สรุปผลการประมูลคลื่นความถี่ 700MHz, 2,600 MHz และ 26GHz ในประเทศไทย อย่างเป็นทางการ
ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 3 ย่านเพื่อทำ 5G ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประมูลที่เรียกได้ว่าดุเด็ดเผ็ดมันพอสมควร โดยผู้เข้ารวมประมูลทั้งหมด 5 รายประกอบไปด้วย
- บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (Truemove H)
- บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT)
- บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (dtac)
- บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom)
- บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN หรือ AIS)
และคลื่นความถี่ที่เปิดประมูลประกอบไปด้วย
- คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วม 3 รายได้แก่ AIS, Truemove H และ CAT Telecom
- คลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วม 3 รายได้แก่ AIS, Truemove H และ CAT Telecom
- คลื่นความถี่ 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วม 4 รายได้แก่ AIS, dtac, Truemove H และ TOT
โดย กสทช คาดการณ์ว่าจะได้เงินจากการประมูลกว่า 70,000 ล้านบาท แต่เมื่อสิ้นสุดการประมูลผลที่ได้คือ 100,521 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นดังนี้
คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่ไว้สำหรับในการทำ 5G ทำให้เกิดการสงสัญญาณได้ไกล จากผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ AIS, Truemove H และ CAT Telecom แต่ผลสุดท้าย AIS ได้รับใบอนุญาต 1 ใบ และ CAT Telecom ได้รับใบอนุญาต 2 ใบ มูลค่า 51,460 ล้านบาท
คลื่นความถี่ 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่หลักที่หลายประเทศนำมาใช้ทำ 5G เช่นเดียวกัน ผลคือ AIS ได้ใบอนุญาต ไป 10 ใบ และ Truemove H ได้ 9 ใบด้วยกัน รวมทั้งหมด 19 ใบอนุญาต มูลค่ารวมกว่า 37,434 ล้านบาท
และคลื่นความถี่ 26GHz หรือคลื่นแบบ mmWave นั้นทั้งหมดที่ได้เสนอไปก็คว้ากันไปโดยดีแทคเองประกาศออกมาว่าได้ที่ช่วงความถี่กว่า 200MHz หรือ 2 ใบอนุญาต ส่วน AIS ได้มากสุดที่ 12 ใบอนุญาต รวมคลื่นกว่า 1,200 MHz ถือว่าประมูลได้เยอะที่สุดถ้ารวมกันไปแล้ว และที่เหลือเป็นของ TOT ได้ไปทั้งหมด 4 ใบ และ Truemove H ไปทั้งหมด 8 ใบด้วยกัน ทั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 11,628 ล้านบาท ซึ่งผิดคาดจาก กสทช ที่จะมีการประมูลใบอนุญาตทั้งหมด 27 ใบอนุญาต แต่มีการประมูลกว่า 26 ใบอนุญาตเท่านั้น
ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมคลื่นความถี่ 26GHz นั้นถึงมีผู้ร่วมประมูลสนใจอยากจะได้ครอบครองกันมาก เพราะในคลื่นดังกล่าว เป็นคลื่นที่มีเทคโนโลยี mmWave จุดเด่นคือ คลื่น 26 GHz หรือ mmWave เป็นคลื่นความถี่สูงที่มีคุณสมบัติพิเศษ เหมาะสำหรับการใช้งานความเร็วสูงสุดเพื่อรับส่งข้อมูล และสามารถเพิ่มความจุของช่องสัญญาณในปริมาณมหาศาลพร้อมทั้งมีความแม่นยำในการใช้งาน เพื่อรองรับนวัตกรรม 5G ต่างๆ ในอนาคตได้อย่างแท้จริง โดยสามารถนำมาพัฒนาคอนเทนท์ร่วมกับการใช้ VR หรือ AR รวมถึงออกแบบบริการ 5G เพื่อสาธารณสุขในที่ห่างไกล
อย่างไรก็ตามหลังจากการประมูลครั้งนี้ก็ทำให้รู้ว่าผู้ให้บริการก็ต่างพร้อมให้บริการเกี่ยวกับเครือข่าย 5G กันอย่างเต็มที่และคลื่นความถี่ที่ได้ก็มีการคิดพิจารณากันไปแล้ว แต่สุดท้ายการเปิดใช้งานเทคโนโลยี 5G จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไหร่ ต้องลุ้นกันต่อไป แต่คาดว่าน่าจะภายในปี 2563 นี้อย่างแน่นอน