Google ประกาศรายชื่อ 15 สตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไทย ที่ได้รับการคัดเลือก
Google ประกาศรายชื่อสตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ “Google for Startups Accelerator: Southeast Asia” จำนวน 15 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่ GIZTIX สตาร์ทอัพจากประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 15 สตาร์ทอัพในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ Google ให้ความสำคัญและสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีส่วนช่วยสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้ และในวันนี้สตาร์ทอัพเหล่านั้นมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กันในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัส COVID-19 และร่วมรับมือกับความท้าทายที่หนักหนาที่สุดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข อี-คอมเมิร์ซ การขนส่ง และเทคโนโลยีด้านการเงิน
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Google ได้เปิดตัวโครงการ Google for Startups Accelerator: Southeast Asia ซึ่งเป็นโครงการออนไลน์ระยะเวลา 3 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ได้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และปัญหาด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้ โดยมีทีมสตาร์ทอัพสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 600 ราย และในวันนี้ Google ขอประกาศและร่วมแสดงความยินดีกับ 15 สตาร์ทอัพกลุ่มแรกที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งมีรายชื่อดังนี้
ตลอดระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้านี้ สตาร์ทอัพทั้ง 15 รายที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับคำปรึกษาในการรับมือกับปัญหาที่ท้าทายด้านเทคนิคและธุรกิจจากทีมงานของ Google และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปด้านการออกแบบสินค้า การให้บริการลูกค้า และการพัฒนาความเป็นผู้นำของผู้ก่อตั้งองค์กร
และนี่คือรายชื่อของสตาร์ทอัพทั้ง 15 รายที่ Google พร้อมที่จะช่วยผลักดันไอเดียของพวกเขาไปข้างหน้า และสนับสนุนให้พวกเขาร่วมพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปตลอดทศวรรษหน้าและอีกหลาย ๆ ปีต่อจากนั้น
- Advance (ฟิลิปปินส์) เป็นแพลตฟอร์มเครดิตที่ให้บริการการเบิกค่าจ้างล่วงหน้าให้กับพนักงานในฟิลิปปินส์
- DeafTawk (ปากีสถาน) สร้างแพลตฟอร์มสำหรับบริการการแปลภาษามือเพื่อช่วยลดช่องว่างในการสื่อสาร
- GIZTIX (ประเทศไทย) แพลตฟอร์มขนส่งสินค้าแบบรวมศูนย์เพื่อช่วยลูกค้าขยายธุรกิจและลดต้นทุนในการดำเนินงาน
- Hacktiv8 (อินโดนีเซีย) ช่วยฝึกอบรมนักพัฒนารุ่นใหม่ สนับสนุนพวกเขาในการหางาน และให้บริการเงินกู้เพื่อการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้น
- ai (อินโดนีเซีย) ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Technology) ด้านการสนทนาที่สามารถทำการสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
- MHub (มาเลเซีย) แพลตฟอร์มการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ช่วยให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ง่ายขึ้นด้วยการเชื่อมโยงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นายหน้า และลูกค้าเข้าด้วยกัน
- Riliv (อินโดนีเซีย) พัฒนาแอปพลิเคชันที่ให้คำปรึกษาและการทำสมาธิทางออนไลน์ เพื่อช่วยผู้ใช้ดูแลสุขภาพจิต
- Rumarocket (ฟิลิปปินส์) พัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่นำเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาช่วยองค์กรในการตัดสินใจจ้างงาน
- Sehat Kahani (ปากีสถาน) กำลังพัฒนาเครือข่ายหมอสตรีประจำบ้านเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการแพทย์ในราคาถูกผ่านเทคโนโลยี
- SenzeHub (สิงคโปร์) ออกแบบอุปกรณ์สวมใส่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่คอยตรวจตำแหน่งที่ตั้งของผู้ป่วยและตรวจสอบค่าวัดต่าง ๆ บนร่างกาย รวมถึงภาวะฉุกเฉิน
- ShopLinks (สิงคโปร์) ให้บริการเครื่องมือแก่ลูกค้าที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อโปรโมทสินค้าและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าผ่านระบบดิจิทัล
- Smart Future (สิงคโปร์) แพลตฟอร์มการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และจุดตรวจอาการด้วยตัวเองที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจอาการสุขภาพที่สำคัญต่าง ๆ ได้
- vn (เวียดนาม) แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อยา ชุดปฐมพยาบาล และของใช้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา
- TopCV (เวียดนาม) แพลตฟอร์มหางานที่ทำการเชื่อมโยงผู้ว่าจ้างและผู้หางานได้ดีขึ้น
- Walee (ปากีสถาน) แอปพลิเคชันซื้อขายที่เชื่อมโยงธุรกิจที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์กับผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ที่สนใจร่วมงานกับพวกเขา