ไมโครซอฟท์ตั้งศูนย์ข้อมูลเขตใหม่ในอินโดนีเซีย ภายใต้โครงการ Berdayakan Ekonomi Digital Indonesia
ไมโครซอฟท์เพิ่มการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียโดยมีแผนก่อตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ พร้อมตั้งเป้ายกระดับทักษะให้กับชาวอินโดนีเซียกว่า 24 ล้านคนภายในปี 2564 ผ่านการลงทุนฝึกอบรมที่ดำเนินมากว่าหนึ่งทศวรรษ
วันนี้ ไมโครซอฟท์ได้ประกาศโครงการ Berdayakan Ekonomi Digital Indonesia ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ในอินโดนีเซีย โดยครอบคลุมถึงวงการนักพัฒนาและระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ องค์กรเอกชน ตลอดจนภาครัฐ
โดยส่วนหนึ่งของแผนงานในโครงการนี้คือการที่ไมโครซอฟท์จะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในอินโดนีเซียเพื่อนำเสนอบริการคลาวด์ภายในประเทศที่วางใจได้ด้วยมาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ตลอดจนสามารถเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศได้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ไมโครซอฟท์ยังประกาศแผนงานที่จะพัฒนาทักษะชาวอินโดนีเซียอีก 3 ล้านคน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชาวอินโดนีเซียรวม 24 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2564 ผ่านโปรแกรมเพิ่มพูนทักษะที่ดำเนินงานมาอย่างยาวนานเพื่อช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล
การประกาศในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการปฏิรูปสู่นวัตกรรมดิจิทัลในอินโดนีเซีย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ งานวิจัยของไอดีซีคาดว่าการลงทุนในอินโดนีเซียของไมโครซอฟท์จะก่อให้เกิดรายได้ใหม่มากถึง 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐจากฐานลูกค้าท้องถิ่นและเครือข่ายพันธมิตร ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจด้านคลาวด์ของบริษัทยังได้รับการคาดหมายว่าจะสร้างงาน 60,000 ตำแหน่งให้กับเศรษฐกิจในประเทศภายในระยะเวลา 4 ปี*
"ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นคลาวด์ การลงทุนของไมโครซอฟท์ในการสร้างศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น เสริมทักษะด้านดิจิทัล และทำงานร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซีย จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศตอบรับแผนงานของไมโครซอฟท์ในการตั้งเขตศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น พร้อมบริการคลาวด์มีความปลอดภัยสูงและถูกต้องตามกรอบกฎหมายและมาตรฐานทุกประการ
ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจท้องถิ่น รัฐบาล ตลอดจนบุคคลทั่วไปในทุกภาคส่วน เรายังยินดีตอบรับความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการเพิ่มขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญให้กับบุคคลากรด้านดิจิทัลชาวอินโดนีเซียในทุกระดับ" Johnny G. Plate รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศกล่าว
"ไมโครซอฟท์ทุ่มเทให้กับการเติบโตของอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน การประกาศในวันนี้เป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่สุดในประเทศตลอดระยะเวลา 26 ปีที่เราได้เข้ามาทำงานในอินโดนีเซีย ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เรามีส่วนช่วยให้อินโดนีเซียบรรลุวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ธุรกิจอินโดนีเซียทุกภาคส่วน ตั้งแต่อีคอมเมิร์ซไปจนถึงเกษตรกรรม ต่างได้รับประโยชน์จากความคล่องตัว ความมั่นคงปลอดภัย และความพร้อมในการรองรับการเติบโต
ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยบริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์ เมื่อมีการเปิดศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นแล้ว ธุรกิจจะเข้าถึงบริการคลาวด์ได้เร็วกว่าและสามารถเก็บข้อมูลไว้ภายในประเทศได้ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากโอกาสด้านดิจิทัลที่รออยู่ภายภาคหน้า เราจึงยังคงส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องด้วยโปรแกรมใหม่ที่สามารถเข้าถึงชาวอินโดนีเซียกว่า 24 ล้านคนภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564" Jean-Phillippe Courtois รองประธานบริหารและประธานฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการระดับโลกของไมโครซอฟท์กล่าว
"เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนธุรกิจของอินโดนีเซียและรัฐบาลในการเปลี่ยนมาใช้บริการคลาวด์ที่เชื่อถือได้ของไมโครซอฟท์ ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา เราได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วทั้งอินโดนีเซียและเตรียมชาวอินโดนีเซียให้พร้อมด้วยทักษะที่จำเป็นต่อการจ้างงานในอนาคต การประกาศวันนี้เป็นการยืนยันถึงเจตจำนงของเราในโครงการ Berdayakan Ekonomi Digital ในการช่วยให้ทุกคนและทุกองค์กรในอินโดนีเซียประสบกับผลสำเร็จที่มากกว่าเดิม ด้วยพนักงานกว่า 150 คน และพาร์ตเนอร์กว่า 7,000 ราย ที่กระจายอยู่ทั่วเกาะ 17,000 แห่งของอินโดนีเซีย ไมโครซอฟท์ อินโดนีเซียได้ช่วยส่งเสริมชุมชนและระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ
ขณะที่บริษัทชั้นนำ อาทิ Bukalapak, Pertamina และ The Ministry of Agriculture ได้รับประโยชน์จากบริการคลาวด์ระดับโลกของไมโครซอฟท์ และได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะใช้บริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์จากเขตพื้นที่ใหม่นี้เมื่อพร้อมให้บริการ" Haris Izmee ประธานกรรมการของไมโครซอฟท์ อินโดนีเซีย กล่าว
เร่งสร้างความคล่องตัวด้านดิจิทัลทั่วอินโดนีเซีย
ด้วยเขตพื้นที่ศูนย์ข้อมูลใหม่ อินโดนีเซียจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเขตศูนย์ข้อมูลที่ประกาศแล้วกว่า 60 แห่ง ธุรกิจทุกขนาดและอุตสาหกรรมต่างๆ จะเข้าถึงไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ได้ทันทีที่ศูนย์ข้อมูลแห่งนี้เปิดทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใดก็ตามสามารถสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้บริการคลาวด์ และความสามารถที่ครอบคลุมทั้งการคำนวณ ระบบเครือข่าย ฐานข้อมูล การวิเคราะห์ ปัญญาประดิษฐ์ และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (ไอโอที) ไมโครซอฟท์มอบการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลระดับองค์กร ด้วยประกาศนียบัตรกว่า 90 รายการ ไมโครซอฟท์จึงรองรับมาตรฐานอุตสาหกรรมและข้อกำหนดต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
เพื่อรองรับผู้บริโภคที่ต้องการเขตศูนย์ข้อมูลที่พร้อมเสมอและใช้งานได้หลากหลาย เขตศูนย์ข้อมูลใหม่จึงมี Azure Availability Zones ซึ่งเป็นสถานที่พิเศษที่มีทั้งแหล่งพลังงาน ระบบเครือข่ายและทำความเย็นที่แยกเป็นอิสระจากภายนอก เพื่อรักษาให้ศูนย์ข้อมูลมีเสถียรภาพสูงสุด นอกจากนี้ เขตศูนย์ข้อมูลอินโดนีเซียยังเป็นไปตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไมโครซอฟท์ ซึ่งรวมถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในศูนย์ข้อมูลภายในปี พ.ศ. 2568
"ความร่วมมือของเรากับไมโครซอฟท์จะช่วยพลิกวงการอีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย ด้วยเขตศูนย์ข้อมูลภายในประเทศที่เชื่อใจได้ เราจะช่วยให้ผู้ค้า 6.5 ล้านราย พาร์ทเนอร์ของ Bukalapak 7 ล้านราย และลูกค้าอีกกว่า 100 ล้านคน ดำเนินงานต่อไปได้ท่ามกลางสภาวะโรคระบาด ขณะเดียวกัน ความพยายามร่วมกันของเราในการเพิ่มทักษะให้กับผู้ค้าและพนักงานจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มการจ้างงาน สร้างโอกาสใหม่ๆ และเปลี่ยนวิถีชีวิตไปพร้อมกัน" Rachmat Kaimuddin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bukalapak กล่าว
"Pertamina และไมโครซอฟท์ร่วมมือกันในการเร่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการตั้งเขตศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจอินโดนีเซียทุกแห่งสามารถเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและสร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้" Nicke Widyawati ประธานบริหารของ Pertamina กล่าว
"เรายินดีกับความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ในการตั้งเขตศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับโปรแกรมร่วมในการพัฒนาระบบนิเวศน์ดิจิทัลเชิงเกษตรกรรมให้มากยิ่งขึ้นไปอีก การเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของอินโดนีเซีย หากได้รับการสนับสนุนด้วยนวัตกรรมอย่างเครื่องตรวจจับสัญญาณบนแปลงเพาะปลูกที่อาศัยข้อมูลแบบเรียลไทม์จากการเชื่อมต่อกับคลาวด์ ตลอดจนการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านการเกษตรดิจิทัลให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ย่อมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้เป็นอย่างมาก" Syahrul Yasin Limpo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียกล่าว
เสริมความแข็งแกร่งให้กับพนักงานชาวอินโดนีเซียด้วยทักษะแห่งอนาคต
ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ Berdayakan Ekonomi Digital Indonesia ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละบุคคลต่อการประสบความสำเร็จในอนาคตที่มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และคลาวด์กันอย่างแพร่หลาย โดยพัฒนาบุคลากรผู้มีความสามารถอันเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับชาวอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการต่อยอดการฝึกอบรมพัฒนาทักษะต่างๆ ที่ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นดำเนินงานในอินโดนีเซียมาตลอดระยะเวลา 26 ปี
ทั้งนี้ บริษัทจะทำงานร่วมกับรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมต่างๆ ในการฝึกฝนทักษะให้แก่พนักงานเพิ่มอีก 3 ล้านคน ส่งผลให้ยอดรวมของชาวอินโดนีเซียผู้มีทักษะสูงถึง 24 ล้านคนภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 โครงการทักษะที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง รวมทั้งกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศนี้ ครอบคลุมกลุ่มบุคคลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู พนักงานวัยกลางคน แม่บ้าน ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ และจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับชาวอินโดนีเซียในด้านปัญญาประดิษฐ์ ความปลอดภัยไซเบอร์ และวิทยาศาสตร์ข้อมูลผ่านหลักสูตรเพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัล