ระบบพยากรณ์อากาศ "แม่นยำสูง" กำลังขยายไปทั่วโลก

ระบบพยากรณ์อากาศ "แม่นยำสูง" กำลังขยายไปทั่วโลก

ระบบพยากรณ์อากาศ "แม่นยำสูง" กำลังขยายไปทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยไหมที่พยากรณ์อากาศบอกพรุ่งนี้จะหนาว ปรากฏเอาเข้าจริงร้อนมาก? หรือบอกจะแดดจ้า เรากลับเจอพายุฝน? นี่นับเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ หลาย ๆ อุตสาหกรรม ข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำมีความจำเป็นอย่างมาก

istock-1130476096

แต่อีกไม่นานระบบการพยากรณ์อากาศแบบที่เรียกว่า high-resolution กำลังจะครอบคลุมทั่วโลก

บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง IBM กำลังจะทำให้การพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูงเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศทั่วโลกที่มีความแปรปรวน จากเดิมที่การวิเคราะห์สภาพอากาศแบบความละเอียดสูงนี้ใช้ในประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น เช่น ประเทศสหรัฐฯ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป เป็นต้น

เชื่อว่าระบบนี้จะช่วยให้ผู้คนรับมือกับสภาพอากาศฉุกเฉิน อย่างเช่น พายุที่มีความรุนแรง ได้ดียิ่งขึ้น นักบินจะสามารถเลือกเส้นทางบินได้เหมาะสม เกษตรกรจะวางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ถูกต้อง รวมถึงช่วยให้ผู้คนที่สัญจรไปมาในแต่ละวันดูแลตัวเองได้ดีขึ้น

ระบบพยากรณ์อากาศทั่วไปจะมีความละเอียดที่ 10-15 ตารางกิโลเมตร และจะปรับข้อมูลให้ทันสถานการณ์ทุก ๆ 6-12 ชั่วโมง แต่ระบบ Global High-Resolution Atmospheric Forecasting System หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GRAF จากบริษัท IBM จะใช้ความละเอียดที่ 3 ตารางกิโลเมตรและปรับข้อมูลทุก ๆ 1 ชั่วโมง โดยระบบ GRAF จะทำงานด้วย Supercomputer ที่มีสมรรถนะสูง

เควิน เพตตี้ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์และพยากรณ์อากาศของบริษัท The Weather Company ที่มีบริษัท IBM เป็นเจ้าของระบุว่า ระบบนี้จะให้รายละเอียดของสภาพอากาศแบบที่เราไม่เคยได้เห็นในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้

เพตตี้บอกว่า “ระบบจะให้รายละเอียดที่ตรงกับเป้าหมายมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้น

เขายังบอกกับวีโอเอเพิ่มเติมว่า “เรามาถึงจุดที่คอมพิวเตอร์มีศักยภาพมากพอที่จะประมวลผลระดับรายละเอียดสูง ทำให้เราสามารถขยายพื้นที่ไปทั่วโลก และให้ข้อมูลนี้กับคนที่จำเป็นเพื่อนำไปใช้งาน”

ทางด้าน เฟรด คาร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านอุตุนิยมวิทยาจาก มหาวิทยาลัย University of Oklahoma ได้อธิบายว่า ระบบการพยากรณ์อากาศแบบความละเอียดสูงหรือ high-resolution นี้มีใช้ในประเทศสหรัฐฯ เป็นระบบที่ใช้เวลาการประมวลผลจากคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก และการขยายระบบนี้ไปใช้งานทั่วโลก ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ

ศาสตราจารย์คาร์ยังพูดถึงจุดสำคัญของระบบว่า ความแม่นยำของการพยากรณ์นั้นสัมพันธ์กับการเก็บข้อมูล โดยเขาบอกว่า ในสหรัฐฯ การเก็บข้อมูลสภาพอากาศจากเรดาร์ จากสายการบิน และจากภาคพื้น สามารถทำได้ไม่ยาก แต่ตัวเขาเองไม่ทราบว่าทางบริษัท IBM ใช้วิธีในการเก็บข้อมูลอย่างไรในพื้นที่กว่า 98% ของโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่เคยใช้ระบบนี้มาก่อน เขาเชื่อว่าในเบื้องต้นข้อมูลอาจจะขาดความแม่นยำ เพราะการเก็บข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์

ในอนาคตบริษัท IBM วางแผนพัฒนาความแม่นยำ โดยจะเก็บข้อมูลจาก “เซนเซอร์วัดความดันบรรยากาศ” ที่ติดตั้งในสมาร์ทโฟนทั่วไป และจะให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกว่าจะป้อนข้อมูลนี้ให้ระบบหรือไม่

แม้ปัจจุบันบริษัทระบุว่ายังไม่ได้ใช้ข้อมูลประเภทนี้ แต่ก็สร้างความกังวลในประเด็นสิทธิความเป็นส่วนตัว

อย่างล่าสุด หน่วยงานจากมหานครลอสแอนเจลิสได้ฟ้องบริษัท IBM จากการกรณีใช้ข้อมูลระบุพื้นที่ของผู้ใช้งาน แอปพลิเคชั่น “Weather Channel” อย่างไม่เหมาะสม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook