พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ 2562 บังคับใช้แล้ว อาจสามารถดักล้วงข้อมูลได้ คนละส่วนกับ พ.ร.บ. ไซเบอร์
สดๆ ร้อนๆ บังคับใช้แล้ว พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ 2562 แต่ก่อนอื่นขอบอกว่า ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ไซเบอร์ ที่เป็นประเด็นไป (และทางเราได้ข้อมูลความจริงเจาะลึกของ พ.ร.บ. ไซเบอร์เช่นกัน เดี๋ยวจะมาเขียนให้อ่านนะครับ มาเข้าเรื่องด่วนกันก่อน)
มาดูว่ามีอะไรเด่นๆ ใน พ.ร.บ.นี้บ้าง
มาตราที่ 6 “อาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด” มาตราที่ 12 “ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติจัดให้มีศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ศป.ข.” เป็นหน่วยงานภายใน เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกิจการการข่าวกรองการต่อต้านข่าวกรอง” มาตราที่ 13 ให้ ศป.ข. มีหน้าที่และอำนาจในการ ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง รวมทั้งรายงานข่าวประจำวัน ข่าวเร่งด่วน ข่าวเฉพาะกรณี เฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในภาวะปกติและช่วงที่มีสถานการณ์ ช่วงเทศกาลที่สำคัญ พระราชพิธี และการประชุมหรืองานพิธีการที่สำคัญของรัฐ ให้ความรู้และประสานความร่วมมือด้านการข่าวกับภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชน แต่มาตรา 6 มีขยายความจุดนึงอันนี้น่าสนใจมาก
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ “อาจดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้”
ตรงนี้ทำให้เกิดการวิจารณ์กันว่า อาจสามารถทำการดักข้อมูล หรือเจาะระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลได้ แต่ว่าก็มีการระบุว่า “เงื่อนไขในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบ ของนายกรัฐมนตรี รวมถึงต้องระบุระยะเวลา วิธีที่ใช้ และเหตุผล และเยียวยาผลกระทบต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้สามารถอ่าน พ.ร.บ. นี้ฉบับเต็มได้ที่นี่
อ้างอิง: ประชาไท