เผย 6 เทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับปี 2564 และในอนาคต

เผย 6 เทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับปี 2564 และในอนาคต

เผย 6 เทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับปี 2564 และในอนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากสถานการณ์วิกฤติและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาหลายเดือนในปี 2563 ทำให้เราเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากต่อเกือบทุกแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่เรื่องของสุขภาพ การศึกษา ตลอดจนถึงการทำงาน และความบันเทิง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นที่พึ่งสำหรับหลายล้านคน แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

และนั่นคือเหตุผลที่เราสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย ระบบคลาวด์ ระบบรักษาความปลอดภัย เทคโนโลยีสำหรับการทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิต และการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงแพร่ระบาด

แม้ว่าตอนนี้เรายังคงเผชิญกับความยากลำบาก แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดผ่านพ้นไป เราจะก้าวเข้าสู่โลกที่ดีกว่าอย่างแน่นอน และต่อไปนี้คือเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งจะนำพาเราสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นในปี 2564

5G และ Wi-Fi 6 ช่วยลดช่องว่างดิจิทัล

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เรามองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยทุกวันนี้ ประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จึงขาดโอกาสทางการศึกษา ธุรกิจ และการรักษาพยาบาล และในเกือบทุกประเทศ ปัญหาช่องว่างดิจิทัล (Digital Divide) ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนในชนบทและผู้ยากไร้

เทคโนโลยีไร้สายรุ่นอนาคต รวมถึง 5G และ Wi-Fi 6 จะช่วยลดปัญหาช่องว่างดิจิทัล

เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านแบนด์วิธ ความเร็ว และการหน่วงเวลา และเข้าถึงพื้นที่ที่การเชื่อมต่อไฟเบอร์มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น พื้นที่ชนบท

บุคลากรที่ทำงานนอกสถานที่ บริการสาธารณสุขทางไกล ภาคการผลิต และการศึกษา จะได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้าจากระบบไร้สายรุ่นใหม่นี้เช่นเดียวกัน  เราเชื่อว่าการเชื่อมต่อไร้สายที่มีอยู่ในทุกๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโต การสร้างสรรค์นวัตกรรม และมอบโอกาสให้แก่ผู้คนนับล้านที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

เซ็นเซอร์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายและมีบทบาทสำคัญ

เราได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับศักยภาพของ Internet of Things ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อไม่นานมานี้ การพบกันของนวัตกรรมที่ก้าวล้ำ เช่น เทคโนโลยีเครือข่ายขั้นสูง ระบบไร้สายรุ่นอนาคต เทคโนโลยี AI และอื่นๆ ทำให้วิสัยทัศน์ในเรื่องนี้กลายเป็นความจริง  ยิ่งไปกว่านั้น เซ็นเซอร์อัจฉริยะที่มีราคาถูกจะถูกติดตั้งใช้งานในทุกๆ ที่ และเราจะสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกของเรา เครื่องจักรต่างๆ และผู้คนทั่วโลกในรูปแบบที่แปลกใหม่

สถานที่ทำงานคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  ข้อมูลเชิงลึกที่กลั่นกรองจากข้อมูลดิบที่ได้รับจากเซ็นเซอร์จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อสุขภาพ และเมื่อผนวกรวมเข้ากับ Wi-Fi และเทคโนโลยีการระบุตำแหน่งที่ตั้ง และเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันอย่างเช่น Webex ก็จะสามารถระบุพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นมากเกินไป หรือพื้นที่ที่มีการใช้งานน้อยเกินไป ทั้งยังสามารถตรวจสอบควบคุมสภาวะต่างๆ เช่น อุณหภูมิห้อง ความชื้น คุณภาพของอากาศ และแสงสว่าง

อย่างไรก็ดี เซ็นเซอร์มีศักยภาพที่มากกว่านั้น  ตัวอย่างเช่น เซ็นเซอร์ที่ใช้ในการแข่งกีฬาจะแจ้งเตือนเกี่ยวกับการชนกระแทกของนักกีฬา และมีเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับความเหนื่อยล้าของพนักงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่อาจเป็นอันตราย

ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกเก็บรวบรวมและแปรเปลี่ยนเป็นข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ที่สามารถนำไปใช้งานได้ในทางปฏิบัติ โดย AI จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้เราตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

ระบบรักษาความปลอดภัยที่เรียบง่าย แข็งแกร่ง และไม่ต้องใช้รหัสผ่าน

ระบบคลาวด์และโมบิลิตี้มีความสำคัญอย่างมากต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องขององค์กรต่างๆ ในช่วงปี 2563  แต่เนื่องจากมีพนักงานจำนวนมากที่ทำงานกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ และมีอุปกรณ์มากมายที่เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์หลายๆ ระบบ ดังนั้นขอบเขตพื้นที่ของการรักษาความปลอดภัยจึงค่อยๆ พร่าเลือน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอบสนองอย่างฉับไวและทันท่วงทีต่อภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรที่ทำงานโดยอัตโนมัติ และง่ายต่อการใช้งานและตรวจสอบ  รายงานผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยประจำปี 2564 (2021 Security Outcomes Study) ของซิสโก้ระบุว่า ชุดเทคโนโลยีที่มีการบูรณาการอย่างเหมาะสมคือปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จ

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยก็คือ การรู้ว่าอะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและอะไรคือภัยคุกคามในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน

แนวทาง Zero Trust ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้มีการตรวจสอบทุกสิ่ง รวมถึงผู้ใช้ทุกคน ก่อนที่จะอนุญาตให้เข้าสู่ระบบ  เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการปรับใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อให้แน่ใจว่าเฉพาะผู้ใช้หรืออุปกรณ์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายขององค์กร  จากรายงานผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยประจำปี 2564 ผู้ตอบแบบสอบถาม 39 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าตนเอง “เห็นด้วยและกำลังดำเนินการ” ตามแนวทาง Zero Trust ขณะที่ 38 เปอร์เซ็นต์ “กำลังจะเปลี่ยนย้ายไปสู่ทิศทางดังกล่าว”

ขณะเดียวกัน ระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ต้องใช้รหัสผ่านใกล้จะกลายเป็นความจริง เนื่องจากเทคโนโลยีที่รองรับ เช่น ไบโอเมตริก (Biometrics) ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่ผู้ใช้และองค์กรต่างๆ

การจ่ายค่าเทคโนโลยีตามการใช้งานจริง

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ได้ลงทุนติดตั้งโซลูชั่นเทคโนโลยีแบบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกองค์กร (One Size Fits All) ซึ่งนั่นหมายความว่าองค์กรต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับฟีเจอร์บางอย่างที่ผู้ใช้อาจไม่ได้ใช้งานเลยในความเป็นจริง  แต่ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (Software as a Service) ช่วยให้องค์กรเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของฟีเจอร์และเทคโนโลยีที่ตนเองต้องการใช้งานในขณะนั้น และมีทางเลือกที่จะขยายไปสู่บริการอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวเมื่อถึงคราวจำเป็น

รูปแบบการใช้งานจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีฟีเจอร์และความสามารถต่างๆ ที่พร้อมใช้งานผ่านทางซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในองค์กรหรือในระบบคลาวด์  ความยืดหยุ่นและการประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นผลมาจากรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กร

การเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงนี้ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายและจัดการงบประมาณด้านไอทีได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น โดยรายงานการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศและผู้บริหารฝ่ายไอที (CIO and ITDM Trends Pulse Report) ประจำปี 2564 ของซิสโก้ ชี้ว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ (CIO) และผู้บริหารฝ่ายไอที เห็นพ้องต้องกันว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจของตน (43 เปอร์เซ็นต์ระบุว่ามีความสำคัญอย่างมาก) 

กุญแจสู่อนาคต: การเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นโดยอาศัย App

ในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาด องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้  ระบบคลาวด์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานในสถานการณ์ดังกล่าว  และสำหรับหลายๆ องค์กร ระบบคลาวด์เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของลูกค้าและพนักงาน

สิบเดือนต่อมา แอปพลิเคชันที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจถูกใช้งานในลักษณะกระจัดกระจายอย่างมาก ขณะที่พนักงานสามารถทำงานนอกสถานที่หรือจากที่บ้านได้อย่างอิสระ และระบบขององค์กรต้องรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับในอนาคต ทีมงานฝ่ายไอทีจะต้องการความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และโซลูชั่นการตรวจสอบที่ปรับปรุงดีขึ้นจะช่วยให้ทีมงานสามารถเปลี่ยนย้ายจากการตรวจสอบทุกสิ่งไปสู่การตรวจสอบเฉพาะข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ  ทั้งข้อมูลเชิงลึกและระบบงานอัตโนมัติจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตในอนาคต รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันและความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน

พัฒนาจากการให้บริการแก่ลูกค้าสู่การสร้างความพึงพอใจ

ทุกวันนี้ โมบายล์แอปพลิเคชันรองรับการทำกิจกรรมในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นช้อปปิ้ง บริการธนาคาร การเรียนรู้ หรือการดูแลสุขภาพ ทั้งยังช่วยในการติดตามตรวจสอบผู้ป่วยโควิดอีกด้วย  นอกจากนั้น โมบายล์แอปพลิเคชันยังช่วยให้องค์กรภาครัฐและเอกชนสามารถเชื่อมต่อและทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ใช้ในรูปแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

แน่นอนว่ากระบวนการธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่บนแอปพลิเคชัน

การใช้งานแอปพลิเคชันอย่างเหมาะสมจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและผู้ใช้งาน และช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที โดยองค์กรจะต้องสามารถแปรเปลี่ยนข้อมูลเรียลไทม์จำนวนมหาศาลที่ได้รับจากเครือข่ายให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้งานได้ในทางปฏิบัติ และจะต้องดำเนินการดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยความสามารถดังกล่าว บริษัทต่างๆ จะสามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้ก่อนที่ลูกค้าจะรายงานปัญหาหรือระบุความต้องการเสียด้วยซ้ำ นับเป็นการนำเสนอประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (Personalization) โดยอาศัยระบบงานอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า และทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันและภักดีกับแบรนด์นั้นๆ มากขึ้น

ปัจจุบันมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเพื่อปรับปรุงองค์กรให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตอบสนองได้อย่างฉับไว และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และขณะเดียวกัน ก็ควรมีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกด้วยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook