“กลโกงออนไลน์” ภัยใกล้ตัว ที่ชาวโซเชียลควรรู้
สมัยนี้ใคร ๆ ก็ซื้อของออนไลน์กันทั้งนั้น ทำให้การ “โกงออนไลน์” แบบโอนเงินไปแล้วไม่ได้ของเกิดขึ้นมากมาย ส่วนการโกงที่เกิดในโลกออนไลน์มีรูปแบบไหนบ้าง และวิธีเอาเงินคืนต้องทำอย่างไร วันนี้ Tonkit360 อาสาพาไปหาคำตอบ
ขายของออนไลน์
ในยุคที่ธุรกิจขายของออนไลน์กำลังเฟื่องฟูเช่นนี้ “การโกงเงินขายของออนไลน์” ถือว่า เป็นกลโกงที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด เพราะด้วยความสะดวกและรวดเร็วในการซื้อขาย ทำให้ขาช้อปออนไลน์บางรายขาดความระมัดระวัง จนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพกลุ่มนี้
สำหรับกลโกงที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ โอนเงินค่าสินค้าไปที่บัญชีธนาคารเจ้าของร้าน แต่ไม่ได้รับสินค้า และติดต่อเจ้าของร้านไม่ได้ หรืออีกกรณี คือ สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ด้วยการเปิดบิลหลักหมื่น แต่กลับถูกเชิดเงินหนี
เติมเงินเกมออนไลน์
ต้องยอมรับว่า “เกมออนไลน์” ยังเป็นที่นิยมของกลุ่มเด็กและเยาวชน (ตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงนักศึกษา) และแน่นอนหากคุณอยากให้ตัวละครในเกม เลเวลอัพขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาการฝ่าด่าน หรือทำภารกิจในเกมเพียงอย่างเดียว ก็สามารถใช้เงินซื้อไอเทมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถพื้นฐาน (ค่าสเตตัส) ต่าง ๆ ของตัวละครได้
ซึ่งการซื้อขายไอเทมต่าง ๆ ผ่านเกมออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้เกิดการโกงเงินขึ้นได้ เนื่องจากผู้เล่นเกมบางส่วนเป็นเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ ฉะนั้น ผู้เล่นเองก็ต้องตรวจสอบผู้ขายอย่างรอบคอบก่อนโอนเงินไป
โกงค่าบัตรคอนเสิร์ต บัตรงานแฟนมีตติ้ง
ในแต่ละปี จะมีศิลปินทั้งเกาหลี อังกฤษ หรือสหรัฐฯ มาจัดทั้งแฟนมีตติ้ง หรือคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยศิลปินแต่ละคนที่มาเยือนไทย ล้วนมีแฟนคลับอยู่มากมาย จนเกิดการสงครามแย่งชิงบัตรแฟนมีตติ้ง หรือคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง เพราะต่างอยากเข้าไปใกล้ชิดศิลปินที่ตนชื่นชอบสักครั้ง
ทำให้เกิดการโกงค่าบัตรคอนเสิร์ต และบัตรงานแฟนมีตติ้งอยู่บ่อย ๆ ถึงขั้นที่บรรดาแฟนคลับต้องทำไฟล์รายชื่อมิจฉาชีพกลุ่มนี้มาเผยแพร่ พร้อมคอยย้ำเตือนกันในโลกออนไลน์ทีเดียว
โกงค่าพรีออเดอร์อัลบั้ม
ประเด็นนี้ ก็เป็นอีกเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยกับบรรดาแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่ตัดสินใจสั่งพรีออเดอร์อัลบั้ม ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่อยากฟังเพลงแบบเต็มอัมบั้มเร็ว ๆ ซึ่งมาพร้อมการ์ดเมนที่ตนชื่อชอบ
หรือต้องการให้ยอดซื้ออัมบั้ม กลายเป็นคะแนนที่ช่วยส่งให้ศิลปินของคุณอยู่ในอันดับต้น ๆ ของรายการจัดอันดับเพลงที่นำยอดการซื้ออัลบั้มมาเป็นคะแนน อย่างรายการ M COUNTDOWN เป็นต้น
แอบอ้างข้อมูล
สำหรับการแอบอ้างข้อมูลนั้น อาจมีทั้งการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อไปเบิกถอน โอนเงิน นำข้อมูลส่วนตัวของคุณไปเปิดเพจขายของ หรือนำภาพไปเผยแพร่และแอบอ้างว่าขายบริการทางเพศ เป็นต้น
สิ่งที่ต้องทำเมื่อถูกโกงทางออนไลน์
1. ให้พิมพ์หลักฐานทั้งหมดที่คุณติดต่อกับพ่อค้าแม่ค้า เพื่อนำไปแจ้งความ อาทิ
– รูปโปรไฟล์ของร้านค้า ทั้งจากทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม
– ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่บัญชีของร้านค้า
– ข้อความในแชทที่คุณพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นการสอบถาม สั่งซื้อ ยืนยันการชำระเงิน ฯลฯ ผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม
– หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี อย่างสลิป หรือใบนำฝาก
2. ให้นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ พร้อมระบุกับร้อยเวร ซึ่งทำหน้าที่ในขณะนั้นว่า “คุณมีความประสงค์แจ้งความดำเนินคดีจนถึงที่สุด ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวัน” หรือไปแจ้งที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชนากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ก็ได้
3. ขอหนังสือจากร้อยเวร เพื่อสั่งอายัดบัญชีคนขายที่คุณโอนเงินไป ซึ่งธนาคารดำเนินการส่งเรื่องไปที่ธนาคารสาขานั้น ๆ เอง
โดยหลังแจ้งความ ร้อยเวรจะดำเนินการตรวจสอบเจ้าของบัญชีว่าเป็นใคร มีการแอบอ้างนำบัตรประจำตัวประชาชนคนอื่นมาสวมรอยหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบเลข IP Address จากนั้นจึงออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ และเมื่อกระบวนการสิ้นสุด หากศาลตัดสินว่า ผู้ขาย (ฝ่ายที่โกง) มีความผิดจริง จะมีคำสั่งให้ธนาคารโอนเงินคืนให้แก่คุณ