Facebook สร้างสายเคเบิลใต้ทะเลที่ยาวรอบโลกเพื่อส่งเน็ตความเร็วสูงให้ 16 ประเทศแอฟริกา
Facebook ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคม China Mobile International, MTN GlobalConnect, Orange, stc, Telecom Egypt, Vodafone และ WIOCC ในการสร้างสายเคเบิลใต้ทะเลที่ยาว 37,000 กม. ซึ่งยาวเท่ากับเส้นรอบวงของโลกด้วยงบประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการที่มีชื่อว่า 2Africa เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือและความเร็วสูงจากยุโรปไปยังตะวันออกกลางและไปสู่ 16 ประเทศในแอฟริกา และยังช่วยนำเสนอแพลตฟอร์ม Facebook ไปสู่คนรุ่นใหม่ในแอฟริกาอีกด้วย
เคเบิลอินเทอร์เน็ตจะพร้อมให้บริการแก่ชาวแอฟริกาภายในปี 2024 โดยจะส่งมอบความจุเป็น 3 เท่าของสายเคเบิลใต้ทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว สายเคเบิลเส้นทางใหม่นี้จะส่งมอบอินเทอร์เน็ตที่มีความจุมากขึ้นและน่าเชื่อถือไปทั่วแอฟริกา ผนวกกับความต้องการความจุในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และรองรับการเติบโตในอนาคตของ 4G, 5G และการเข้าถึงบรอดแบนด์สำหรับผู้คนหลายร้อยล้านคน
ทวีปแอฟริกามีประชากรถึง 1,3000 ล้านคน ซึ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงล้าหลังกว่าส่วนอื่นของโลก โดยมี 4 ใน 10 คนของทั่วทั้งทวีปที่มีการเข้าถึงเว็บ แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ 6 ใน 10 คนเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ใหญ่มหาศาลสำหรับบริษัทและธุรกิจเทคโนโลยีที่จะมีผู้ใช้หรือลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาอีกจำนวนมาก
สายเคเบิลจะลากผ่านไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกาที่ 37,000 กม.
สายเคเบิลใต้ทะเลจะใช้ในการนำส่งข้อมูลมหาศาลระหว่างทวีปของโลก ซึ่งช่วยให้จัดการกับข้อมูลได้เพิ่มมากขึ้นและสนับสนุนการสื่อสารข้อมูลที่เร็วขึ้นในต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น
2Africa จะวางสายเคเบิลใต้ทะเลโดยเครือข่ายเรือดำน้ำ Alcatel ของ Nokia ซึ่งจะแล่นผ่านก้นมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง ที่สำคัญต้องฝังสายเคเบิลให้ลึกกว่าระบบก่อนหน้านี้เพื่อป้องกันความเสียหายจากสิ่งต่าง ๆ ภายนอกที่มากขึ้น เช่น สมอที่ใช้ยึดเรือ
Nick Gliddon ผู้อำนวยการบริการวางเครือข่ายของ Vodafone หนึ่งในพันธมิตรของ 2Africa กล่าวว่าบริษัทจะวางสายเคเบิลปูทางสำหรับการพัฒนาธุรกิจดิจิตอลในทวีปนี้ โดยต้องให้ความจุของอินเทอร์เน็ตที่เพียงพอและสร้างสังคมดิจิทัลที่ทันสมัย รวมทั้งบริการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมาก เช่น คลาวด์คอมพิวติงหรือวิดีโอ นอกจากช่วยภาคธุรกิจแล้วจะยังช่วยปรับปรุงระบบการดูแลสุขภาพและการศึกษาอีกด้วย
ปี 2016 Facebook พยายามเข้าไปมีบทบาทในอินเดียโดยเสนอให้ผู้คนในเขตชนบทของอินเดียเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ฟรี แต่คนอินเดียปฏิเสธเนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์และบริการออนไลน์ต่าง ๆ ได้ทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน จึงถูกหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมแห่งอินเดีย (TRAI) สั่งห้าม
เมษายนที่ผ่านมา Facebook ได้เปิดเผยผ่านบล็อกว่าจะลงทุน 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน Jio Platforms ของอินเดีย ซึ่งจะทำให้ Facebook เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนผู้ถือหุ้น 9.99% และเป็นการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ Facebook การร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการค้าของ Jio Platforms และ Facebook จะเป็นการรวมบริการส่งข้อความ WhatsApp ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 400 ล้านคนในอินเดียเข้ากับ JioMart แพลตฟอร์มการค้าใหม่ของ Reliance Retail ที่เป็นแหล่งรวมผู้ค้ารายย่อยและหลายล้านร้านค้าเพื่อนำเสนอสินค้าไปสู่ผู้บริโภคชาวอินเดียได้ดียิ่งขึ้นโดยการทำธุรกรรมชำระเงินผ่าน WhatsApp
ตุลาคม 2016 Google, Facebook ได้ร่วมมือกับบริษัทด้านการสื่อสาร Pacific Light Data Communication และ TE Subcom วางเครือข่ายเคเบิลนำแสงแปซิฟิก (The Pacific Light Cable Network : PLCN) ที่เชื่อมระหว่างลอสแองเจลิสกับฮ่องกงในระยะทาง 12,800 ก.ม. โดยการติดตั้งตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อให้การถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากทำได้อย่างรวดเร็วประมาณ 120 Tbps และมีแบนด์วิดท์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2019 แต่โครงการนี้อาจจะไม่ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากการคัดค้านจาก Team Telecom ซึ่งหากถูกปฏิเสธในการออกใบอนุญาต ก็ถือว่านี่คือครั้งแรกที่สหรัฐปฏิเสธการออกใบอนุญาตเคเบิลใต้ทะเลเนื่องจากความมั่นคงของชาติ
นอกจากเคเบิลใต้ทะเลแล้ว ยังมีบอลลูนอินเทอร์เน็ตที่ชั้นบรรยากาศสทราโทสเฟียร์ของ Loon (บริษัทในเครือเดียวกับ Google) เมื่อ 12 พฤษภาคม ประกาศจะเปิดให้บริการบอลลูนอินเทอร์เน็ต 4G ในประเทศโมซัมบิกที่แอฟริกา และกำลังขยายไปยังพื้นที่ห่างไกลในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งขยายบอลลูนอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลกเพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติยามฉุกเฉิน
ที่เล่นใหญ่ก็คือ SpaceX จะยิงดาวเทียม Starlink ทั้งหมด 42,000 ดวงโดยมีเป้าหมายให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมครอบคลุมทั่วทั้งโลก ตอนนี้ SpaceX มีดาวเทียมบรอดแบรนด์แล้วกว่า 400 ดวง ตั้งเป้าว่าปลายปีนี้จะมีมากกว่า 1,000 ดวงและจะเปิดตัวมากกว่า 12,000 ดวงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และ Amazon ก็จะใช้ดาวเทียม 3,236 ดวงเพื่อให้บริการบรอดแบรนด์ทั่วโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม OneWeb ที่จะปล่อยดาวเทียม 1,972 ดวงเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปทั่วโลกอีกด้วย