Facebook เปิดตัวโครงการ “We Think Digital” ในประเทศไทย เสริมทักษะเท่าทันโลกออนไลน์
Facebook Thailand ประกาศเปิดตัวโครงการ We Think Digital Thailand อย่างเป็นทางการ โครงการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คนไทยได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างชุมชนดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีความสร้างสรรค์ในเชิงบวก
โครงการ We Think Digital Thailand เกิดจากการนำโครงการ ‘We Think Digital’ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับโลกที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ของ Facebook มาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย พร้อมนำเสนอทรัพยากรต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการคิดเชิงวิเคราะห์และแชร์ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างรอบคอบ
โดย Facebook ตั้งเป้าในการฝึกอบรมผู้คนจำนวน 2 ล้านคน จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคภายในปี พ.ศ.2563 และนำเสนอทรัพยากรการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการจะเรียนรู้เพิ่มเติมหรือพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลของตนเอง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมือใหม่หรือเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (digital native)
ทั้งนี้ Facebook ได้พัฒนาโครงการในประเทศไทยผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาของโครงการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่หลากหลาย เช่น การสื่อสารมวลชน สุขภาวะของเด็ก และการศึกษา เป็นต้น
โครงการ We Think Digital Thailand ของ Facebook นำเสนอหลักสูตรและทรัพยากรด้านการเรียนรู้เป็นภาษาไทย ครอบคลุมหัวข้อหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของผู้ใช้ ความปลอดภัยของข้อมูลออนไลน์ การสนทนาบนโลกดิจิทัล โดยเนื้อหาทั้งหมดแบ่งเป็น7 หลักสูตร เช่น
อินเทอร์เน็ตคืออะไร ลายนิ้วมือดิจิทัลของคุณ การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ คุณในฐานะพลเมืองดิจิทัล ฯลฯ โครงการ We Think Digital Thailand ยังออกแบบขึ้นเพื่อให้มีความเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างและพัฒนาขึ้นจากคำปรึกษาของพันธมิตรองค์กรและชุมชนต่างๆ เช่น สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และองค์กรต่างๆ จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้แน่ใจว่าคนไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลปัจจุบัน
นอกจากนี้ พันธมิตรของ Facebook อย่างมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ยังจะดำเนินโครงการผ่านการฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวสำหรับกลุ่มต่างๆ เช่น สภาเยาวชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากความร่วมมือในครั้งนี้ Facebook มุ่งมั่นที่จะฝึกอบรมทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีแก่ผู้นำเยาวชนจากทั้ง 5 ภูมิภาคในประเทศ
ภายในหกเดือนแรกของปี พ.ศ.2563 ทั้งนี้ Facebook ยังได้ร่วมมือกับ Love Frankie เอเจนซี่ด้านการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในการจัดโครงการ We Think Digital Champions Academy เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่ออบรมองค์กรและชุมชนต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการในการจัดทำแคมเปญออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี
Facebook จะช่วยสนับสนุนผู้นำท้องถิ่นในการจัดทำแคมเปญเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีในชุมชนของพวกเขาผ่านโครงการดังกล่าว การจัดกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับทั้งผู้นำเยาวชนและผู้นำชุมชน ทำให้โครงการ We Think Digital Thailand เป็นโครงการที่บุกเบิกวิธีการใหม่ๆ และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ
ไซมอน มิลเนอร์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook อธิบายถึงวิสัยทัศน์ของโครงการ We Think Digital ที่งานเปิดตัวเอาไว้ว่า “ในปัจจุบัน โลกของเราเป็นโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น และผู้คนมีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
การช่วยเหลือคนไทยในการพัฒนาทักษะการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงมีความสำคัญต่อการสร้างชุมชนดิจิทัลที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในเชิงบวก โครงการ We Think Digital Thailand ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความเชื่อหลักนี้ และเราภูมิใจที่ได้นำโครงการนี้มาสู่ประเทศไทยในวันนี้”
จากการศึกษาโดย YouGov เมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Facebook ประเทศไทย[1] ร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าพาสเวิร์ดสำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเองนั้นปลอดภัยเป็นอย่างมากและค่อนข้างมาก โดยร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้แชร์พาสเวิร์ดของพวกเขากับผู้อื่น
ในขณะที่ร้อยละ 67 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาใช้พาสเวิร์ดที่ประกอบด้วยตัวหนังสือและตัวเลข ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 58 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้จักการยืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอน (2-factor authentication หรือ 2FA)
ในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคนสามารถระบุสถานการณ์อย่างน้อยหนึ่งสถานการณ์ที่สามารถทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (phishing) และมีเพียงร้อยละ 40 ที่สามารถระบุลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวของกับการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งได้อย่างถูกต้อง
ข่าวประชาสัมพันธ์