"หุ่นยนต์ช่วยงานมนุษย์" กลายเป็นขวัญใจในช่วงโควิด-19
หลังจากที่รัฐบาลของกรุงวอชิงตันมีคำสั่งให้ผู้ไปซื้อของในร้านค้าต้องอยู่ห่างกัน 2 เมตร คุณเทรซี่ สตาร์นาร์ด เจ้าของร้าน Broad Branch Market ก็รู้ทันทีว่าธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะขณะที่ลูกค้าเข้ามาแน่นร้านเพื่อซื้อของจำเป็นให้พอนั้น เธอไม่ต้องการให้ร้านเป็นแหล่งแพร่เชื้อแต่ก็ต้องการขายของเช่นกัน
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาสองเรื่องนี้ คุณเทรซี่จึงหันไปใช้หุ่นยนต์ส่งสินค้าของบริษัท Starship Technologies และได้ทำให้หุ่นยนต์บริการส่งของถึงบ้านสีขาวขนาดเท่ากระติกน้ำแข็งขนาดใหญ่ซึ่งเคลื่อนที่บนล้อหกล้อนี้ กลายเป็นจุดสร้างความสนใจขึ้นมาทันที
เพราะเมื่อหุ่นยนต์ตัวนี้เคลื่อนไปบนฟุตบาท ผู้คนก็มักจะหันมามองและถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอไว้เป็นที่ระลึก
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเครื่องช่วยและเป็นเครื่องมือโฆษณาที่ดี หุ่นยนต์ส่งของซึ่งมีจำนวนจำกัดนี้ก็ไม่สามารถสนองความต้องการของลูกค้าทุกคนได้ เพราะการใช้งานขึ้นอยู่กับสภาพของฟุตบาทและถนนที่ต้องดีพอสมควรและไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเมืองยังต้องอนุญาตให้หุ่นยนต์ใช้ทางเดินร่วมกับคนเดินเท้าด้วย
แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็ช่วยให้คุณเทรซี่เจ้าของร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตในกรุงวอชิงตันไม่ต้องขับรถไปส่งสินค้าด้วยตัวเอง
ในช่วงเวลาวิกฤติอย่างเช่นการระบาดของโควิด-19 มีการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วยในหลายด้านด้วยกัน คือนอกจากจะช่วยส่งสินค้าแล้ว หุ่นยนต์ยังช่วยส่งอาหารตามสั่งถึงบ้าน และที่โรงพยาบาลในเบลเยียมก็มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยฆ่าเชื้อโรคหรือใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยทำความสะอาดสถานที่สาธารณะในฮ่องกง เป็นต้น
หุ่นยนต์ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับงานที่อันตรายและสกปรกซึ่งมนุษย์ไม่อยากแตะต้อง หรือแม้กระทั่งในโรงพยาบาลบางแห่งมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยส่งยาและเวชภัณฑ์
และในอิตาลีก็มีหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาลซึ่งมีหน้าจอทัชสกรีน และติดตั้งกล้องไว้เพื่อช่วยดูคนไข้ที่ข้างเตียง เพื่อช่วยให้พยาบาลไม่ต้องเข้าใกล้ผู้ป่วยโควิด-19 มากไป
แต่ถึงแม้จะมีการใช้หุ่นยนต์อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติ คุณเจฟ เบิร์นสตีน ผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในสหรัฐก็ยอมรับว่า ยังมองไม่เห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้อย่างสำคัญในอนาคตอันใกล้
และอาจารย์เฮาวี่ โชเซ็ท ผู้สอนวิชาหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ก็ชี้ว่าปัญหาก็คือเราไม่เคยได้รับความสนใจหรือมีทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ล่วงหน้าให้พร้อมรับกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยอาจารย์เฮาวี่ โชเซ็ท บอกด้วยว่า ความสนใจพัฒนาหุ่นยนต์นั้นมักจะมาเป็นพัก ๆ ตามวิกฤติที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าแล้วก็จางหายไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มงานของเขาได้พัฒนาหุ่นยนต์เลื้อยได้รูปร่างคล้ายงูเพื่อช่วยค้นหาผู้เคราะห์ร้ายซึ่งติดอยู่ในที่อับ แต่หลังจากที่ได้ใช้เพื่อช่วยชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเม็กซิโกเมื่อปี 2560 แล้ว เงินทุนสนับสนุนและความสนใจเรื่องนี้ก็จางหายไป
อาจารย์โชเซ็ทบอกด้วยว่า หุ่นยนต์ที่จะสามารถนำมาใช้แทนมนุษย์ได้เป็นอย่างดีนั้นยังต้องการการวิจัยและพัฒนาเพิ่มอีกมาก รวมทั้งต้องการเงินทุนสนับสนุนอย่างจริงจังด้วย
แต่ปัญหาของเรื่องนี้ตามที่คุณแอนดรา คีย์ กรรมการผู้จัดการของ Silicon Valley Robotics ได้ชี้ไว้ ก็คือ นักลงทุนมักต้องการผลตอบแทนอย่างรวดเร็วขณะที่การลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นอาจต้องใช้เวลา 10 ถึง 15 ปีกว่าจะเห็นผล
ดังนั้นในยามที่วิกฤตอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้นี้ สิ่งที่เราต้องการคือการมองการณ์ไกลและเงินลงทุนแบบใจเย็น เพราะหากไม่ลงทุนล่วงหน้าแล้วเราอาจไม่มีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับสภาพเพื่อใช้งานได้ในยามที่ต้องการ