“เฟซบุ๊ก” เข้มงวดสตรีมมิ่งเข้าข่ายก่อการร้าย-สร้างความเกลียดชัง
สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ยกระดับความเข้มงวดด้านนโยบายการถ่ายทอดสดภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ livestreaming ผ่านเฟซบุ๊ก ภายใต้กรอบการทำงานระหว่างประเทศ ที่ใช้ชื่อว่า “Christchurch Call” หรือ “ข้อเรียกร้องไครส์เชิร์ช” ที่ตั้งชื่อตามเหตุโจมตีมัสยิด 2 แห่ง ในนิวซีแลนด์
มาตรการดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่ผู้บริหารเฟซบุ๊กจะเข้าพบนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระหว่างการประชุมสุดยอดด้านเทคโนโลยี ในการร่วมลงนามสัญญา “Christchurch Call” ร่วมกับผู้นำโลกและผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกที่กรุงปารีส ของฝรั่งเศสในวันพุธ
โดยเฟซบุ๊ก ระบุว่า หากเฟซบุ๊กพบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสร้างความเกลียดชัง จะสั่งบล็อคบัญชีผู้ใช้ที่เผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวชั่วคราวหากพบการกระทำดังกล่าวครั้งแรก และจะสั่งยกเลิกบัญชีทันทีหากพบการเผยแพร่เนื้อหาขั้นร้ายแรง
นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก ยังลงทุน 7.5 ล้านดอลลาร์ ในการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหาเข้าข่ายก่อการร้ายหรือสร้างความเกลียดชัง แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวจะพยายามตัดต่อเนื้อหาให้หลบเลี่ยงการตรวจจับของระบบ AI จากเฟซบุ๊กก็ตาม
ทั้งนี้ ภายใต้ “Christchurch Call” เป็นกรอบการทำงานร่วมกันให้กับประเทศและบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ลงนามในสัญญาฉบับนี้ หาทางแก้ไข ป้องกัน และรับมือกับนำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายการก่อการร้าย โดยมีผู้นำฝรั่งเศสและนิวซีแลนด์ เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ และมีผู้นำจากอังกฤษ แคนาดา ไอร์แลนด์ เซเนกัล อินโดนีเซีย จอร์แดน และสหภาพยุโรป รวมทั้งบริษัททวิตเตอร์ กูเกิล ไมโครซอฟต์ และเฟซบุ๊ก ที่เข้าร่วมการหารือและลงนามในสัญญาฉบับนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์สนับสนุนแนวคิดของ “Christchurch Call” แต่ปฏิเสธที่จะลงนามในสัญญาดังกล่าว