สตาร์ทอัพคิดค้นแอปพลิเคชั่นช่วยผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ไม่รู้หนังสือ
ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องรู้หนังสือจึงจะสามารถใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์นี้ในการส่งข้อความ อ่านข่าว หรือใช้สื่อสังคมออนไลน์
แมกซ์ ชัทคิน (Max Shatkhin) ผู้ร่วมก่อตั้งเเละที่ปรึกษาแห่งบริษัทเทคสตาร์ทอัพ LitOS กล่าวว่า ตนเองไม่เคยคิดว่าผู้ใช้มือถือต้องพึ่งการพิมพ์และการอ่านข้อความทางโทรศัพท์มากแค่ไหน จนกระทั่งได้ลองคิดดูและเกิดคำถามว่า เเล้วจะออกแบบสมาร์ทโฟนอย่างไรให้เหมาะกับคนที่ไม่รู้หนังสือ
ชาทคิน กล่าวว่า LitOS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อการใช้งานสำหรับคนไม่รู้หนังสือเป็นการเฉพาะ โดยเเทนที่จะใช้การพิมพ์ตัวหนังสือในการส่งข้อความ จะใช้ภาพถ่าย ภาพถ่ายวิดีโอเเละเทคโนโลยีเสียงพูด
ในปัจจุบัน คนไม่รู้หนังสือในประเทศกำลังพัฒนามีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก บริษัท LitOS กำลังทำงานกับคนที่มีการศึกษาน้อยเเละรายได้ต่ำในอินเดียในขณะนี้
เขากล่าวว่า ประชากรกลุ่มนี้มีมือถือสมาร์ทโฟนใช้ พวกเขามีกำลังเงินซื้อมือถือมาใช้ เเละจ่ายค่าอินเตอร์เน็ท แต่พวกเขายังใช้มือถือไม่ได้
แอพพ์ตัวใหม่ที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้นมานี้ยังใช้เทคโนโลยีการจดจำเสียงเพื่อเข้าไปในระบบเเละค้นหาชื่อ โดยกระบวนการออกแบบของทีมงานได้พิจารณาด้วยว่า คนไม่รู้หนังสือใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไร
ชาทคินบอกว่าบ่อยครั้งที่ผู้ใช้จะค้นหาชื่อโดยใช้เบอร์สี่ตัวสุดท้ายของหมายเลขโทรศัพท์ เพราะไม่สามารถจดจำเบอร์ทั้งหมดได้ แต่มักจะจำได้เฉพาะตัวเลข 4 ตัวสุดท้ายเท่านั้น ทำให้ phonebook ของบริษัท LitOS เเสดงตัวเลข 4 ตัวสุดท้ายของหมายเลขโทรศัพท์ที่ค้นหาเสมอ
เเละในอนาคต ทางบริษัทบอกว่าจะใช้ระบบจดจำเสียงที่สามารถค้นหาเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสือร่วมด้วย ซึ่งจะยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากขึ้น
ชาทคิน กล่าวว่า ระบบนี้จะรู้ว่ามีเนื้อหาอะไรอยู่ในหน้าไหน เเละจะสามารถให้ข้อมูลนั้นๆ เเก่ผู้ใช้ได้ทันที เขากล่าวว่า เป้าหมายคือมุ่งช่วยให้คนไม่รู้หนังสือสามารถเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารได้เหมือนกับคนทั่วไป
สำหรับคนไม่รู้หนังสือ การอ่านไม่ออกเเละเขียนไม่ได้ จะไม่เป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารผ่านมือถืออีกต่อไป
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)