5 ข้อดีของ “สังคมออนไลน์” ในยุค COVID-19

5 ข้อดีของ “สังคมออนไลน์” ในยุค COVID-19

5 ข้อดีของ “สังคมออนไลน์” ในยุค COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนารวดเร็วมากจนตามแทบไม่ทัน โลกออนไลน์ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นตัวร้ายขึ้นมาทันที เพราะคนอยู่แต่กับหน้าจอ เสพแต่เรื่องที่ตนเองพอใจ ไม่เปิดใจให้คนอื่น ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จนกลายเป็นความห่างเหินมากขึ้นทุกที ถึงขั้นที่ “แสตมป์” อภิวัชร์ ยังแต่งเพลง “โอมจงเงย” ออกมาจนโด่งดัง

 

จากที่เมื่อก่อน คนจะจับกลุ่มพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กันอย่างออกรสตอนพักเที่ยง กลับกลายเป็นทุกคนนั่งก้มหน้าอยู่แต่กับจอโทรศัพท์ ไม่พูดคุยกันทั้งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน แต่อันที่จริงอาจจะเปิดกลุ่มแชตลับนินทาคนคนเดียวกันอยู่ก็เป็นได้!

พอมาถึงช่วง COVID-19 ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยถือว่าดีขึ้นมาก จนมีมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ เป็นข่าวดีว่าเราจะกลับมาดำเนินชีวิตกันเป็นปกติได้ในไม่ช้า แต่ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันบ้าง ฉะนั้น Tonkit360 จะขอพูดถึงข้อดีของโลกออนไลน์ในยุค COVID-19 กันบ้าง ซึ่งเป็นโลกออนไลน์ในมุมที่ไม่ได้มีแค่ดราม่า ฉอดกัน และเรื่องชาวบ้านเท่านั้น!

1. อัปเดตข่าวสารได้รวดเร็ว

“ยิ่งรู้เรื่องได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งหาทางรับมือได้ดีเท่านั้น” เป็นคำพูดที่พิสูจน์แล้วว่าจริง การที่เราได้รู้อะไรตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เราได้เตรียมตัว มีเวลาคิดให้รอบคอบ และวางแผนอย่างรัดกุมเพื่อรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การเชื่อเลยในทันทีก็ไม่ใช่เรื่องดี ต้องมีวิจารณญาณในการเสพข่าวด้วยว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ และก็อย่าตื่นตูมเกินเหตุ เพราะจะทำให้เราสติแตกจนทำอะไรไม่ได้เลย

2. สนับสนุนมาตรการห่างกันสักพัก

Social Distancing ถูกนำมาใช้เป็นมาตรการในการตัดวงจรการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะ “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน” ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินกันจนเอียน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าดีทีเดียว กับเพื่อนฝูงที่ต่างต้องหายหน้าไปกักตัว คิดถึงกันมากแต่มาเจอกันไม่ได้ ก็ยังมีโปรแกรมแชตต่าง ๆ ไว้พูดคุยกัน บางคนโหยหาการกินข้าวกับแก๊งเพื่อนมาก ถึงขั้นเปิดกล้องคุยกัน แต่นั่งกินข้าวบ้านใครบ้านมัน ให้หายคิดถึงเลยก็มี

3. สร้างโอกาสดี ๆ ที่มีไม่บ่อย

เมื่อเราต้องห่างกัน กิจกรรมหลายอย่างก็ถูกยกเลิก จะออกไปไหนมาไหนก็ลำบาก หลายคนจึงได้แต่อยู่บ้านนั่ง ๆ นอน ๆ ไม่รู้จะทำอะไร แต่ยังดีที่บางเว็บไซต์เปิดให้ดูหนังได้ฟรี ทั้งที่เดิมต้องสมัครสมาชิก หรือที่ดีกว่านั้นก็คือ มีคอร์สเรียนออนไลน์มากมายเปิดให้ลงเรียนได้ฟรี เราจึงได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากกว่าการดูหนัง และหลังจากหมด COVID-19 แล้ว ก็ยังมีความรู้ติดตัวเอาไปใช้ต่อยอดได้อีกด้วย

4. เห็นการช่วยเหลือกัน

ช่วงที่ COVID-19 กำลังวิกฤติ จะเห็นเลยว่าพลังโซเชียลนั้นทำได้ทุกอย่าง ชาวเน็ตร่วมกันใช้ช่องทางที่มีอยู่ในมือช่วยเหลือผู้อื่น ในลักษณะของการแชร์และบอกต่อ เปิดพื้นที่ในโซเชียลให้คนได้ทำมาหากิน ในเฟสบุ๊กมีเพจ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” “ชาวมหิดลเปิดแผง” เป็นต้น ส่วนในทวิตเตอร์มีแฮชแท็ก #ร้านข้างทางต้องอยู่ข้างกัน ก็ช่วยต่อลมหายใจให้กับคนค้าขายได้มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องต่อไป รวมถึงการช่วยกันระดมจัดหาสิ่งของ อุปกรณ์ต่าง ๆ และเงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

5. แบ่งปันความรู้สึกดี ๆ

ในช่วงที่เหตุการณ์แย่ ข่าวสารมีแต่เรื่องชวนปวดหัว โรคก็ต้องระวัง ปากท้องก็ต้องหาเลี้ยง ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย สุขภาพกายก็แย่ตาม แต่ยังดีที่ยังพอจะมีพื้นที่เล็ก ๆ ในโลกออนไลน์ที่มีคอนเทนต์แนวให้กำลังใจซึ่งกันและกันให้เห็นบ้าง ให้คนได้หลีกหนีเรื่องหนัก ๆ ไปเสพอะไรที่จรรโลงใจได้สักระยะ ให้ได้ยิ้มออกและมีกำลังใจจะสู้ต่อไป แม้คนในโซเชียลจะไม่รู้จักกัน แต่พวกเราก็ไม่ทิ้งกัน และพร้อมจะอยู่ข้างกันจนกว่าสถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook