ผู้บริโภคชาวไทยพร้อมชำระเงินผ่านอุปกรณ์สวมใส่และไบโอแมทริกซ์เป็นอันดับสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วีซ่า ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลชั้นนำระดับโลก เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Survey) ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยมีการรับรู้และความพร้อมที่จะใช้อุปกรณ์สวมใส่และไบโอแมทริกซ์ในการชำระเงินสงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท
โดยผลสำรวจฉบับนี้ศึกษาถึงทัศนคติ และพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์การใช้จ่ายสำคัญของผู้บริโภคจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน จากแปดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 500 คนจากประเทศไทย
ผลสำรวจฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริโภคชาวไทยรับรู้หรือใช้อุปกรณ์สวมใส่ชนิดต่างๆในการชำระเงินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดในภูมิภาคนี้
โดยสิงคโปร์และอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่สอง (60 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วยมาเลเซียและเวียดนาม (52 เปอร์เซ็นต์) ฟิลิปปินส์ (44 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับสูงสุด (66 เปอร์เซ็นต์) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับระดับการรับรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์เพื่อชำระเงินและระบุตัวตน ตามด้วยเวียดนาม (66 เปอร์เซ็นต์) และสิงคโปร์ (55 เปอร์เซ็นต์)
คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เรายินดีที่เห็นผู้บริโภคชาวไทยรับรู้ถึงประโยชน์ของนวัตกรรม และการนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในระบบการชำระเงินเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น ผลสำรวจนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน และพัฒนารูปแบบการชำระเงินของผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศไทย”
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าผู้ทำแบบสอบถามชาวไทยรู้สึกสะดวกใจ (Comfort Level) ในการใช้อุปกรณ์สวมใส่ในการชำระเงินเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทวอทช์ในการชำระเงิน (84 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 71 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในภูมิภาค) สายรัดข้อมือ/สร้อยข้อมือ (71 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในภูมิภาค) และแหวน (66 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในภูมิภาค)
เมื่อสอบถามถึงอุปกรณ์สวมใส่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเลือกให้ สมาร์ทวอทช์ เป็นอุปกรณ์ที่พวกเขาสนใจมากที่สุด (55 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วย สายรัดข้อมือ/สร้อยข้อมือ (22 เปอร์เซ็นต์) ไมโครชิพ (11 เปอร์เซ็นต์) แหวน (8 เปอร์เซ็นต์) และแว่นตา (4 เปอร์เซ็นต์)
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์ ได้เริ่มกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคนิยมใช้ในการระบุตัวตนเพื่อการชำระเงินแทนการใส่พาสเวิร์ดแบบเดิม ๆ โดย สองในสาม (66 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยรับรู้ถึงการชำระเงินด้วยไบโอแมทริกซ์ ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อสอบถามถึงระดับความสบายใจในการเลือกใช้ไบโอแมทริกซ์ในการชำระเงินและระบุตัวตน ผู้บริโภคชาวไทยได้เผยให้เห็นถึงสามวิธีหลักที่พวกเขาสบายใจมากที่สุด ได้แก่ การสแกนลายนิ้วมือ (87 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในภูมิภาค) การสแกนม่านตา (88 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 61 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในภูมิภาค) และการจดจำใบหน้า (80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในภูมิภาค)
ผลสำรวจยังเผยให้เห็นอีกว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมีความสนใจใช้การสแกนลายนิ้วมือเป็นทางเลือกแรกสำหรับการใช้ไบโอแมทริกซ์ในการชำระเงินและระบุตัวตน (56 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วยการสแกนม่านตา (26 เปอร์เซ็นต์) การจดจำใบหน้า (12 เปอร์เซ็นต์) และการจดจำเสียง (6 เปอร์เซ็นต์)
“ในประเทศไทย เราเป็นผู้นำในการนำเสนอโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการชำระเงิน เช่น คิวอาร์โค้ด (QR Code) เทคโนโลยีการชำระเงินแบบคอนแทคเลส (Contactless) และโซลูชั่นการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยยังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าและพันธมิตรในการเพิ่มช่องทางการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลอีกด้วย ในขณะที่เราภูมิใจในความก้าวหน้าต่างๆ เราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั่วโลก และนำนวัตกรรมการชำระเงินของเราเพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต” คุณสุริพงษ์ กล่าวสรุป
การสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่า จัดทำโดย Intuit Research ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ในแปดประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานจากประเทศไทยจำนวน 500 คน ที่มีอายุระหว่าง 18 – 65 ปี ครอบคลุมในทุกระดับการศึกษาและมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15,000 บาท เป็นต้นไป
ข่าวประชาสัมพันธ์