ผลสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2019 ท่องเน็ตเพิ่ม 10 ชั่วโมง เดลิเวอรี่มาแรง
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 หรือ Thailand Internet User Behavior 2019 พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% ส่งผลให้ไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 47.5 ล้านคน หรือราว 70% ของจำนวนประชาชนทั้งหมด
ภาพรวมคนไทยใช้ 10 ชั่วโมง
จากการสำรวจข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ประจำปี 2562 ผ่านทางออนไลน์ ช่วงเดือน ส.ค.- ต.ค. 2562 โดยมีคนไทยเข้ามาตอบแบบสอบถามกว่า 17,242 คน ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ปี 2562 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที เพิ่มขึ้น 17 นาทีจากปีที่ 2561 และเมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นเทียบกับชั่วโมงการใช้งาน พบข้อมูล ดังนี้
ทางด้านเพศ พบว่า เพศทางเลือกครองแชมป์ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 11 ชั่วโมง 20 นาที รองลงมาคือ เพศชาย 10 ชั่วโมง 25 นาที และเพศหญิง 10 ชั่วโมง 17 นาที
ด้าน Generation พบว่า Gen Y (19-38 ปี) ยังคงครองแชมป์การใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดติดต่อกัน 5 ปีซ้อน โดยมีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 10 ชั่วโมง 36 นาที รองลงมาได้แก่ Gen Z (ต่ำกว่า 19 ปี) อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 35 นาที ส่วน Baby Boomer (55-73 ปี) อยู่ที่ 10 ชั่วโมง และ Gen X (39-54ปี) อยู่ที่ 9 ชั่วโมง 49 นาที ตามลำดับ
ด้านอาชีพ พบว่า ไม่ว่าอาชีพไหนก็ใช้อินเทอร์เน็ตแทบไม่ต่างกัน โดยนักเรียน/นักศึกษา ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 50 นาที รองลงมาคือ พ่อบ้าน/แม่บ้าน 10 ชั่วโมง 38 นาที เจ้าของกิจการ/ประกอบธุรกิจส่วนตัว 10 ชั่วโมง 34 นาที คนว่างงาน/ไม่มีงานทำ 10 ชั่วโมง 32 นาที และอาชีพอิสระ/ฟรีแลนซ์ 10 ชั่วโมง 30 นาที ตามลำดับ
เช่นเดียวกับ ประเด็นด้านพื้นที่ พบว่า มีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตใกล้เคียงกัน ภาคเหนือมีจำนวนชั่วโมงการใช้อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 31 นาที ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 ชั่วโมง 28 นาที ภาคกลาง 10 ชั่วโมง 19 นาทีกรุงเทพฯ 10 ชั่วโมง 19 นาที และภาคใต้ 10 ชั่วโมง 17 นาที ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายเน็ตประชารัฐที่คลอบคลุมพื้นที่แล้วกว่า 24,700 หมู่บ้าน และบริการ Free WI-FI ที่คลอบคลุมชุมชนกว่า 10,000 จุด ทำให้คนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง
กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิต
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 91.2% ใช้อินเทอร์เน็ตไปกับ Social Media (Facebook, Line, Instagram) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมยอดฮิต 7 ปีซ้อน รองลงมาคือ ดูหนัง ฟังเพลง 71.2% ค้นหาข้อมูลออนไลน์ 70.7% รับ-ส่งอีเมล 62.5% และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ 60.6% ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่การชำระเงินติด 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิต สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของ Online payment services ของไทยที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ กิจกรรมออนไลน์ที่กำลังมาแรงและมีการเติบโตเพิ่มขึ้นหากเทียบกับปี 2561 คือ การสั่งอาหารออนไลน์ ได้รับความนิยมมากสุด เพิ่มขึ้นจากปี 61 ถึง 15.1% รองลงมาคือ การชำระค่าสินค้าและบริการ ใช้บริการเพิ่ม 11.4% และการรับ-ส่งสินค้า/พัสดุ/เอกสารทางออนไลน์ เพิ่มขึ้น 11.0% ตามลำดับ
ช้อปออนไลน์แรงต่อเนื่อง
ช่องทางที่ผู้ซื้อเลือกใช้เพื่อซื้อสินค้ามากที่สุด คือ e-Marketplace ได้แก่ Shopee 75.6% รองลงมาคือ Lazada 65.5% และ Social Media ได้แก่ Facebook Fanpage 47.5% และ Line 38.9% ต่างจากช่องทางที่ผู้ขายนิยมใช้ที่เพื่อขายของออนไลน์มากที่สุด คือ Facebook Fanpage 64.0% รองลงมาคือ Shopee 43.1% และ LINE 39.5% และยังพบว่า คนไทยนิยมใช้ LINE ติดต่อสื่อสาร 98.5% รองลงมาคือ Facebook Messenger, FaceTime และ WhatApp ตามลำดับ
ส่วนปัญหากวนใจในการใช้อินเทอร์เน็ตมากสุดที่คือ โฆษณาออนไลน์รบกวนการใช้งาน 78.5% รองลงมาคือความล่าช้าในการเชื่อมต่อ 68.7% ปัญหาข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ 35.8% แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 73.3% ยังคงเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต
สำหรับ ความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัลไอดีพบว่า กิจกรรมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเคยทำมาก่อนกว่า 91.6% คือการกรอก รหัส OTP รองลงมาคือ การสมัครใช้บริการออนไลน์ของเอกชน
โดยให้ข้อมูลส่วนบุคคล 85.9% การเข้าใช้บริการออนไลน์ของภาคเอกชนด้วยรหัสผ่านที่ตั้งขึ้นมา 82.1% โดยกิจกรรมที่นิยมสร้างบัญชีใหม่ เพื่อยืนยันการใช้บริการมากที่สุดคือ การต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ออนไลน์ รองลงมาคือ การซื้อขายสินทรัพย์ออนไลน์ และการเรียนออนไลน์
ส่วนกิจกรรมที่นิยมใช้บัญชีเดิม (บัญชีใน Social Media, Internet Banking ฯลฯ) มากที่สุดคือ ใช้รถโดยสารออนไลน์ รองลงมา สั่งอาหารออนไลน์ และอ่านหนังสือทางออนไลน์
และเมื่อถามว่า ต้องการใช้บัญชีเดียวในการเข้าถึงทุกบริการออนไลน์หรือไม่ ส่วนใหญ่ 64.4% ตอบว่าต้องการใช้บัญชีเดียวเข้าถึงทุกบริการ 23.8% ตอบว่าไม่แน่ใจ และ 11.9% ตอบว่าไม่ต้องการ และสิ่งที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องการให้ภาครัฐดูแลมากที่สุด คือ ความมั่นคงปลอดภัย ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล 61.4% การมีกฎหมายกำกับ ดูแลหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 18.5% การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ 11.2% และระบบที่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง 7.2% เป็นต้น