เช็กกันหน่อย! ติดตามข่าวสารจนเครียดเกินไปหรือไม่?

เช็กกันหน่อย! ติดตามข่าวสารจนเครียดเกินไปหรือไม่?

เช็กกันหน่อย! ติดตามข่าวสารจนเครียดเกินไปหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงที่สถานการณ์ในบ้านเรามีข่าวสารให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งฝุ่น PM 2.5 ทั้งเรื่องการเมืองที่ร้อนระอุ

 

แต่รู้หรือไม่ว่า การติดตามข่าวใดข่าวหนึ่งที่มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอันนำมาซึ่งความเครียด และความวิตกกังวลได้ วันนี้ Tonkit360 จึงมีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวิธีการสังเกตว่าคุณเครียดเกินไปหรือไม่ในการติดตามข่าวสารมาฝากกัน

เช็คอาการติดตามข่าวแล้วเครียดเกินไปไหม

1. ใช้เวลาจดจ่ออยู่กับข่าวนั้นนานเกิน 1 ชั่วโมง การติดตามข่าวแนะนำให้ดูแล้วพักบ้าง เพื่อให้ได้ปรับอารมณ์ ในภาพรวมไม่แนะนำดูนานเกิน 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อารมณ์ยิ่งดิ่งลงไป ควรแบ่งเวลาทำกิจวัตรประจำวัน และทำงานปกติของเราด้วย สิ่งสำคัญต้องรู้ตัวก่อนว่าจริงจังกับเรื่องนี้ และควรรู้ว่าใช้เวลากับสิ่งนี้มากน้อยขนาดไหน ฉะนั้นจึงต้องมีสติรู้ตัวเองว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

2. มีการกินที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาการเบื่ออาหาร หากเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวไม่กี่วัน ก็ไม่น่าวิตกกังวล แต่หากมีอาการต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 10% จากน้ำหนักตัวเดิม จะทำให้เกิดอาการขาดน้ำร่วมด้วย คือ ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม ซึ่งทั้งนี้ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่มาจากจิตใจ ได้แก่ อาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย เสียใจ เครียดหรือวิตกกังวลนี่เอง

3. การนอนผิดปกติจากเดิม บางคนที่ติดตามข่าวจนเกิดอาการอินมาก ชนิดเกาะติดไม่ปล่อยทั้งข่าวโทรทัศน์ ทั้งสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลา จนบางทีก็ไม่ได้พักผ่อนอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้ ซึ่งเป็นอาการที่ร่างกายรู้สึกอยากจะนอน แต่ไม่สามารถหลับได้ เพราะด้วยความวิตกกังวลหลายอย่าง และอยากจะเกาะติดความคืบหน้าของข่าวที่มีมากจนเกินไป โดยอาการที่จะตามมาก็คือ อ่อนเพลียและขาดสมาธิ

4. มีอารมณ์หงุดหงิด อ่อนไหวง่าย การหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องเพียงเรื่องเดียว อาจก่อให้เกิดอาการทางจิต จนกลายเป็นโรคจิตโรคประสาทได้ เนื่องจากการเผชิญต่อภาวะตรึงเครียดเป็นเวลานาน ความเครียดสามารถทำให้ความจำและสติปัญญาลดลง และยังมีผลต่อการทำงานของระบบสารสื่อประสาท ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรมโดยเฉพาะสารสื่อประสาท จึงทำให้เกิดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลกว่าปกติ บางคนที่อินกับเหตุการณ์ใดมาก ๆ ด้วยความที่คิดตาม เป็นห่วง กังวลใจแทน ก็อาจจะมีอาการร้องไห้ น้ำตาไหลออกมาได้ด้วยเช่นกัน

วิธีคลายเครียดจากการติดตามข่าว

1. ออกกำลังกายหรือขยับตัว เพราะถ้าอยู่เฉยๆ พลังงานจะไปอยู่ที่สมอง ทำให้คิดไม่หยุด การที่จะทำให้หยุดคิดหรือหยุดกังวลก็คือการขยับตัว ถ้าขยับตัวก็จะมีการออกท่าทางต่างๆ เอาพลังงานไปขยับส่วนต่างๆ เพื่อให้เราคิดจดจ่อในสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการ คือ ตัวขยับหัวหยุด ตัวหยุดหัวขยับ การออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายๆ คือ การสลับกันระหว่างท่ายืดเหยียด กับท่าขยับ เช่น การขยับศีรษะซ้าย ขวา หมุนไหล่ หรือเดินแกว่งแขน เป็นต้น

2. ทานอาหารที่ช่วยให้หลับได้ดีขึ้น เช่น ปลา ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนม เชอร์รี่ กล้วย ถั่ว ฮัมมัส ผักใบเขียว และชา จะเห็นได้ว่าอาหารนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่สามารถส่งผลต่อการนอนของคุณได้ ดังนั้นหากคุณลองสำรวจตนเองแล้ว พบว่าในช่วงนี้คุณต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการข่มตานอน คุณก็อาจต้องลองทานอาหาร ตามที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อเป็นตัวช่วยในการกล่อมให้คุณนอนหลับแล้วล่ะ

3. เล่นกับสัตว์เลี้ยง ช่วงเวลาที่เราได้อยู่ใกล้ชิดสัตว์เลี้ยง หรือได้มองเห็นเขาเดิน เล่น ใช้ชีวิตตามปกติของตัวเอง หลายคนจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจขึ้นมาก ซึ่งการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาท และออกซิโตซินออกมา ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เท่ากับช่วยลดระดับคอร์ติซอล และฮอร์โมนความเครียดที่มีอยู่ลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการวิจัยแสดงให้เห็นอีกว่า การเล่นกับสัตว์เลี้ยง สามารถบรรเทาอาการเครียดจากเหตุร้ายได้อีกทางหนึ่งด้วย

4. ฝึกที่จะคิดบวก คิดบวกจะเป็นความคิดที่ตรงกับการช่วยแก้ปัญหา หรือเข้ากับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เป็นความคิดที่ยอมรับตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นความคิดที่เข้าใจว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีเพียงหน้าที่ที่จะต้องยอมรับ ปรับตัว วางแผน พร้อมรับมือหาทางแก้ปัญหาไปตามสิ่งที่เกิดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook