสรุปว่าในหัวข้อ หรือ Hashtag ดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มีการพูดคุยกันมากสุดจากประเทศใด เมืองใด และภาษาอะไรบ้าง นอกเหนือจากนี้ ยังสรุปให้อีกด้วยว่า นอกเหนือจากหัวข้อ หรือ Hashtag ที่เราทำการค้นหาแล้ว ยังมีการพูดคุยถึงหัวข้อใดๆ อีกบ้าง มีคำอะไรบ้างที่อยู่ในทวีต ใส่อีโมจิแบบไหน และโดยส่วนใหญ่ พิมพ์ทวีตมาจากอุปกรณ์ชนิดใด
ส่วนต่อไปคือสรุปผลว่า ในหัวข้อ หรือ Hashtag ดังกล่าวนั้น มีเว็บไซต์ใดบ้างที่กล่าวถึง หรือหยิบมาประกอบ จะเป็นการประกอบในส่วนของชื่อหัวข้อ พาดหัว หรืออยู่ใน Caption ก็นำมารวบรวมปละประมวลผลออกมา นอกเหนือจากนี้ ยังมีการแสดงสัดส่วนว่านิกจากทวิตเตอร์แล้วนั้น ยังมีเว็บไซต์ใดบ้างที่เกี่ยวข้อง
ตรงนี้ถือเป็นส่วนที่เหมือนกับ “ยาชูกำลัง” ให้แก่เหล่าทวิตภพทั้งหลาย เพราะว่าเป็นส่วนของการสรุปว่าทวีตของใครบ้างที่ได้รับการรีทวีตมากที่สุด ซึ่งจากภาพที่เห็นอยู่นี้สะท้อนได้ว่า ไม่ต้องเป็นเซเลป หรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ ถ้าทวีตของคุณถูกใจ ก็จะถูกรีทวีตไปอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากนี้ ยังสรุปโควท หรือถ้อยข้อความที่มีการรีทวีตมากที่สุด และทวีตที่ถูกตอบกลับ หรือ Reply มากที่สุด
ถัดลงมา เป็นการสรุปโดยแยกบุคคลทั่วไป กับกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ (หรือ Influencer), ทวีตที่ถูกพิมพ์ล่าสุด และทวีตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ถัดลงมา เป็นการสรุปว่า ทวีตที่มีการแนบสื่อ (ภาพนิ่ง, วิดีโอ หรือ Gif) ทวีตใดที่กล่าวถึงมากสุด และลิงก์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นลิงก์ที่โยงไปเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ต่างๆ
ปิดท้ายที่การสรุปถึงบัญชีผู้ใช้งาน หรือ Account ที่มีการเกี่ยวข้อง หรือถูกพูดถึงมากสุด โดยแบ่งตามประเภทของผู้ใช้งาน อย่าง ผู้ใช้ทั่วไป, ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ และผู้ที่มีส่วนในการสนับสนุน
บริการ Trendsmap Topic นี้ สามารถใช้งานได้แบบฟรีในทุกฟีเจอร์ของการใช้งาน แต่ถ้าหากต้องการใช้งานได้อย่างต่อเนื่องก็สามารถสมัครใช้บริการได้ โดยในเบื้องต้น แค่ล็อคอินเข้าสู่ระบบก็ได้ทดลองใช้งาน 7 วัน หลังจากนั้นจะต้องทำการสมัครสมาชิกแบบรายเดือน ซึ่งมีหลากหลายราคา หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน (แบบถูกสุด ประมาณ 780 บาท และแบบพรีเมี่ยม ประมาณ 9,000 กว่าบาท)
ถามว่าเครื่องมือนี้เหมาะกับใครบ้าง แน่นอนว่าชาวบ้านหรือคนที่ติดตามโลกโซเชียลแบบทั่วๆ ไป คงไม่อาจเอื้อมที่จะใช้งานแบบจ่ายเงินได้ (ใช้ฟรียังพอได้บ้าง) แต่เครื่องมือนี้ เหมาะสำหรับองค์กร หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำการตลาดในโลกโซเชียล หรือแม้แต่กลุ่มบุคคลที่ทำข่าวโดยใช้ฐานข้อมูลบนโลกโซเชียลในการค้นหา และนำข้อมูลมานำเสนอ ราคาที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือราคาแบบผู้ใช้งาน 1 คน ต่อ 1 เดือน ซึ่งสามารถเลือกใช้งานแบบรายปี และไม่จำกัดจำนวนบุคคลได้ แต่ราคาจะมากเป็นสิบเท่า จากราคาที่จำหน่ายแบบรายบุคคล อย่างไรก็ตาม ใครที่สนใจจะทดลองใช้ หรืออยากค้นหาว่าเทรนด์ Hashtag จากทั่วทั้งโลกนั้น มีอะไรที่เป็นที่นิยมอยู่บ้างในช่วงนี้ ก็สามารถคลิกเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ www.trendsmap.com