รีวิวเครื่องฟอกอากาศทรงลูกบาศก์ Samsung Cube AX9500 ใช้งานได้ดีจริงไหม เราฟันธง!

รีวิวเครื่องฟอกอากาศทรงลูกบาศก์ Samsung Cube AX9500 ใช้งานได้ดีจริงไหม เราฟันธง!

รีวิวเครื่องฟอกอากาศทรงลูกบาศก์ Samsung Cube AX9500 ใช้งานได้ดีจริงไหม เราฟันธง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาเครื่องฟอกอากาศกลายเป็นสินค้ากลุ่มใหม่ที่ยอดขายเติบโตทะลุเพดานนะครับ เพราะกระแสความตกใจในสภาพอากาศของประเทศไทยที่เกิดความตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นหมอกในเมืองนั้นกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 วายร้ายที่ทำลายสุขภาพ ทำให้เครื่องฟอกอากาศถึงกับขาดตลาดทั้งประเทศไปพักหนึ่งเลย

จากกระแสความตื่นตัวนี้ทำให้ซัมซุงส่งทัพเครื่องฟอกอากาศชุดใหม่เข้าสู่ตลาดไทย ซึ่งมีให้เลือกหลายรุ่น หลายขนาดให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง และตัวท็อปในตอนนี้คือ Samsung Cube AX9500 ที่เหมาะสำหรับห้องไม่เกิน 47 ตร.ม. ที่เราจะรีวิวในครั้งนี้ครับ

ดีไซน์ของ Samsung Cube AX9500

อุปกรณ์ภายในกล่อง Samsung Cube AX9500

การออกแบบของ Samsung Cube AX9500 นั้นก็ตามชื่อของมันครับ ดีไซน์แตกต่างจากเครื่องฟอกอากาศรุ่นอื่นๆ ตรงที่ทำออกมาเป็นทรงลูกบาศก์ ขนาด 367 x 436 x 380 mm ซึ่งสีที่มีจำหน่ายในไทยคือสีเทา Metal Silver ก็ไม่ค่อยมีเครื่องฟอกอากาศรุ่นไหนที่ออกแบบอย่างนี้นะครับ ซึ่งข้อดีของดีไซน์นี้คือมันให้พื้นที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะพอเราวางเครื่องฟอกอากาศไปกับพื้นแล้ว เราก็ยังสามารถวางของเล็กๆ เบาๆ ไว้บนเครื่องฟอกอากาศได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นเครื่องฟอกอากาศส่วนใหญ่ ที่มีพัดลมอยู่ด้านบน เราก็จะเสียพื้นที่ในห้องที่วางเครื่องไปเลยโดยที่ใช้อะไรไม่ได้อีก

และอีกสาเหตุที่ซัมซุงดีไซน์เครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ให้เป็นทรงลูกบาศก์ เพราะเราสามารถเอาเครื่องรุ่นนี้ 2 ตัวมาวางซ้อนกันเป็นทรงสูงเพื่อให้ได้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยกินพื้นที่เท่าเดิม แถมสายไฟก็ต่อเข้าที่เครื่องเดียว เพราะอีกเครื่องจะดึงไฟจากเครื่องหลักไปใช้ ทำให้เรื่องสายก็ไม่รกครับ

จุดเด่นสะดุดตาอีกอย่างของ Samsung Cube AX9500 คือที่แผงระบายลมที่เป็นรูเล็กๆ ด้านหน้านั้นจะมีการแสดงไฟสีและตัวเลขเพื่อแสดงคุณภาพอากาศภายในห้องครับ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าตอนนี้อากาศในห้องเราแย่แค่ไหน ถ้าขึ้นเป็นไฟสีแดงๆ ก็คืออากาศแย่มาก ต้องฟอกด่วน ถ้าเป็นสีเหลืองคืออากาศแย่, สีเขียวคือดี และสีน้ำเงินคืออากาศดีมากครับ และตัวเลขที่แสดงหน้าเครื่องนั้นก็จะโชว์ความหนาแน่นของฝุ่นที่อยู่ในอากาศโดยหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรครับ โดยจะแสดงหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ระหว่าง PM1.0, PM2.5, PM10 และระดับของก๊าซภายในห้องครับ ซึ่งตัวเลขนี้ก็จะวัดมาจากอุปกรณ์ตรวจคุณภาพอากาศที่ติดตั้งอยู่ข้างเครื่อง

การแสดงสภาพอากาศภายในห้องของ Samsung Cube AX9500 และปุ่มสัมผัสด้านบนเครื่อง

แต่เท่าที่เราใช้เครื่องนี้มาพักหนึ่ง รู้สึกได้ว่าเซนเซอร์ตรวจคุณภาพอากาศรุ่นนี้นั้นค่อนข้างไวกว่าเซนเซอร์อื่นๆ คือเราสังเกตว่า Samsung Cube AX9500 วัดฝุ่นในอากาศได้สูงกว่าราว 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับเครื่องฟอกอากาศอีกเครื่องและอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศอีกตัวเสมอ (ซึ่งอุปกรณ์ 2 ตัวหลังนี้จะวัดคุณภาพอากาศออกมาในระดับใกล้กัน) ก็เอาเป็นว่าถ้าใช้เครื่อง Cube นี้ฟอกอากาศในห้องแล้ว ขึ้นไฟสีแดงๆ ตลอด ก็อย่าพึ่งตกใจครับ ลองหาอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นในอากาศอื่นๆ มาตรวจเทียบอีกที มันอาจจะไม่น่าตื่นเต้นขนาดนั้นก็ได้

ปุ่มควบคุมของ Samsung Cube AX9500 นั้นเป็นแบบสัมผัสอยู่ขอบด้านหน้าเครื่องครับ ก็ดีไซน์ให้กดง่ายสำหรับเครื่องที่ต้องวางอยู่กับพื้น ก็มีปุ่มควบคุมครบถ้วนทั้งเปิด-ปิดเครื่อง, เลือกระดับความเร็วพัดลม, เลือกโหมด Sleep, ล็อกเครื่องเพื่อป้องกันเด็กมาเล่น รวมถึงไฟแสดงการเชื่อมต่อ Wifi และไฟเตือนให้เปลี่ยนฟิลเตอร์ก็จะแสดงอยู่ตรงนี้ด้วย ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากครับ เพียงแต่ว่าถ้าในงานในเวลากลางคืนอาจจะกดยากนิดหนึ่งเพราะแต่ละปุ่มไม่มีไฟให้รู้เลยว่าคืออะไรบ้าง ก็ต้องคอยจำตำแหน่งเอานะครับ

เมื่อเทียบค่า PM2.5 ที่วัดได้จากตัว Samsung Cube กับเครื่องวัดภายนอก จะแตกต่างกันพอสมควร

ส่วนระบบพลังงานของ Samsung Cube AX9500 นั้นจะเป็นหม้อแปลงไฟตัวเล็กๆ เพื่อเสียบกับไฟบ้าน ส่วนหัวเชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าสู่ตัวเครื่องนั้นดีไซน์เป็นแผ่นแบนๆ ให้เสียบเข้าที่ฐานเครื่อง ซึ่งดีไซน์แบบนี้ก็ทำให้การต่อไฟนั้นแน่นหนาดี ขั้วต่อไม่หลุดง่ายๆ ตามข้อมูลบอกว่าเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้กินไฟสูงสุด 35 Watt ครับ

การทำงานของ Samsung Cube AX9500

การฟอกอากาศของ Samsung Cube AX9500 นั้นจะดูดอากาศจากด้านหลังเครื่องมาปล่อยออกด้านหน้าครับ ไม่ได้ดูดอากาศจากรอบทิศทาง 360 องศามาปล่อยออกเหมือนเครื่องหลายๆ รุ่น โดยสเปกระบุว่าเหมาะสำหรับห้องขนาดไม่เกิน 47 ตร.ม. หรือประมาณคอนโด 1 ห้องนอนแบบห้องใหญ่ๆ หน่อยครับ โดยมี CADR หรืออัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ 732 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ซึ่งระบบฟิลเตอร์ของเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้จะมี 3 ชั้นคือ

ฟิลเตอร์ถ่านกัมมันต์ของ Samsung Cube AX9500

Pre-filter ฟิลเตอร์แบบหยาบที่สามารถถอดออกมาล้างน้ำได้ สำหรับกรองฝุ่นชิ้นใหญ่ๆ ฟิลเตอร์ถ่านกัมมันต์ เพื่อกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ และก๊าซต่างๆ ฟิลเตอร์ HEPA อย่างหนาที่สามารถดักฝุ่นระดับ 0.3 ไมครอน (PM0.3) ได้ 99.97% ซึ่งถือว่ากรองได้ละเอียดดีมาก ที่น่าสังเกตคือเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ไม่มีระบบฆ่าเชื้อโรคแบบ ion ที่เครื่องฟอกอากาศหลายรุ่นมีกันนะครับ (จริงๆ ซัมซุงก็มีเทคโนโลยีการสร้าง ion อยู่ แต่ไม่ได้ใส่มาในเครื่องนี้)

ฟิลเตอร์ Samsung Cube AX9500 ซ้อนกัน 3 ชั้นแบบนี้ ตัวที่หนาสุดคือ HEPA Filter

ก็เหมือนเครื่องฟอกอากาศทั่วไปนะครับที่ HEPA Filter กับชุดถ่านกรองกลิ่นนั้นไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยตัวเองได้ เมื่อถึงกำหนดแล้วเครื่องจะเตือนให้เปลี่ยนฟิลเตอร์ ซึ่งดูราคาในเว็บซัมซุงแล้ว เข้าใจว่าฟิลเตอร์ 2 ตัวนี้ขายมาคู่กัน ราคา 2,990 บาทครับ ก็ใช้งานได้ประมาณ 1 ปี ถ้าเปิดเครื่องฟอกอากาศตลอดเวลา ก็ถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผลอยู่สำหรับฟิลเตอร์ที่หนาขนาดนี้

ถ้าเราตั้งความเร็วพัดลมเครื่องเป็นอัตโนมัติ การทำงานของเครื่องจะสัมพันธ์กับคุณภาพอากาศภายในห้องที่เครื่องตรวจได้ครับ คือถ้าสภาพอากาศขึ้นเป็นสีแดง เครื่องก็จะทำงานหนักที่สุด พัดลมหมุนเร็วสุด และเสียงดังสุด เพื่อฟอกอากาศในห้องให้ไวที่สุด แต่ถ้าคุณภาพอากาศมาเป็นสีน้ำเงินแล้ว เครื่องจะทำงานในโหมด Wind-Free ที่ให้สายลมอ่อนๆ ออกจากตัวเครื่อง ซึ่งโหมดนี้แทบไม่มีเสียงรบกวนเลย ส่วนถ้าต้องการใช้เครื่องเวลานอนหลับ ก็สามารถกดเข้าโหมด Sleep ได้ เครื่องก็จะทำงานในโหมด Wind-Free เพื่อให้เสียงเงียบที่สุด พร้อมปิดแสงไฟจากเครื่องให้มากที่สุด จะได้ไม่รบกวนเวลานอนครับ

การทำงานปกติของ Samsung Cube AX9500 ที่แผงด้านหน้าจะยื่นออกมา

ในโหมด Wind-Free และเวลาปิดเครื่อง แผงด้านหน้าของ Samsung Cube AX9500 จะเก็บเข้าไป

ที่น่าสนใจคือแผงระบายลมด้านหน้าของเครื่องนั้นสามารถยืดหดได้ด้วยนะครับ คือถ้าทำงานในโหมด Wind-Free แผงนี้จะหุบเข้าไปในเครื่อง ส่วนถ้าพัดลมทำงานเร็วขึ้น แผงนี้จะยื่นออกมาเพื่อให้มีช่องสำหรับเป่าลมออกมามากขึ้น ก็เป็นการออกแบบที่น่าสนใจ และดูล้ำมากเมื่อแผงนี้ยืดเข้ายืดออก เมื่อเครื่องฟอกอากาศทำงานในโหมดความเร็วสูงสุดก็สามารถจัดการกับฝุ่นในห้องได้รวดเร็วครับ

การใช้งาน Samsung Cube AX9500 แบบต่อกัน 2 เครื่อง

ส่วนการทำงานแบบเอา Samsung Cube 2 เครื่องมาต่อกันเป็นทาวเวอร์นั้นก็ใช้ง่ายมาก แค่หมุนแป้นกลมๆ บนเจ้า Cube เครื่องล่างให้กลายเป็นขั้วต่อ แล้ววาง Cube เครื่องบนให้พอดีกับขั้วต่อนี้ เราก็จะควบคุม 2 เครื่องนี้พร้อมกันเหมือนเป็นเครื่องเดียว สายไฟก็ต่อเข้าที่เครื่องล่างเครื่องเดียว แถมยังสามารถหมุนเครื่องบนไปในองศาอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งเราลองใช้งานแล้วพบว่ามันฟอกอากาศได้เร็วกว่าการใช้งานเครื่องเดียวมากๆ ก็ทำให้ฟอกอากาศในห้องที่ใหญ่ขึ้นได้ดีขึ้นด้วย แต่การทำงานรูปแบบนี้เราต่อได้แค่ 2 เครื่องซ้อนกันนะครับ เอาไปซ้อนเป็น 3 เครื่องนี้ทำไม่ได้นะ

Samsung Cube AX9500 สั่งงานไร้สายได้ผ่านแอป SmartThings

การทำงานของ Samsung Cube AX9500 กับแอป SmartThings

หนึ่งในจุดเด่นของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากซัมซุงคือมันรองรับการสั่งงานแบบอุปกรณ์ IoT ผ่านแอป SmartThings ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้ง iOS และ Android ด้วยความที่ซัมซุงนั้นทำทั้งมือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ทำให้มีความชำนาญทั้ง 2 ด้านนี้ แอป SmartThings เลยออกมาดี ใช้ง่าย รวดเร็ว เมื่อเทียบกับแอปแบบนี้จากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งการเชื่อมต่อเครื่องฟอกอากาศเข้ากับแอป SmartThings นั้นก็ทำได้ไม่ยาก แค่เสียบปลั้กเครื่อง แล้วเปิดแอป SmartThings ในมือถือ ลงทะเบียนผู้ใช้ให้เรียบร้อย แล้วเพิ่มอุปกรณ์โดยไปนั่งอยู่ใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ ทำตามขั้นตอนที่จอบอกไปเรื่อยๆ ก็ใช้งานได้แล้ว

จากแอป SmartThings เราสามารถควบคุมการเปิด-ปิดเครื่อง, ตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่องอัตโนมัติในวันต่างๆ, ดูคุณภาพอากาศภายในห้อง, ปรับความเร็วพัดลม, ดูคุณภาพของฟิลเตอร์ ซึ่งเราสามารถสั่งงานพวกนี้จากที่ไหนก็ได้ในโลก ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเป็นระบบ Automation เพื่อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่นเมื่อผู้ใช้เดินเข้าบ้าน ให้เครื่องเปิดเอง หรือถ้าเราใช้อุปกรณ์ที่รองรับแอป SmartThings หลายตัวก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขได้ เช่นถ้าประตูบานนี้เปิด ให้เครื่องฟอกอากาศทำงาน พร้อมๆ กับทีวีที่เปิดอัตโนมัติ ก็สามารถกำหนดเป็นรูปแบบการสั่งงานที่ซับซ้อนมากขึ้นได้เช่นกัน และแน่นอนว่ามันสามารถสั่งงานผ่าน Bixby ของซัมซุงได้ด้วย

ด้านหลังของ Samsung Cube AX9500 เมื่อเอาฟิลเตอร์ออกทั้งหมด

ส่วนความสามารถที่ขาดไป เราคิดว่าน่าจะดูคุณภาพอากาศในห้องย้อนหลังเป็นกราฟได้ผ่านแอปนะครับ ตอนนี้ดูได้แค่คุณภาพอากาศในปัจจุบันเท่านั้นเอง

สรุป Samsung Cube AX9500 คุ้มค่าหรือไม่

ด้านข้างของ Samsung Cube AX9500 จะมีเซนเซอร์ตรวจฝุ่นและก๊าซอยู่

ค่าตัวของ Samsung Cube AX9500 นั้นเปิดตัวมาที่ 28,900 บาท แต่ปัจจุบันก็สามารถหาได้ในราคาราว 24,990 บาทหรือถูกกว่านั้น ก็ถือว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศในกลุ่มพรีเมี่ยมเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อนับประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อแบบ IoT รวมถึงดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร ก็ถือว่าโอเคกับราคาอยู่นะครับ แล้วเมื่อเทียบกับเครื่องที่ราคาใกล้เคียงกัน ความสามารถก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก แล้วแต่ว่าผู้ซื้อแต่ละคนจะมองเครื่องฟอกอากาศในแง่มุมไหนบ้าง เช่นถ้าเทียบในแง่ขนาดห้องที่เหมาะสม เจ้า AX9500 อาจจะให้ตัวเลขได้น้อย เพราะเหมาะสำหรับห้องกว้างไม่เกิน 47 ตร.ม. แต่ด้วยค่า CADR ที่สูงถึง 732 ลบ.ม.ต่อชั่วโมงก็ทำให้จัดการกับอากาศในห้องได้รวดเร็วครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook