สกุลเงินดิจิทัล Libra จาก Facebook คืออะไร? ใช้ซื้อกาแฟและลูกชิ้นทอดได้ไหม?
โดย โสภณ ศุภมั่งมี
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Facebook ได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลชื่อว่า Libra ที่จะถูกนำมาใช้ในปี 2020 ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ Facebook หลักพันล้านคนทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้ทันที
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าจะทำให้ระบบธนาคารที่เราคุ้นเคยกันนั้นสะเทือน แต่หลายๆ คน (รวมถึงรัฐบาลของหลายประเทศ) ยังตั้งข้อสงสัยและต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนถึงผลที่ตามมา เพราะ Fa-cebook เองก็มีข่าวเสียหายเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของบริษัทหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกค้าและการดูแลข้อมูลเหล่านั้น
นอกจากเรื่องของกฎหมาย (ที่ยังต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร) หลายๆ คนตั้งคำถาม “โอเค เมื่อมีสกุลเงินดิจิทัลแล้วเป็นยังไง ใช้ซื้อกาแฟกับลูกชิ้นทอดได้ไหม?” มาลองดูถึงความเป็นไปได้เลยดีกว่า
Libra คืออะไร?
“โลกต้องการสกุลเงินดิจิทัล ที่เชื่อถือได้” ประโยคนี้เป็นคอนเซ็ปต์ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล Libra ที่เพิ่งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการผ่าน White Paper ความยาว 12 หน้า
Facebook บอกว่า Libra คือ “Global Currency and Financial Infrastructure” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดย Facebook และมีเทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง (เทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ใน Bitcoin มีคุณสมบัติที่จะมั่นใจได้ว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถมีอำนาจควบคุมระบบทั้งหมด)
ทำไมถึง Libra?
Libra เป็นภาษาโรมันที่ใช้เพื่อการชั่งน้ำหนัก หรือตราชั่งที่เราเคยเห็นกันตามสัญลักษณ์ประจำราศีตุลย์ ซึ่งก็เรียกว่า Libra เช่นเดียวกัน ตัวย่อของการชั่งน้ำหนักเป็นปอนด์ (lb) ก็มาจาก Libra และสัญลักษณ์ £ ก็เริ่มต้นมาจากตัวอักษร L ใน Libra
ทำไม Facebook ถึงสร้างมันขึ้นมา? แล้วพวกเขาทำได้จริงๆ เหรอ?
ปัญหาในตอนนี้คือผู้คนทั่วโลก 1.7 พันล้านคน แทบจะไม่ได้เข้าถึงธนาคารในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงสมาร์ตโฟนมากกว่าเสียอีก
สิ่งที่พวกเขาจะต้องเผชิญต่อจากนี้คือการกระโดดข้ามผ่านข้อบังคับและกฎหมายต่างๆ ทั้งเรื่องการผูกขาดทางตลาด ที่ตอนนี้เป็นประเด็นที่นักกฎหมายหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นให้แยก Facebook ออกเป็นบริษัทย่อย แต่ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน แถมยังเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ Facebook เองก็มักถูกโจมตีอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นแม้คอนเซ็ปต์ของสกุลเงินนี้จะน่าสนใจแค่ไหน มันยังอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะออกมาใช้งานได้จริงๆ
ใครดูแล Libra?
สกุลเงินนี้จะถูกดูแลโดยองค์กรที่ร่วมกันโดยบริษัทต่างๆ เรียกว่า “Libra Association” โดย Libra จะถูกค้ำโดยเงินสำรอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง (อย่างดอลลาร์หรือยูโร) โดยไม่ได้อิงจากเพียงสกุลเงินเดียว แต่เป็นตะกร้าของสกุลเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อทำให้เกิดมูลค่าในตัวมันเอง (Intrinsic Value) และไม่ประสบปัญหาค่าเงินผันผวนเหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ในตลาด
โดยจากคำกล่าวของ Facebook และ Libra Association นั้นเป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไรตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่สองอย่างก็คือ หนึ่งตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นและสองคือควบคุมดูแลเงินสำรองที่ค้ำประกัน Libra และจัดงบประมาณเพื่อช่วยสังคม
ในองค์กรแห่งนี้ก็จะมีกลุ่มที่ควบคุมดูแลเรียกว่า “Libra Association Council” ที่ประกอบด้วยตัวแทนจะกลุ่มสมาชิกที่จะคอยทำหน้าที่โหวตลงคะแนนเสียง คอยตัดสินใจและแก้ไขปัญหาทีเกิดขึ้น
Facebook บอกว่าแม้พวกเขาเป็นผู้สร้าง Libra Association และ Libra Blockchain เมื่อสกุลเงินนี้ถูกปล่อยในปีหน้า พวกเขาจะถอยออกมาจากตำแหน่งผู้นำและกลายเป็นเพียงเสียงหนึ่งในกลุ่มสมาชิกเท่านั้น โดยมีคะแนนโหวตและตัดสินใจเพียงหนึ่งเสียงเหมือนกับทุกคน
บริษัทที่วางเงินอย่างน้อย 10 ล้านเหรียญ (ประมาณ 320 ล้านบาท) จะถูกวางให้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง Libra Association โดยตอนนี้มีทั้ง PayPal, Ebay, Spotify, Uber และ Lyft เข้าร่วมแล้ว ทางฝั่งการเงินการลงทุนก็มี Andreessen Horowitz, Thrive Capital, Visa และแน่นอน Mastercard
แล้วเราจะไปเอา Libra มาจากไหน?
รายละเอียดในส่วนนี้ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมามากนัก แต่จากการคาดการณ์จากหลายฝ่ายบอกว่าในเมื่อมีทั้ง Visa และ MasterCard เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จึงไม่น่าเป็นเรื่องแปลกที่เราจะใช้เงินเพื่อแลก Libra มาไว้ในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล
ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการแจก Libra ฟรีๆ ให้กับผู้ใช้งานในกลุ่มแรกๆ เพื่อให้ทดลองใช้และให้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือในระบบ ซึ่งเป็นระบบที่รู้จักกันในวงการ Cryptocurrency ว่า “Air Drop” ซึ่งจะช่วยให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารนั้นเข้าถึงสกุลเงินนี้ได้อีกด้วย
สุดท้ายแล้วเราอาจะเห็นการจ่ายเงิน Libra จากบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้ต่อตั้งแต่พนักงานทั่วไป อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นโบนัสเพื่อนำไปใช้จ่าย หรือในระยะยาวจะเป็นเงินเดือนแบบที่รับกันอยู่ในตอนนี้ก็ได้
ใช้อย่างไร? ซื้อกาแฟกับลูกชิ้นทอดได้ไหม?
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับกระเป๋าตังค์ดิจิทัล หรือ Digital Wallet อาจจะเข้าใจตรงนี้ไม่ยาก เมื่อสกุลเงินดิจิทัล Libra ถูกปล่อยสู่โลกกว้าง โดยผู้ใช้งานต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Calibra” ที่เป็นกระเป๋าตังค์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถรับ-ส่งเงินให้ใครก็ได้ที่มีสมาร์ตโฟน สามารถใช้งานได้จาก Facebook Messenger และ WhatsApp ด้วยเช่นกัน
ตอนนี้สำหรับประเทศแรกๆ ที่จะได้ใช้ ประเทศไทย...อาจจะไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น เพราะว่า Facebook บอกว่า “Almost Anybody” ไม่ใช่ “everybody” ในโลกที่มีสมาร์ตโฟนจะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ แต่น่าจะใช้เวลาไม่นานถ้า Libra ได้รับความนิยม เราคงได้เห็นกันในสยามประเทศด้วย (อันนี้คือการมองโลกในแง่ดีว่ารัฐบาลจะไม่ออกกฎหมายอะไรมาห้ามหรือสะกัดดาวรุ่งเสียก่อน)
เมื่อรับและส่งเงินหาใครก็ได้ที่มีสมาร์ตโฟน เราก็สามารถซื้อ-ขายอะไรก็ได้ อยากไปซื้อกาแฟที่ร้านข้างทาง ไม่ได้พกเงินสด กดเปิด Calibra โอนให้เลย อยากได้ลูกชิ้นทอดหลังจากไปวิ่งออกกำลังกาย ไม่มีเศษเหรียญ ลุงคนขายบอกรับ Libra นะส่งมาได้เลย กดเปิดแอปฯ ซื้อลูกชิ้นทอดหนึ่งไม้ทันที หรือหิวชานมไข่มุก ก็สามารถใช้เงิน Libra จ่ายได้เลย
นอกจากนั้นลองคิดถึงสถานการณ์อย่างการเรียกรถ Uber, Lyft หรือ Grab ก็น่าจะมีทางเลือกในการใช้งานได้เช่นเดียวกัน ถ้าประเทศไทยหันมาใช้ค่าเงินสกุลนี้ และมีการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การขึ้น BTS หรือซื้อของใน 7-11 ก็คงทำให้ Libra นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนได้ไม่ยาก แต่อันนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า Libra ในไทยแลนด์จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
ปลอดภัยไหม?
เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่ปลอดภัย คนก็คงไม่ใช้ เพราะ Facebook บอกว่าพวกเขาจะใช้เทคโนโลยีที่ตรวจสอบการฉ้อโกงเหมือนกับที่ธนาคารและบัตรเครดิตใช้กันเลย จะมีการทำให้ระบบนั้นเป็นอัตโนมัติโดยจะมีการเฝ้าติดตามธุรกรรมต่างๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เข้าข่ายน่าสงสัยด้วย
จะมี “Live Support” ที่คอยดูแลลูกค้าหากเกิดมีปัญหาในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่น เช่น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างเงินถูกขโมยหรือหลอกลวง Facebook จะมีการคืนเงินให้ด้วยเช่นกัน
อย่างที่บอกว่าเบื้องหลังของสกุลเงิน Libra นั้นคือ Blockchain ที่เป็น “Open Source” ที่ทำให้กลุ่มของผู้พัฒนามากมายคอยสอดส่องและเฝ้าดูว่าจะมีช่องโหว่ตรงไหนรึเปล่า จะมีการสร้างโปรแกรม “Bug Bounty” ที่ให้รางวัลแก่ผู้ที่ชี้ช่องโหว่ในระบบด้วย
แล้ว Facebook ทำเงินอย่างไร? และข้อมูลจะถูกขายไหม?
แน่นอนว่า Facebook ไม่ได้ทำให้เราใช้กันฟรีๆ ทั้งหมดอยู่แล้ว จะมีการหักเงินเล็กน้อยจากแต่ละธุรกรรม
อีกอย่างที่พวกเขาบอกก็คือว่าจะไม่มีการนำเอาข้อมูลทางการเงินมารวมกับข้อมูลที่ใช้สำหรับโฆษณา จะเป็นฐานข้อมูลที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นข้อมูลของเราจาก Calibra จะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อยิงโฆษณาอย่างแน่นอน