หัวเว่ย เปิดตัวโซลูชัน AirPON สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์
หัวเว่ย ร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม HKT จากฮ่องกง และ Globe จากฟิลิปปินส์ จัดงานแถลงข่าวออนไลน์เปิดตัวโซลูชัน AirPON พร้อมแนะนำนวัตกรรมด้านแอปพลิเคชัน โดยโซลูชันดังกล่าวจะนำไซต์โครงข่ายไร้สายที่มีอยู่แล้ว มาใช้เพื่อสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบ (FFN) สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่าจากการใช้ต้นทุนต่ำ
เมื่อผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สู่การให้บริการโทรคมนาคมเต็มรูปแบบ ก็จะเผชิญกับความท้าทายในการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงแบบส่งตรงถึงบ้าน (FTTH - Fiber to the Home)
โดยแต่เดิม ผู้ประกอบการต้องติดตั้งเทอร์มินัลสำหรับสายออพติคัล (OLT - Optical Line Terminal) จากห้องอุปกรณ์ สำนักงานกลาง และต้องวางสายเคเบิลออพติคัลขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้
วิธีนี้จำเป็นต้องใช้การลงทุนเบื้องต้นมูลค่าสูงและต้องแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนเรื่องอื่น ๆ เช่น การขอสิทธิผ่านทาง (ROW – Right of Way) เป็นต้น ดังนั้นการก่อสร้างโครงข่ายในลักษณะนี้จึงกินเวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง และทำให้การให้บริการเป็นไปได้อย่างล่าช้า
“โซลูชัน AirPON จะช่วยลดระยะการวางสายออพติคัลระหว่างเทอร์มินัลและผู้ใช้ จาก 3 กิโลเมตร เป็นต่ำกว่า 300 เมตร จึงเสริมประสิทธิภาพในการวางสายออพติคัลและลดระยะเวลาผลตอบแทนของการลงทุน (ROI) ให้เหลือเพียงไม่เกิน 3 ปี ผู้ประกอบการจึงสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นจากการสร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบ” นายแกรี่ ลู่ ประธานฝ่ายการตลาดโครงข่ายและการขายโซลูชันของหัวเว่ย กล่าว
“HKT หวังว่าจะสามารถนำโซลูชันในลักษณะนี้มาใช้กับพื้นที่หมู่บ้านหรืออาคารที่ไม่สูงมากนักในเขตเมือง เพื่อขยายการครอบคลุมของสัญญาณอัลตร้าบรอดแบนด์ AirPON ทำให้เราสามารถติดตั้งอุปกรณ์แบบ PON บนชั้นดาดฟ้าของอาคาร ที่สูงไม่มากนักในฮ่องกงได้เป็นอย่างดี” นายปีเตอร์ ลัม กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของ HKT จากฮ่องกงกล่าว
หลังจากเปิดตัวโซลูชัน AirPON ไปเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงลอนดอน ผู้ให้บริการด้านโครงข่ายทั่วโลกกว่า 45 รายได้นำโซลูชันนี้มาใช้ในการก่อสร้างโครงข่าย โซลูชัน AirPON ประกอบด้วย OptiXaccess series Blade OLTs, Digital QuickODN (DQ ODN), และ OptiXstar series eAI ONTs ของหัวเว่ย
โดยโซลูชันดังกล่าวสามารถนำไซต์โครงข่ายเดิมที่มีอยู่แล้วมาใช้สร้างโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบได้โดยมีจุดเด่นในด้านที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ Blade OLTs กลางแจ้งได้บนเสาไฟฟ้าหรือเสาไซต์โครงข่ายที่มีอยู่แล้ว
สามารถบริหารจัดการระบบในรูปแบบดิจิทัลที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการจัดการการเชื่อมต่อ และสามารถทำการก่อสร้างขนานควบคู่ไปพร้อมกันได้ โดยไม่ต้องทำการประสานสายใยแก้วนำแสง
นอกจากนี้ ยังเปิดให้ผู้ให้บริการสามารถจัดช่องเฉพาะสำหรับการรบริการแบบ VIP ได้ เช่น การศึกษาออนไลน์ หรือการให้บริการเกม จะสร้างรายได้เพิ่มเติมจากรายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าหนึ่งคน (ARPU) และเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ให้ดีขึ้น
Fixed-Mobile Convergence (FMC) ถือเป็นเทรนด์ที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน และโครงข่ายแบบ Fixed network ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการให้บริการแบบเต็มรูปแบบ ในขณะเดียวกัน การจัดทำโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบก็กำลังขยายตัวไปทั่วโลก หัวเว่ย จึงมุ่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงและส่งมอบโซลูชันที่ยั่งยืนและทันสมัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จต่อไป