Google ถูก Genius โวย กรณีขโมยเนื้อเพลงไปแสดงบนผลการค้นหา พร้อมหลักฐานคาหนังคาเขา
หลายๆคนคงยังนึกไม่ออกว่า Google ไปขโมยเนื้อเพลงได้อย่างไร ขโมยแล้วเอาไปไว้ที่ไหน ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเมื่อเราเสิชเนื้อเพลงสากลสักเพลง Google จะแสดงกล่องข้อความที่มีเนื้อเพลงทั้งหมดขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องกดเข้าเว็บไซต์ใดๆเพื่อไปดูถูกไหม? นั่นแหละคือสิ่งที่ Google ขโมยมาจาก Genius
ย้อนกลับไปเมื่อธันวาคมปี 2014 Google ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่สามารถให้ผู้ใช้งานหาเนื้อเพลงที่ต้องการได้ภายใต้การเสิร์ชโดยไม่ต้องกดเข้าเว็บไซต์ จุดประสงค์ของฟีเจอร์นี้คือการช่วยให้ผู้ใช้แน่ใจว่าเพลงที่หาใช้เพลงนี้จริงๆ หรือไม่จะได้ไม่ต้องวุ่นวายเสิร์ชหลายๆ ครั้ง
แต่รายงานจาก The Wall Street ระบุว่า Google ได้ขโมยเนื้อเพลงมาจาก Genius Media Group โดย Google ยกเนื้อเพลงที่ทางบริษัทได้รับมาจากทางต้นสังกัด หรือ ศิลปินโดยตรงนำไปแสดงบนกล่องค้นหาของ Google เอง ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ Genius ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้ Google ทราบตั้งแต่ปี 2017 แต่ก็ไม่มีผล ทางบริษัท Genius จึงเริ่มใส่ลายน้ำลงไปในเนื้อเพลง ด้วยการวางสัญลักษณ์พิเศษด้วย Apostrophes สองชนิดซึ่งเมื่อนำมาถอดรหัสมอสแล้วจะได้ความหมายว่า ‘Red Handed’ หรือตามสำนวนไทยแปลว่า ‘คาหนังคาเขา’ และจากการวางลายน้ำเช่นนี้ทำให้บริษัททราบว่าพวกเขาถูก Google ดึงเนื้อเพลงจากเว็บไซต์ไปนับร้อยเพลง
หลังจากมีข้อกล่าวหา Google ออกมาปฏิเสธการคัดลอกเนื้อหาดังกล่าวโดยทางบริษัทอ้างว่าการจัดการหาเนื้อเพลงเป็นหน้าที่ของบริษัทพันธมิตรที่ชื่อว่า LyricFind เมื่อสืบสาวต่อไป CEO ของ LyricFind ก็ยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธข้อหาดังกล่าวอยู่เช่นกัน
คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ กับอีแค่เนื้อเพลงถึงขั้นต้องฟ้องร้องเลยหรือ? แต่คุณรู้ไหมว่าปัจจุบันนี้ 62% จากการเสิร์ชข้อมูลใน Google ผู้ใช้ไม่คลิ๊กเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อในเว็บไซต์เลยหลังจากที่ Google แสดงข้อมูลที่พวกเขาต้องการค้นหาผ่านกล่องข้อมูลของเขา และสุดท้ายผู้ใช้งาน 35% เลือกที่จะจบการค้นหาโดยอ่านจากกล่องข้อมูลของ Google เท่านั้น นั่นหมายความว่าเว็บไซต์ต่างจะมีผู้เข้าชมลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทต้นทางแน่ๆ