สงครามเทคโนโลยีอวกาศอเมริกา-จีน จุดเปลี่ยนขั้ว “มหาอำนาจ”?
หากใครได้ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงนี้ น่าจะได้เห็นข่าวข่าวหนึ่งผ่านตากันมาบ้าง เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ ข่าวความสำเร็จของจีน ในการส่ง Chang’e 5 (嫦娥五号) ไปสำรวจดวงจันทร์
ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในวันที่ 3 ธ.ค. 2020 เวลา 23.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (22.10 น. ตามเวลาประเทศไทย) ยาน Chang’e 5 ขึ้นบินจากพื้นผิวดวงจันทร์ หลังจากที่เครื่องยนต์ 3000-N ทำงานประมาณ 6 นาที ยานอวกาศที่เก็บเอาดินบนดวงจันทร์ก็ถูกส่งไปยังวงโคจรรอบดวงจันทร์ที่กำหนดไว้ได้สำเร็จ ซึ่งนี่เป็นความสำเร็จครั้งแรกของจีนในการขึ้นบินนอกโลก
อันที่จริงจีนส่งยานอวกาศขึ้นบินไปหลายลำแล้ว โดย Chang’e 5 นับเป็นยานอวกาศลำที่ 3 ที่จีนส่งไปนอกโลก มีภารกิจคือ “สำรวจดวงจันทร์และเก็บตัวอย่างหินและดินกลับสู่โลก” ซึ่งนำ Ascender และ Lander ลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์ในลักษณะ Soft Landing และเก็บตัวอย่างหินและดินน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ห่อหุ้มแบบสุญญากาศกลับมา ใช้เวลาทั้งสิ้น 19 ชั่วโมงหลักลงจอด และทุกขั้นตอนเป็นการทำงานที่ปราศจากการสั่งการจากส่วนควบคุมภาคพื้นดินบนโลก
ความสำเร็จนี้ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ได้เผยแพร่ภาพธงชาติจีนที่ถูกคลี่กางและปักลงบนดวงจันทร์ ภาพถ่ายนี้ถูกถ่ายโดยกล้องพาโนรามาที่ติดตั้งบนโมดูลพุ่งขึ้น-ลงจอดที่ทำงานแบบประสานกันของยาน นี่จึงเป็นการประกาศความสำเร็จของจีนให้โลกรู้ เพราะธงชาติจีนที่ปักลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นธงเนื้อผ้าแท้เหมือนที่ใช้งานทั่วไปบนโลก ลักษณะเป็นธงสีแดงและมีรูปดาว 5 ดวงสีเหลือง ขนาด 200×90 เซนติเมตร ถึงนี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนปักธงลงบนดวงจันทร์ (เคยปักมาแล้ว 2 ครั้ง ในภารกิจ Chang’e 3 และ Chang’e 4) แต่เป็นครั้งแรกที่ปักธงผ้าที่ใช้จริง
จากความสำเร็จในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการประกาศแสนยานุภาพอีกขั้นของจีน ว่าจีนอาจจะกลายเป็นผู้ชนะในสงครามเทคโนโลยีอวกาศก็เป็นได้ ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลง มหาอำนาจของโลกอาจจะเปลี่ยนขั้วจากสหรัฐอเมริกามาเป็นจีน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจโลกมากว่าครึ่งศตวรรษ กำลังถูกท้าทายและสั่นคลอนด้วยจีน
จุดเปลี่ยนความเป็นมหาอำนาจของจีน
จุดเปลี่ยนความยิ่งใหญ่ของจีน เกิดขึ้นในปี 1978 ภายใต้การนำของอดีตผู้นำประเทศที่ชื่อว่า “เติ้ง เสี่ยวผิง” เมื่อจีนมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนของต่างชาติ ที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงปี 1978-2013 GDP ของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงถึงปีละ 9.5 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายถึงจีนสามารถยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชากรเขาได้ ชนชั้นกลางสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐี ส่วนอีกหลายล้านคนก็หลุดพ้นความยากจน ก็เพราะว่าจีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2010 จะยังไล่ตามก็แค่สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ไม่ได้ยากเท่าไรแล้ว ณ สถานการณ์ตอนนี้
และไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจที่จีนกำลังพยายามจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่จีนก็ท้าทายเบอร์หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาในด้านเทคโนโลยีเหมือนกัน อะไรที่อเมริกามี จีนก็มี อะไรที่อเมริกาทำได้ จีนก็ทำได้ ก็อย่างที่เห็นว่าจีนประกาศความสำเร็จอย่างไรกับโครงการ Chang’e 5
ทำให้คำถามที่จะเกิดขึ้นในตอนนี้คงไม่ใช่ว่า “จีน จะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจของโลกได้หรือไม่” แต่ต้องถามว่า “จีน จะขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกในอีกกี่ปีข้างหน้า” ต่างหาก
เดิมสงครามเทคโนโลยีเป็นเรื่องของสหรัฐอเมริกา-สหภาพโซเวียต
ช่วงสงครามเย็น เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจของโลก 2 ประเทศในขณะนั้น คือ สหรัฐอเมริกา ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และสหภาพโซเวียต (ชื่อในขณะนั้น) มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ สงครามนี้เริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งสงครามเย็นนี้เป็นภาวะการทำสงครามด้วยการช่วงชิงทางการเมือง เศรษฐกิจ การประกาศแสนยานุภาพของ 2 ประเทศ ที่ต่างก็พยายามจะข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามโดยที่ไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่สนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนทำสงครามแทน ในลักษณะ “สงครามตัวแทน” หรือจะเรียกว่าเป็นสงครามเชิงจิตวิทยา ตั้งแต่ปี 1945 เรื่อยมาถึงประมาณปี 1991 จนสิ้นสุดอย่างเป็นทางการจากเหตุการณ์การล่มสลายของสหภาพโซเวียต
อย่างไรก็ดี 2 ประเทศนี้ไม่ได้โจมตีกันด้วยเรื่องกองกำลังทหาร การต่อสู้เพื่อครองความเป็นมหาอำนาจของโลกเท่านั้น แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม จารกรรมข้อมูลความมั่นคง พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และการแข่งขันทางอวกาศ
ในช่วงนั้น 2 ประเทศได้แข่งขันกันคิดค้นดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสหภาพโซเวียตตอบรับคำท้าทายของสหรัฐอเมริกาที่จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ จึงเร่งพัฒนาความสามารถทางอวกาศของตน จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการส่งดาวเทียม Sputnik I (สปุตนิก 1) ขึ้นไปโคจรในอวกาศ แม้ว่าจะโคจรอยู่รอบโลกได้ไม่นานก็ตาม
สหภาพโซเวียตก็ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ไม่กี่ปีต่อมา สหภาพโซเวียตก็ส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปอวกาศได้สำเร็จและเดินทางกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมนุษย์ผู้นั้นคือ ยูริ กาการิน ด้วยยานวอสตอค 1 (Vostok I) และอีกครั้งคือ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลก วาเลนตีนา เตเรชโควา ด้วยยานวอสตอค 6 (Vostok VI)
เมื่อสหภาพโซเวียตทำสำเร็จ สหรัฐอเมริกาก็ไม่น้อยหน้า ส่งนักบินอวกาศคนแรกขึ้นไปหลังจากยูริ กาการินเพียงไม่กี่วัน ซึ่งก็คือ อลัน เชปเพิร์ด ด้วยจรวดขับดันเรดสโตน (Redstone) และประสบความสำเร็จอีกครั้งในการส่งมนุษย์กลุ่มแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ (ไม่ใช่เพียงออกไปโคจรนอกโลก) ด้วยยานอะพอลโล 11 (Apollo XI) ประกอบด้วยนีล อาร์มสตรอง, เอดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลินส์ โดยที่นีล อาร์มสตรองเป็นมนุษย์คนแรกที่เท้าเหยียบลงบนดวงจันทร์
สงครามเทคโนโลยีอวกาศเปลี่ยนขั้วมาเป็นสหรัฐอเมริกา-จีน
แม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว แต่รัสเซียก็ยังพยายามคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกาอยู่เนือง ๆ แต่ ณ เวลานี้จีนมาแรงกว่ามาก จากการที่จีนพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเป็นผู้นำแห่งเอเชีย และจะเป็นอภิมหาอำนาจของโลก ในช่วงสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตไม่ได้รบกันในอวกาศ แต่เป็นการพยายามส่งดาวเทียมขึ้นไปสอดแนมกันและกัน และแข่งเรื่องเทคโนโลยีว่าใครจะล้ำหน้าได้มากกว่ากันในการพิชิตอวกาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตผลัดกันส่งโครงการสำรวจอวกาศไปนอกโลกในระยะเวลาที่ห่างกันไม่มาก
แต่ในเมื่อตอนนี้จีนได้ขยับขึ้นมาจนแซงหน้ารัสเซีย ด้วยเหตุการณ์ในปี 2007 จีนได้ทดสอบขีปนาวุธโจมตีดาวเทียมพยากรณ์สภาพอากาศของตัวเองที่โคจรสูงจากพื้นโลก 500 ไมล์ นั่นทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มกังวลถึงภัยคุกคามทางอวกาศจากจีน เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริการอาจไม่ได้มองจีนไม่ได้เป็นหนึ่งในคู่แข่ง
ซึ่งความสามารถด้านอวกาศของจีนเด่นชัดมากขึ้นอีก เมื่อจีนนำยานสำรวจ Chang’e 4 ลงจอดบริเวณด้านมืดของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2019 ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกทำได้มาก่อน จึงนับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์ และเปิดตัวจีนลงสู่สนามการแข่งขันอย่างสง่างาม แน่นอนว่าความทะเยอทะยานของจีนจะไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะจีนต้องการเป็นมหาอำนาจของโลก
ความสำเร็จครั้งนี้ของจีน แม้แต่รัสเซียก็ยังชื่นชม โดย Mikhail Kornienko และ Mark Serov นักบินอวกาศชาวรัสเซีย Mikhail Kornienko ได้กล่าวถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ Chang’e 5 ว่ากำลังทำสถิติใหม่ด้านการบินอวกาศหลายด้าน อย่างการสุ่มเก็บตัวอย่างอัตโนมัติครั้งแรกจากพื้นผิวดวงจันทร์ และการบินขึ้น-ลงครั้งแรกในอวกาศ ซึ่งมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การบินอวกาศของมนุษย์ ส่วน Mark Serov กล่าวว่า โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนนี้ เป็นการสร้างคุณูปการต่อการสำรวจอวกาศของมนุษย์ และคาดหวังว่าภายภาคหน้าโลกจะได้ประโยชน์จากโครงการอวกาศของจีน
แข่งขันกันไปทำไม แล้วโลกได้อะไร
เป้าหมายหลักของการแข่งขันเทคโนโลยีอวกาศครั้งนี้ ไม่ใช่ภารกิจพิชิตอวกาศอย่างที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเคยทำเมื่อครั้งสงครามเย็น แต่เป็นการใช้อวกาศเป็นสมรภูมิรบเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและการทหาร หนึ่งในปัจจัยต้นเหตุเพราะรอบโลกในขณะนี้ มีดาวเทียมของหลาย ๆ ประเทศโคจรอยู่ (เพื่อประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของประเทศ) แต่เมื่อมีความพยายามช่วงชิงความเป็นใหญ่ของ (อย่างน้อย ๆ) 3 ประเทศ รัฐบาลแต่ละประเทศจึงเริ่มกังวลว่าโครงการอวกาศของตัวเองจะถูกโจมตี และกลายเป็นเหยื่อสงคราม
3 ประเทศที่ว่าที่เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังแข่งขันก็หนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย เพื่อครองผลประโยชน์จากอวกาศ โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายวิเคราะห์ตรงกันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีนไม่ได้มีไว้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอย่างที่กล่าวอ้าง แต่มันมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองและทางทหารแฝงต่างหาก ทำให้สหรัฐอเมริกาก็เริ่มที่จะหวั่นว่าจีนจะแซงหน้า ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้ญี่ปุ่น และอินเดีย มหาอำนาจอันดับ 4 และ 5 ต้องออกมาเคลื่อนไหวบ้าง จากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์จึงเปลี่ยนเป็นจุดมุ่งหมายทางความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติแทน
แน่นอนว่าเมื่อประเทศเหล่านี้มีองค์ความรู้ที่พัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ ข้อดีอาจจะทำให้ประเทศอื่น ๆ หวังพึ่งเทคโนโลยีล้ำ ๆ จากประเทศเหล่านี้ได้ ดังเช่นที่เราใช้ Facebook จากสหรัฐอเมริกา หรืออุปกรณ์ทันสมัยที่ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์มนุษย์ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายที่สุดจากค่ายมือ Xiaomi ของจีน ที่ขยันสรรหาทำอุปกรณ์แปลก ๆ มาให้ประชากรโลกได้ใช้ แต่สิ่งที่รัฐบาลบางประเทศคาดไม่ถึงก็คือ เทคโนโลยีที่กำลังชื่นชม อาจทำให้ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำด้านความมั่นคงได้
เพราะเทคโนโลยีของพวกเขาไปไกลมากแล้ว ถ้าประเทศเล็ก ๆ ยังไม่ตื่นรู้ ตื่นตัว หรือปรับตัว ย่อมตามเกมประเทศมหาอำนาจไม่ทันแน่นอน และที่สำคัญ ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อในเกมชิงความเป็นใหญ่โดยไม่รู้ตัวด้วย
สงครามอวกาศไม่ใช่แค่เรื่องระดับประเทศ แต่มหาเศรษฐีก็แข่งกันแล้ว
ณ ขณะนี้ การแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีทางอวกาศไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศมหาอำนาจแข่งกัน เพราะคนธรรมดา (ที่มีเงิน) ก็ลงสนามแข่งนี้มาแล้วด้วย ซึ่งก็คือ Elon Musk เจ้าของค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า TESLA, Jeff Bezos เจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Amazon และ Richard Branson เจ้าของสายการบิน Virgin
มหาเศรษฐีทั้ง 3 มีโครงการขนส่งอวกาศเป็นของตนเอง โดย Elon Musk มี Space X, Jeff Bezos มี Blue Origin และ Richard Branson ก็มี Virgin Galactic จึงเป็นที่จับตามองของโลก ว่าความทะเยอทะยานนี้ใครจะเข้าใกล้ความจริงที่สุด
Jeff Bezos เป็นมหาเศรษฐีคนแรกที่นำโครงการอวกาศส่วนตัวที่มีชื่อว่า Blue Origin ออกเปิดตัวในปี 2000 โดยกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางไปอวกาศ หลังจากที่ส่งยานอวกาศไร้คนขับ New Shepard ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จในปี 2015
Elon Musk เป็นมหาเศรษฐีที่สร้าง Space X หลังจาก Jeff Bezos เพียง 2 ปีเท่านั้น แถมยังประกาศว่า เป้าหมายของเขาคือการไปดาวอังคารให้ได้ในปี 2022 แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2019 เพียงปีเดียว เขาสามารถเปิดตัวจรวดได้ถึง 5 ลูก และยังได้ทำสัญญากับ NASA แล้วด้วย
ส่วน Richard Branson ก็มีแนวคิดเรื่องเที่ยวบินเชิงพาณิชย์สำหรับการเดินทางในอวกาศ โดยโครงการ Virgin Galactic ของเขา ที่สำคัญ โครงการนี้ก็ส่งลูกเรือไปแล้ว โดยใช้เวลาในการเดินทางเพียง 15 นาที
สิ่งที่มหาเศรษฐีทั้ง 3 คนนี้ทำดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ เท่ากับลบคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่มนุษย์จะขึ้นไปเที่ยวอวกาศ ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ พวกเราอาจไปเที่ยวอวกาศกันได้เหมือนไปต่างจังหวัด หรือจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่บนอวกาศกันได้เลยก็ได้ จินตนาการนี้ก็อาจจะไม่ใช่เพียงภาพร่างอีกต่อไปแล้ว
ข้อมูลจาก itv, China Face, Huanqin