รู้จัก “น้องปิ่นโต” และ”น้องกระจก” อาวุธข้างกาย “นักรบชุดขาว” ต้านโควิด-19
ข่าวบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 (COVID-19) การขอรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงชุดอุปกรณ์ป้องกัน PPE ที่เกิดการขาดแคลน นอกจากจะสะท้อนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังบ่งบอกว่าบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้รับฉายาว่า “นักรบชุดขาว” นั้นคือ “ด่านหน้า” เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด
เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำงาน ลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และรักษานักรบชุดขาวเหล่านี้เอาไว้สำหรับสถานการณ์ในวันข้างหน้าที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid ได้พัฒนา“น้องปิ่นโต” และ “น้องกระจก” หุ่นยนต์และอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ (CU-RoboCovid) โดยดร. มหิศร ว่องผาติ หรือ คุณช้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround ได้เล่าถึงอาวุธช่วยต้านโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้
“น้องปิ่นโต” ส่งข้าว ส่งยา ได้ชื่อมาจากคำว่า “เบนโตะ”
เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณช้างได้รับการติดต่อจากรุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับภารกิจสำคัญที่ต้องการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ต่อสู่กับโควิด-19 จากนั้นคุณช้างได้ไปพูดคุยกับเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเก็บข้อมูล และความต้องการที่แท้จริงสำหรับมาตั้งต้นพัฒนาหุ่นยนต์
ปัญหาที่พบคือบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปหาคนไข้จะต้องสวมชุด PPE ทุกคน ซึ่งเป็นชุดที่มีราคาสูง และขณะนี้ขาดแคลน รวมทั้งการสวมใส่แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15 นาที และเมื่อใช้ต่อครั้งจะต้องถอดทิ้งทันที ดังนั้นหากมีคนไข้เพิ่มขึ้น จำนวนชุดที่ต้องการก็สูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์ยังมีความเสี่ยงทุกครั้งที่เข้าใกล้ผู้ป่วย ดังนั้น “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์จัดส่งเวชภัณฑ์ และอาหาร จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเปรียบเสมือนอาวุธช่วยนักรบชุดขาวลดจำนวนครั้งในการเข้าไปพบผู้ติดเชื้อ โดยน้องปิ่นโตถูกควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยระบบการทำงานแบบโดรนจากคุณหมอ หรือพยาบาล
สำหรับชื่อ “ปิ่นโต” นั้นคุณช้างบอกว่าเกิดจากลักษณะทรงสี่เหลี่ยม ใช้ส่งอาหาร และตนเองเคยอยู่ประเทศญี่ปุ่นจึงนึกถึงคำว่าเบนโตะ แต่ถ้าเป็นของไทยก็ต้องเป็น "ปิ่นโต” ส่วนดีไซน์ของ “น้องปิ่นโต” นั้นคุณช้างบอกว่าเพื่อให้สามารถใช้งานง่าย จึงนำของที่มีอยู่แล้วอย่างรถเข็นสแตนเลสมาดัดแปลง “น้องปิ่นโต” มีความสูงมากสุดประมาณ 150 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ทนทานเพราะทำจากสแตนเลส อีกทั้งยังทำความสะอาดง่ายเหมือนการทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป
การเคลื่อนที่ของ “น้องปิ่นโต” นั้นเป็นการควบคุมด้วยระบบไร้สาย สามารถขึ้นเนิน ผ่านรอยเชื่อมของประตู และหากติดตั้ง “Telepresence” หรือ “น้องกระจก” ระบบการสื่อสารระยะไกลผ่านแท็ปเล็ตจะทำให้เห็นภาพมุมกว้างระหว่างคุณหมอกับคนไข้ได้โดยที่คุณหมอ หรือพยาบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปพบคนไข้โดยตรง
“น้องกระจก” กระจกวิเศษ บอกหมอเถิด คนไข้เป็นอย่างไรบ้าง
นอกจาก “น้องปิ่นโต” ตัวช่วยคุณหมอ พยาบาล ส่งอาหาร และยาแล้ว คุณช้างยังพัฒนาระบบการสื่อสารทางไกลผ่านแท็ปเล็ต ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีทั้งของฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ และคนไข้ แท็ปเล็ตคู่นี้จะเชื่อมต่อด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อสื่อสารได้รวดเร็ว สังเกตอาการของคนไข้ได้ง่าย ชัดเจน โดยการทำงานของน้องกระจกนั้นสามารถติดตั้งไว้ได้ทั้งกับ “น้องปิ่นโต” หรือจะติดตามห้องคนไข้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยให้แพทย์ดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึงแบบเสี่ยงติดเชื้อน้อยลง รวมถึงยังลดจำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนโซนการรักษาซึ่งมีความเสี่ยงอีกด้วย ส่วนฝั่งคนไข้ก็ยังรู้สึกอุ่นใจ เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา และยังสามารถเรียกหาได้เมื่อต้องการ
สำหรับการติดตั้ง “น้องปิ่นโต” นั้นเป็นการติดตั้งให้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมาทีมงานได้ติดตั้ง “น้องปิ่นโต” ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลรามาธิบดี (จักรี) และโรงพยาบาลจุฬาฯ ต่อมาเริ่มมีออร์เดอร์จากโรงพยาบาลต่างๆ รวมแล้วกว่า 40 โรงพยาบาล สำหรับก้าวต่อไป คุณช้างบอกว่าจะเริ่มผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อตอบสนองตามความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ โดยตั้งใจว่าภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้จะผลิต “น้องปิ่นโต” ให้ครบ 100 ตัว แล้วกระจายติดตั้งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศฟรี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของโรงพยาบาลเหล่านั้นด้วยว่าต้องการ “น้องปิ่นโต” หรือ “น้องกระจก” ไปใช้
การพัฒนาต่อไปนั้นคุณช้างตั้งใจจะทำให้ “น้องปิ่นโต” มีระบบกึ่งอัตโนมัติเพิ่มขึ้น ส่วน “น้องกระจก” นั้นจะพัฒนาให้ทำงานตอบโจทย์ทางการแพทย์มากขึ้น หากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว “น้องปิ่นโต” อาจกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะไม่เพียงแต่วิกฤตโควิด-19 เท่านั้น เนื่องจากปกติบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ควรมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคใดๆ ส่วน “น้องกระจก” นั้นอาจกลายเป็นเครื่องมือติดตามคนไข้เมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน เปิดโอกาสให้คุณหมอดูแลคนไข้แบบใกล้ชิด โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาพบคุณหมอ
จากสถานการณ์นี้คุณช้างเองยังมองว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนความคิดว่า “หุ่นยนต์” สามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้ เพราะเมื่อมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความเสี่ยง เชื้อโรค อันตรายต่างๆ หุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน ดังนั้นหุ่นยนต์น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ และน่าลงทุนต่อไป
สำหรับใครที่สนใจอยากมอบ “น้องปิ่นโต” หรือ “น้องกระจก” เพื่อช่วยเหลือ “นักรบชุดขาว” ของเราให้สามารถยืนหยัดเป็นด่านหน้าได้อย่างเต็มกำลัง ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถเข้าติดตามเพจ CU-RoboCovid เพื่อติดตามความคืบหน้าของ “น้องปิ่นโต” และ “น้องกระจก” ที่เดินทางไปช่วยเหลือคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้