สรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าดีต่อร่างกายหรือเปล่า?

สรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าดีต่อร่างกายหรือเปล่า?

สรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าดีต่อร่างกายหรือเปล่า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย โสภณ ศุภมั่งมี

หลายทศวรรษที่ผ่านมา สื่อที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ การแพทย์ ภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมมือกันรณรงค์ให้การสูบบุหรี่นั้นลดลงเรื่อยๆ โดยออกกฎหมายขึ้นภาษี รวมทั้งให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับโทษของมัน เพราะนิโคตินเป็นสารเสพติดที่ติดง่ายพอๆ กับเฮโรอีนและโคเคน

โดยมีหลายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ต้องการเลิก มีทั้งการบำบัดด้วยการสูดดม เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม แผ่นแปะ ยาพ่นจมูก ไปจนกระทั่งยาที่จ่ายโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการบำบัดดังกล่าวก็ได้ผลแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย

แต่คนที่รับการบำบัดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร่างกายเหมือน “ขาดอะไรไปสักอย่าง” สิ่งที่เคยจับต้องได้อย่างการคีบมวนบุหรี่ระหว่างนิ้ว การพูดคุยกับเพื่อนเวลาล้อมวงรมควัน ซึ่งถือเป็นเรื่องยากในการเลิกสูบบุหรี่สำหรับคนเหล่านี้ 

กระทั่งวันหนึ่ง 'บุหรี่ไฟฟ้า' ได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับสิงห์อมควันทั้งหลาย โดยต่างจากบุหรี่ธรรมดาตรงที่ว่าไม่มีการเผาไหม้ใบยาสูบ แต่ใช้ไฟฟ้าเพื่อทำให้สารนิโคตินระเหยออกมาแทน (มีการแต่งกลิ่นแตกต่างกันออกไป) และแน่นอนว่ามันกลายเป็นสินค้ายอดฮิตโดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทยเองก็ได้รับการตอบรับที่ดี ทว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ 

ส่วนมากแล้วคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะรีบด่วนสรุปกันโดยเร็วว่า มัน 'ดีกว่า' บุหรี่ทั่วไป เพราะผู้สูบไม่ต้องรับคาร์บอนมอนอกไซด์ ส่วนประกอบอันตรายที่ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ไนโตรเจนไดออกไซด์ รวมไปถึงไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่ส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมพัง

แต่บุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าจริงๆ นะเหรอ?

ecig

เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า 'ดีกว่า' หรือ 'แย่กว่า' เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เราเองก็ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ จึงเป็นเรื่องยากที่จะด่วนสรุป แต่ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของผู้ใช้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) มีตัวเลขสถิติที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงในเวลานี้ โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้ทำการแจ้งเตือนบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้ว่าต้องเพิ่มมาตรการป้องกันและกีดกั้นการเข้าถึงของผู้ใช้งานที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ไม่อย่างนั้นอาจจะมีการปรับและลงโทษตามกฎหมายที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่ควรเป็นห่วงน่าจะเป็นผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นเสียมากกว่า

 ว่ากันตามตรง 'ควันบุหรี่' เป็นสิ่งที่ทั้งน่ารังเกียจและน่ากลัว เพราะนอกจากสารนิโคตินแล้ว ยังมีทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง สารพิษกลุ่มอัลดีไฮด์และสารอินทรีย์ขนาดเล็กที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะโครลีน ฟอร์มาลดีไฮด์ และยูรีเทน สารในกลุ่มนี้เป็นตัวการหลักในการก่อโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ สารทาร์ที่รวมตัวกับละอองฝุ่นเกาะบริเวณปอดทำให้เกิดอาการระคายเคืองและไอ เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดและถุงลมโป่งพอง ไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่ก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน เป็นพิษที่ใช้ในการทำสงคราม สารโลหะหนักอย่างสารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม ซึ่งมีความสำคัญในการก่อมะเร็งอีกเช่นกัน... เอาเป็นว่า ควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรสูดดมเข้าไปเด็ดขาด

สำหรับส่วนประกอบของไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าก็ต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ โดยมีส่วนประกอบหลัก อย่างโพรพิลีนไกลคอล และกลีเซอรอล แม้ว่าอาจจะไม่เป็นอันตรายถ้าสูดดมเข้าไป แต่ก็ไม่ถึงกับ 100 เปอร์เซ็นต์เสียทีเดียว เพราะรายงานการวิจัยหลายแห่งระบุว่า คนไข้ที่มีอาการแพ้หมอกเทียม (ที่ใช้ในคอนเสิร์ต โรงละคร ฯลฯ) ซึ่งมีส่วนผสมของโพรพิลีนไกลคอล ผู้ที่สูดดมเข้าไปจะมีอาการหายใจลำบากติดขัด สารไนโตรซามีน (สารเคมีที่เป็นต้นเหตุของมะเร็ง) ก็ถูกค้นพบเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นระดับที่ไม่ได้มากมายอะไรนักก็ตาม รวมถึงฝุ่นละอองโลหะจากการเผาไหม้ของอุปกรณ์ เช่น นิกเกิลและแคดเมียม ก็น่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน

ในการศึกษาบางชิ้นบ่งบอกว่าไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถประกอบไปด้วยสารเคมีที่อันตราย อย่างฟอร์มาลดีไฮด์ อะซีทาลดีไฮด์ และอะโครลีน โดยทั้งหมดนี้มาจากการเผาไหม้

ลอร่า ครอตตี้ อเล็กซานเดอร์ และเพื่อนนักวิจัยของเธอจากมหาวิทยาลัย University of California San Diego ได้ทำการศึกษาวิจัยกับหนูทดลอง พบว่าไอระเหยมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย โดยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบภายในปอดได้ ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียทำงานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ไตทำงานหนัก เกิดการสร้างหรือเกิดเนื้อเยื่อมากผิดปกติในหัวใจ

สารอีกตัวที่ต้องพูดถึง คือ นิโคติน โทษของมันเราต่างก็รู้ดีกันอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้น กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงจริงๆ คือ เยาวชน เพราะตัวอย่างการทดลองกับสัตว์พบว่าสมองที่ยังไม่เติบโตเต็มที่จะได้รับผลข้างเคียงที่อันตราย และมีโอกาสติดสารเสพติดชนิดอื่นได้ง่ายกว่าในอนาคต ดังนั้น เยาวชนที่เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า ก็มีสิทธิ์ที่จะสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน 

untitled-6

การสูบบุหรี่ในวัยรุ่นนั้นมีส่วนทำให้เกิดปัญหาในเรื่องระบบการรับรู้และพฤติกรรม ทั้งเรื่องความทรงจำและสมาธิ การทดลองในสัตว์ที่ได้รับสารนิโคตินเพียงอย่างเดียวมีผลข้างเคียงดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้ย้อนกลับไปที่ประเด็นของ FDA ในการพยายามควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายสำหรับคนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์

สุดท้ายแล้วบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือช่วยให้คนในสังคมสุขภาพดีขึ้นได้ไหม?...  ก็คงด่วนสรุปที่จะฟันธง เอาเป็นว่าก็ต้องรอดูกันต่อไป...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook