5 วิธีเลิกเสพติด “โซเชียลมีเดีย” อย่างจริงจัง

5 วิธีเลิกเสพติด “โซเชียลมีเดีย” อย่างจริงจัง

5 วิธีเลิกเสพติด “โซเชียลมีเดีย” อย่างจริงจัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟังก์ชันการใช้งานของมือถือยุคปัจจุบันล้ำกว่าแต่ก่อนมาก มือถือเครื่องเดียวทำได้เกือบทุกอย่าง ทำใชีวิตประจำวันหลายคนจึงค่อนข้างต้องถือมือถือติดมือตลอดเวลา ว่าง ๆ ก็หยิบขึ้นมาจับ ๆ ไถ ๆ ทุก ๆ 5-10 นาที บางคนก็รู้สึกไปเองว่าโทรศัพท์สั่นจนต้องหยิบขึ้นมาดู นี่เป็นสัญญาณว่า เราเสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้ว

สาเหตุที่ทำให้หลายคนอยากจะเลิกเสพติดโซเชียลมีเดีย ก็เพราะการใช้ชีวิตอยู่ในโลกโซเชียลยากกว่าแต่ก่อนมาก ข่าวสารที่เกิดขึ้นรายวันมีแต่เรื่องชวนหดหู่ ผู้คนชอบแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดโดยที่ไม่แคร์ว่าจะเป็นพิษกับคนที่เข้ามาอ่าน ตามติดชีวิตคนอื่นมากเกินไปแล้วเอามาเทียบกับตัวเอง เสพติดความดราม่าแบบไม่หลับไม่นอน ละเลยคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ รวมถึงหมดเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ กลายเป็นปัญหาที่กระทบการทำงานและการใช้ชีวิต

istock-1204863959

ถ้าตั้งปณิธานไว้แล้วว่าต้องเลิกเสพติดโซเชียลให้ได้เสียที Tonkit360 จึงมีวิธีดี ๆ มาแนะนำ ซึ่งถ้าเราทำได้ตามนี้ รับรองว่าเลิกติดโซเชียลมีเดียแน่นอน

1. หักดิบขั้นสุด

ถ้าใจเด็ดพอจะลบแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็นสำหรับเรื่องงานได้ล่ะก็ ลบทิ้งไปเลยก็ได้ เพราะการที่เราไม่มีมันในมือถือ เราก็จะไม่สามารถใช้งานมันได้อีก แต่ถ้าไม่อยากลบก็ให้ log out ทุกครั้งหลังใช้งาน และไม่ตั้งค่าให้เครื่องจำรหัสผ่าน วิธีนี้จะช่วยให้เราลดการหยิบมือถือขึ้นมาเช็กนั่นนี่ตลอดเวลาได้ เพราะเมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาก็จะพบว่าแอปฯ ไม่ได้เปิด ถ้าขี้เกียจจะ log in บ่อย ๆ ก็จะลดจะลดการใช้งานไปได้เอง

2. ปิดการแจ้งเตือน

ปัญหาการติดโซเชียล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสพติดที่จะอัปเดตความเป็นไปของโลกตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าอยากจะลดการใช้โซเชียลมีเดีย ก็ให้ปิดการแจ้งเตือนทั้งสั่นทั้งเสียงในทุกแอปฯ ถ้ากลัวพลาดการติดต่อสำคัญ ก็ให้เว้นเวลาเช็กโทรศัพท์ให้นานขึ้น จากทุก 5 นาที เป็นครึ่งชั่วโมง พอเริ่มชินก็เป็นชั่วโมงแทน หรือทางที่ดีจะปิดเครื่องไปเลยก็ได้ จะได้ไม่เห็น ไม่รับ ไม่รู้ ไม่ใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

3. กำหนดเวลาการใช้งาน

ถ้ามั่นใจว่าสามารถควบคุมตนเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องลบแอปฯ ทิ้ง หรือปิดการแจ้งเตือนแบบสั่น เพียงแค่แบ่งเวลาการใช้งานให้ชัดเจน หมดเวลาคือวางแล้วกลับไปทำงาน หรือจะโหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยจำกัดการใช้งานโซเชียลมีเดียมาใช้ บางแอปฯ จะแจ้งเตือนเมื่อครบเวลาการใช้งานว่าต้องหยุด แต่บางแอปฯ จะปิดการใช้งานของแอปฯ โซเชียล แล้วล็อกเครื่องเลย จะเปิดอะไรก็ไม่ได้ โทรออกได้อย่างเดียว เป็นการกลับสู่ฟังก์ชันของโทรศัพท์ที่แท้จริง

4. จัดการกับอินเทอร์เน็ต

ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต เราก็เล่นโซเชียลมีเดียไม่ได้จริงไหม? เพราะถ้าไม่อยากจะลบ ๆ โหลด ๆ แอปฯ ไม่อยาก log in-log out บ่อย ๆ ไม่อยากปิดเครื่อง ก็ปิดอินเทอร์เน็ตแทน เมื่อไม่อยากให้เน็ตหมดไว เราก็จะปิดเน็ตทุกครั้งหลังใช้งาน และพยายามจะใช้ให้น้อยที่สุด  ถ้ากลัวจะตบะแตก ก็เปลี่ยนแพ็กเกจเน็ตเป็นแบบจำกัดการใช้งาน ซึ่งการปิดสัญญาณเน็ตดีจะดีตรงที่แค่เปิดเน็ตกลับมา แจ้งเตือนก็เด้งขึ้นมาด้วย ไม่พลาดการติดต่ออะไร

5. หากิจกรรมอื่นทำ

ก่อนหน้าที่โซเชียลมีเดียจะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากขนาดนี้ เราเคยอยู่กันได้โดยไม่มีโซเชียล เพราะเราต่างก็มีกิจกรรมทำขณะว่างอยู่แล้ว บางคนเล่นเกมกด บางคนฟังเพลงจากเครื่องเล่น mp3 บางคนอ่านหนังสือการ์ตูน ฉะนั้น ลองเอากิจกรรมที่ว่านั่นกลับมาทำดู หรือจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องใช้มือถือ จะช่วยดึงความสนใจจากหน้าจอไปได้ ทำไปทำมา เราจะลดการใช้มือถือได้เอง ซึ่งวิธีนี้ทำให้บางคนถึงขั้นตัดขาดจากโลกโซเชียลไปเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook