น่าห่วง! ดาวเทียมของ NASA เผยภาพน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเหตุคลื่นความร้อนเมื่อต้นเดือน
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาดาวเทียมของ NASA ได้จับภาพครอบน้ำแข็ง (Ice cap คือมวลน้ำแข็งที่ครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 50,000 ตร.กม.) และธารน้ำแข็งในพื้นที่ของทวีปแอนตาร์กติกบริเวณขั้วโลกใต้ ซึ่งจัดว่าเป็นสถานที่ที่หนาวที่สุดในโลกได้ถูกคลื่นความร้อนทำให้ละลาย โดยมีความเป็นไปได้ว่าทวีปที่ปกติหนาวจัดมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์
ดาวเทียม Landsat 8 Earth ของ NASA ได้ปล่อยสองภาพใน Observatory (แหล่งภาพจากดาวเทียมของ NASA) ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจก็คือ หิมะและน้ำแข็งตามแนวปลายด้านเหนือของคาบสมุทรแอนตาร์กติกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ภาพระยะใกล้ของเกาะ Eagle หนึ่งในหลายเกาะรอบ ๆ คาบสมุทรแอนตาร์กติกที่เก็บภาพเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์แสดงให้เห็นว่ามีหิมะปกคลุมมากมาย แต่เมื่อมาเทียบกับภาพในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ (ด้านบน) จะต้องตะลีงเมื่อเห็นแอ่งน้ำในทะเลน้ำแข็งที่ละลาย (Melt ponds) เป็นสีฟ้าใสและพื้นดินโล่ง และเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ฐานวิจัย Esperanza ของอาร์เจนตินาที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะ Eagle ได้จัดเก็บข้อมูลของอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์
21 กุมภาพันธ์ Mauri Pelto นักวิทยาศาสตร์ด้านธารน้ำแข็ง (Glaciology) ที่ Nichols College ในรัฐ Massachusetts ได้กล่าวในโพสต์ของ NASA ว่าเขาไม่ได้เห็นแอ่งน้ำในทะเลน้ำแข็งที่ละลายในแอนตาร์กติกาได้พัฒนาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอย่าคิดว่าเหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ไม่สำคัญเท่าไร มันจะสำคัญมากถ้าเกิดขึ้นบ่อย
นั่นหมายความว่าถ้าอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่องทุกปีน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพิ่มขึ้น ความกังวลเรื่องน้ำทะเลเข้ามาท่วมเมืองพื้นที่ต่ำก็จะเกิดเร็วขึ้นได้อย่างแน่นอน
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) จะมีคณะกรรมการทำงานเพื่อตรวจสอบดูค่าอุณหภูมิ แต่ถ้าตรวจดูเบื้องต้นจากภาพถ่ายทางดาวเทียม ก็จะเห็นได้ว่าคลื่นความร้อนสามารถทำให้ 20% ของหิมะที่สะสมตามฤดูกาลของเกาะ Eagle ละลายได้ในเวลาไม่กี่วัน ดังนั้นภาพจากดาวเทียมของ NASA มีผลช่วยให้การติดตามดูการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกและให้เราวางแผนระวังป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ต่ำในอนาคตได้