บริษัทฮ่องกงตั้งเป้าผลิตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์หลายพันตัวในปี 2021
บริษัทผลิตหุ่นยนต์ในฮ่องกงเผยว่า มีแผนจะผลิตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์จำนวนมากในปี ค.ศ. 2021
บริษัท Hanson Robotics กล่าวว่า หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์สี่แบบที่แตกต่างกันจะเริ่มออกจากโรงงานในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หนึ่งในสี่ของหุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า "โซเฟีย" ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเรื่องการมองและพูดที่เหมือนมนุษย์
David Hanson ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทนี้กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือและมีส่วนร่วมกับมนุษย์มีเพิ่มมากขึ้น โลกในยุคโควิด-19 กำลังต้องการระบบอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยให้ผู้คนปลอดภัย และว่า ในอดีตหุ่นยนต์ของทางบริษัทหลายตัวถูกสร้างขึ้นด้วยมือ แต่ตอนนี้ Hanson Robotics กำลังเริ่มขยายวิธีการผลิตแล้ว
Hanson กล่าวว่า ปัจจุบันโซเฟียมี 24 แบบซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างแบบจำลองประเภทอื่น ๆ และแม้ว่าจะไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน แต่ Hanson กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะขายหุ่นยนต์หลายพันตัว ภายในสิ้นปี 2021 นี้
บริษัท Hanson Robotics เผยอีกว่าได้วางแผนโฆษณาว่าหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ว่าเป็นผู้ช่วยที่มีประโยชน์ในด้านการดูแลสุขภาพ ตัวอย่างเช่น สามารถวัดอุณหภูมิเพื่อระบุชี้อาการเจ็บป่วย หรือออกกำลังกายร่วมกับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้ “หุ่นยนต์ทางสังคม” ดังกล่าวขับเคลื่อนโดยวิธีการเรียนรู้ของเครื่องและปัญญาประดิษฐ์ (AI) พวกมันจะใช้กล้องและเซ็นเซอร์เพื่อจดจำใบหน้าและกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ หุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเครื่องมือที่ช่วยให้หุ่นยนต์เหล่านั้นพัฒนารูปแบบไหวพริบทางสังคมและอารมณ์เมื่อเวลาผ่านไป
ในระหว่างการสาธิตที่ห้องทดลองของบริษัท หุ่นยนต์โซเฟียแบบหนึ่งได้ระบุชี้กิจกรรมบางอย่างที่อาจช่วยเหลือมนุษย์ได้ ทั้งนี้หุ่นยนต์ทางสังคมสามารถช่วยดูแลสุขภาพคนป่วย หรือผู้สูงอายุ และนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้อีกด้วย
Hanson กล่าวว่า เขาเชื่อว่าการแก้ปัญหาโรคระบาดด้วยหุ่นยนต์นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การดูแลสุขภาพเท่านั้น และว่าหุ่นยนต์ของบริษัทนั้นมีลักษณะเหมือนมนุษย์มาก พวกมันอาจช่วยให้บริการแก่สาธารณะชน เช่นในร้านค้าปลีก หรือในอุตสาหกรรมสายการบิน เป็นต้น
Hanson กล่าวอีกว่าหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จะมีประโยชน์มากในช่วงเวลานี้ที่ผู้คนโดดเดี่ยวและกักกันตัวเองออกจากสังคมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการช่วยสื่อสาร ให้การบำบัด และการช่วยเหลือต่าง ๆ ทางสังคมแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็ตาม
Johan Hoorn ศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์ทางสังคมที่มหาวิทยาลัย Polytechnic University ของฮ่องกง กล่าวว่า แม้ว่าเทคโนโลยี AI จะยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่การเกิดโรคระบาดใหญ่อาจเป็นตัวเร่งความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ก็เป็นได้
นอกจากนี้ หุ่นยนต์จากผู้พัฒนารายใหญ่อื่น ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ต่างก็กำลังช่วยต่อสู้กับโรคระบาดด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Pepper หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของ SoftBank Robotics ถูกนำไปใช้ในยุโรปเพื่อระบุชี้ตัวบุคคลที่ไม่ได้สวมหน้ากาก ส่วนในประเทศจีน บริษัทหุ่นยนต์ CloudMinds ได้ช่วยจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่ใช้หุ่นยนต์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองหวู่ฮั่น
ทั้งนี้ อัตราการใช้หุ่นยนต์นั้นได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดแล้ว โดยองค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ International Federation of Robotics กล่าวในรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ยอดขายหุ่นยนต์บริการระดับมืออาชีพทั่วโลกเพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ในระหว่างปี 2018 ถึง 2019