ถ่ายภาพอย่างไรให้ปัง รับดวงจันทร์ใกล้โลก 8 เมษายนนี้

ถ่ายภาพอย่างไรให้ปัง รับดวงจันทร์ใกล้โลก 8 เมษายนนี้

ถ่ายภาพอย่างไรให้ปัง รับดวงจันทร์ใกล้โลก 8 เมษายนนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีทั้งที (8 เมษายน 2563) นอกจากจะชมด้วยสองตาแล้ว ก็เป็นโอกาสอันดีให้เราได้บันทึกภาพเป็นที่ระลึกกันไว้ แต่ว่าจะบันทึกภาพอย่างไรให้ดวงจันทร์ดูใหญ่และน่าตื่นตากว่าปกติจริง ๆ วันนี้เรารวมเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมาฝากกัน

“วัดกันจะ ๆ ”  : ถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบช่วงเต็มดวง “ใกล้/ ไกล” โลก ด้วยอุปกรณ์เดียวกัน

 

 

สำหรับเทคนิคแรกนี้ เป็นรูปแบบที่นักดาราศาสตร์นิยมถ่ายภาพกันมากที่สุด ด้วยระยะห่างของดวงจันทร์กับโลกในวันที่ 8 เมษายน 2563 นี้ มีเพียง 356,897 กิโลเมตร ส่งผลให้ดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยประมาณ 7 % ดังนั้น หากเราถ่ายภาพดวงจันทร์ในคืนกล่าว ก็จะได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ เมื่อนำภาพดวงจันทร์ในวันที่ 8 เมษายนนี้ ไปเปรียบเทียบกับ ภาพดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกมากที่สุด (Micro Full Moon) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม เราก็จะได้ภาพดวงจันทร์ที่เห็นความแตกต่างของขนาดอย่างชัดเจน แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องถ่ายด้วยอุปกรณ์เดียวกันเท่านั้นนะ

แม้จะต้องรอเวลาหลายเดือน แต่เทคนิคนี้ก็ทำให้ภาพมาเทียบเห็นขนาดที่แตกต่างกันชัดเจนสุด ๆ ไปเลยล่ะ

 

“โชว์ความยิ่งใหญ่” : ถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า

 

ภาพถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ

(ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)

การถ่ายภาพลักษณะนี้ มีชื่อเรียกกันว่า ‘Moon Illusion’ เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์เทียบกับขนาดของวัตถุเพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด ตอกย้ำความอลังการของดวงจันทร์นั่นเอง 

ก่อนถ่าย ช่างภาพต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า ว่าอยู่ในมุมใดทิศอะไร และต้องหาวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ โดยวัตถุนั้นมักต้องใช้ระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร แล้วใช้เลนส์เทเลควบคู่ เพื่อดึงระยะให้ภาพคมชัดและเห็นวัตถุทั้งสองอย่างชัดเจน

แล้ววัตถุที่ว่าควรมีขนาดเท่าไหร่ดี ? เพื่อให้ได้ความยิ่งใหญ่สมความตั้งใจ เราสามารถประมาณขนาดวัตถุบริเวณขอบฟ้า ด้วยการวัดขนาดเชิงมุม คือเหยียดแขนให้สุด ให้นิ้วก้อยเทียบกับขนาดวัตถุที่อยู่ไกลออกไป หากวัตถุนั้นมีขนาดไม่เกิน 1 นิ้วก้อย ก็เป็นอันใช้ได้ เนื่องจากขนาดเชิงมุม 1 นิ้วก้อย มีค่าเท่ากับ 1 องศา ส่วนดวงจันทร์เต็มดวงนั้นมีขนาดเชิงมุมเพียง 0.5 องศาเท่านั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ )

 

“เอาใจสายบันเทิง”  : เต๊ะท่าถ่ายภาพกับดวงจันทร์ใกล้โลก

 

 

ภาพถ่ายดวงจันทร์กับกริยาท่าทางต่างๆ ของบุคคลก็เป็นอีกรูปแบบการถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลก ที่สามารถสร้างสรรค์เรื่องเล่าได้หลากหลาย ทำให้ได้ภาพแนว ๆ เอาไว้อวดเพื่อนได้ด้วย

สำหรับการถ่าย ไม่ต้องกังวลเรื่อง Social distancing ผู้ถ่ายและผู้ถูกถ่ายไม่จำเป็นต้องอยู่กันใกล้มากนัก ประมาณ 100 เมตร กำลังดี (นั่นไม่ใกล้เท่าไหร่แล้วล่ะ ไว้ถ่ายกับเพื่อนบ้านกระชับมิตรยังได้เลย 555) ที่เหลือก็คือ การดีไซน์ท่าทาง ผู้ถ่ายต้องคอยตะโกนบอกให้ผู้ถูกถ่ายทำท่าทางต่าง ๆ ที่ต้องการเท่านั้นแหละ

 

“จะรุ่งหรือร่วง คงต้องพึ่งดวงด้วยแล้วล่ะ”  : ถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับเครื่องบิน

 

ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงจังหวะเครื่องบินกำลังบินผ่านดวงจันทร์พอดี

(Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 1600 / Exposure : 1/320 sec)

สำหรับรูปแบบนี้คือ การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวง ในชั่วขณะที่เครื่องบินบินผ่านดวงจันทร์พอดี เราสามารถเช็กตารางบินจากแอปพลิเคชัน Flightradar24 ดูเวลาการขึ้น-ลง และเส้นทางการบินเพื่อวางแผนการถ่ายภาพได้ (ซึ่งตอนนี้อาจจะมีโอกาสถ่ายแก้ตัวน้อยกว่าเดิม เพราะจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด)

อย่างไรก็ตาม การถ่ายให้ได้ภาพเครื่องบินเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงจันทร์พอดี ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าจะทราบเส้นทางการบิน แต่ในแต่ละเดือน ดวงจันทร์จะปรากฏแกว่งไปมาตามแนวเส้นสุริยะวิถีประมาณ 5 องศา จึงต้องอาศัยโชคช่วยในการถ่ายภาพด้วยเช่นกัน

 

ถูกจริตกับการถ่ายภาพแบบใด คืนวันที่ 8 เมษายนนี้ ก็หยิบกล้องส่องฟ้าลองถ่ายกันดูครับ

 

อ้างอิง

แชร์โพสนี้

The post ถ่ายภาพอย่างไรให้ปัง รับดวงจันทร์ใกล้โลก 8 เมษายนนี้ appeared first on #beartai.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook