มีหรือยัง? 5 แอปฯ ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 ในมือถือ

มีหรือยัง? 5 แอปฯ ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 ในมือถือ

มีหรือยัง? 5 แอปฯ ประเมินความเสี่ยงโควิด-19 ในมือถือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นาทีนี้ไม่ว่าใครก็กลัวว่าตนเองจะติด COVID-19 (โควิด-19) กันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

 

หากไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 หรือไม่ Tonkit360 ขอแนะนำ 5 แอปพลิเคชันที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้นได้ นอกเหนือจากการสังเกตตัวเองว่ามีอาการใด ๆ เข้าข่ายหรือไม่

หมอชนะ

แอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น เพื่อประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อของแต่ละคน และยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยง คัดกรองโรคได้ทันที

หมอชนะ เป็นแอปฯ ที่มีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบถคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล จึงไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหลแต่อย่างใด

สแกน QR Code เพื่อใช้งาน วิธีการใช้งาน หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ หมอชนะ และลงทะเบียนแล้ว

1.กด “เริ่มประเมิน”

2.บอกอาการของคุณว่ามีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ 

มีไข้สูง 37.5 องศาขึ้นไป / ไอ / เจ็บคอ / เหนื่อยหอบผิดปกติ / อาเจียน / ไม่มีอาการใดๆ ข้างต้น

3.บอกประวัติการเดินทางจากต่างประเทศ

4.การใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง

มีผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นไข้หวัดพร้อมกันมากกว่า 5 คน / มีบุคคลในบ้านเดินทางไปต่างประเทศ / อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 (ใกล้กว่า 1 เมตร นานเกิน 5 นาที) / ไม่มีประวัติข้างต้น

5.มีอาชีพที่ใกล้ชิดชาวต่างชาติหรือไม่

เมื่อตอบคำถามครบทุกข้อ ระบบจะประเมินความเสี่ยง โดยแสดงผลการประเมินออกมาเป็น QR Code ที่มีสีต่างกัน 4 ระดับ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง

ภาพจาก PRD กรมประชาสัมพันธ์

สีเขียว หมายถึงความเสี่ยงต่ำมาก ใช้ชีวิตตามปกติ แต่อย่าลืมทำตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

สีเหลือง หมายถึงความเสี่ยงต่ำ ใช้ชีวิตตามปกติ แต่อย่าลืมทำตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด 

สีส้ม หมายถึงความเสี่ยงปานกลาง กักตัวอยู่กับบ้านให้ครบ 14 วัน โดยเฝ้าระวังสำรวจอาการตัวเอง หากมีอาการควรรีบไปรพ.ทันที

สีแดง หมายถึงความเสี่ยงสูงมาก คุณเป็นคนมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการป่วย และมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีประวัติใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มนี้ คุณจะต้องรีบไปรพ.ทันที

QR Code ใช้เมื่อมีอาการป่วยต้องไปรพ. โดยให้เปิด QR Code ให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองสแกนก่อนเข้ารับการรักษา หรือหากมีความจำเป็นต้องไปสถานที่ต่าง ๆ อย่าลืมเช็กอินด้วยการสแกน QR Code ในจุดที่จัดไว้ให้ 

Away Covid-19

สำหรับผู้ที่ใช้งาน LINE เพื่อติดต่อพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูงอยู่แล้ว แอปฯที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมาก คือ Away Covid-19 ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพ MAPEDIA ของคนไทยได้พัฒนาแอปฯ ดังกล่าวทางแพลตฟอร์มของ LINE  เพื่อเตือนประชาชนให้ระวังพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศพื้นที่การแพร่ระบาด และมีการอัพเดทข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบถึงการแพร่ระบาดโควิด และจุดเสี่ยง หรือการเกิดโควิดในพื้นที่ต่าง ๆ ทุกชั่วโมง

สแกน QR Code เพื่อใช้งาน วิธีการใช้งาน หลังจากเพิ่มเพื่อน @AWAYCOVID19 ใน LINE แล้ว

1.กดอนุญาตให้ใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์ขณะที่เปิดใช้งานแอปฯ ได้

2.กด “เตือนก่อนเข้าพื้นที่มีเคส” ซึ่งจะทำให้รู้ทันทีว่าตำแหน่งที่เราอยู่มีจำนวนเคสผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเท่าไร และยังสามารถใช้บันทึกเส้นทางได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องออกจากบ้าน 

3.กด “สถิติผู้ติดเชื้อในประเทศไทย” เพื่อดูสถิติผู้ป่วยโควิด-19 เป็นข้อมูลอัพเดทรายวันตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

4.กด “ค้นหาสถานพยาบาล” เพื่อค้นหาสถานรับตรวจเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยาที่ใกล้ที่สุด โดยสามารถนำทางไปยังสถานที่นั้น ๆ ได้

clicknic

แอปพลิเคชันสำหรับการคัดกรองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านทางวิดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ โดยเป็นความร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค ซึ่งหากพบความเสี่ยงสามารถประสานเพื่อแนะนำการเข้าตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ทันที

วิธีการใช้งาน หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ clicknic แล้ว

1.กดปุ่มคัดกรองโควิด-19 เพื่อตอบชุดคำถามจนครบ

2.ปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพื่อคัดกรองผ่านระบบวิดีโอคอล

3.ในการประเมินจะแยกความเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สูง ปานกลาง ต่ำ หากมีความเสี่ยงสูงเจ้าหน้าที่จะประสานงานเรื่องการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงต่ำ จะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว

4.มีการติดตามผลต่อเนื่อง กรณีกลับมาดูอาการที่บ้านได้ด้วยระบบเทเลเมดิซีน

5.หากพบผลบวก หรือติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับการรักษาค่อที่โรงพยาบาลทันที

ใกล้มือหมอ

แอปพลิเคชันโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สามารถเช็กอาการของโรคโควิด-19 ได้หากสงสัยว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

โดยแอปฯ ใกล้มือหมอจะแสดงผลของโรคที่มีความเสี่ยง 3 อันดับแรก มีความแม่นยำประมาณ 70-80% ประชาชนทั่วไปสามารถนำข้อมูลความรู้ของโรคนั้นมาใช้ดูแลสุขภาพของตนเองในเบื้องต้น และไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปได้

วิธีการใช้งาน หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ ใกล้มือหมอ และลงทะเบียนแล้ว

1.สำหรับประชาชนทั่วไป จะมีเมนูการใช้งานแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การเช็กอาการจากรูป, ค้นหาข้อมูลด้วยชื่อโรค หรือค้นหาข้อมูลด้วยอาการ

2.หลังจากเลือกอาการจนครบ ระบบของแอปฯ จะประมวลอาการและแสดงผลของโรคที่มีแนวโน้มความเสี่ยง 3 อันดับแรก โดยแบ่งเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง โรคที่มีความเสี่ยงปานกลาง และโรคที่มีความเสี่ยงน้อย

3.แอปฯ จะแนะนำแนวทางในการดูแลตนเองเบื้องต้น

4.สามารถค้นหาโรงพยาบาลที่สามารถตรวจเชื้อ PCR ของโควิด-19 หรือโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงได้

DDC-Care

แอปพลิเคชันที่ใช้ในการติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องกักตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลสุขภาพที่ได้จากระบบ เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการ

แอปฯ ดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ใช้งานแอปฯ DDC-Care แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

1.หากเป็นผู้ที่มาตรวจที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง จะได้รับคำแนะนำให้ติดตั้งแอปฯ DDC-Care

2.หากมีผู้ป่วยเดินทางเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาลและผลตรวจออกเป็นบวก กลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องได้รับการติดตั้งแอปฯ DDC-Care

วิธีการใช้งาน หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ DDC-Care และลงทะเบียนแล้ว

1.เมื่อลงทะเบียนแล้ว กดอนุญาตให้แอปฯ เข้าถึงตำแหน่งปัจจุบันได้

2.กด “อนุญาตการแจ้งเตือน” เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลในการยืนยันการเฝ้าระวังตนเองรายวัน

3.ใส่ข้อมูลส่วนตัว (บัตรประชาชน หรือหมายเลขพาสปอร์ต)

4.ระบุพิกัดที่อยู่ หรือสถานที่ที่ใช้ในการกักตนเอง

5.รายงานสุขภาพประจำวันบนแอปฯ

6.ตอบคำถามในแบบสอบถามคัดกรองสุขภาพตนเองรายวัน

7.กดส่งข้อมูล จากนั้น DDC-Care จะวิเคราะห์ความเสี่ยง และแสดงคำแนะนำจากแพทย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook