“ชีวิตติดอวด” ในโลกออนไลน์ บ่อเกิดดราม่าที่ง่ายเกินไป

“ชีวิตติดอวด” ในโลกออนไลน์ บ่อเกิดดราม่าที่ง่ายเกินไป

“ชีวิตติดอวด” ในโลกออนไลน์ บ่อเกิดดราม่าที่ง่ายเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับใครหลาย ๆ คน และมีปัจจัยที่ 6 เป็นโซเชียลมีเดีย คุณอาจจะมองว่านั่นเป็นเรื่องของคุณ ถูก! เพราะคุณไม่ได้ทำผิดอะไร คุณมีสิทธิ์ที่จะถือสมาร์ทโฟนติดตัวไปทุกที่ไม่ว่าจอยู่ส่วนไหนของโลก และมีสิทธิ์จะเล่นโซเชียลมีเดียแบบ 24/7 ตราบใดที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

 

แต่คุณก็อาจจะคาดไม่ถึงว่าการเล่นโซเชียลมีเดีย (แบบไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี ๆ) ของคุณนั่นแหละที่กำลังทำให้ “ตัวเองเดือดร้อน”

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ก็ใช้เวลาบางส่วนของวันอยู่บนโลกออนไลน์ จะพบว่าเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นการ “ทำตัวเอง” ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะนักแสดงสาวออกจากบ้านในช่วงกักตัวแล้วอัปรูปไม่สวมหน้ากากลงโซเชียลมีเดีย ดีเจจัดงานวันเกิดแล้วถ่ายคลิป ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียในช่วงที่มีกฎหมายห้ามจัด หรือการถ่ายภาพทำบุญปล่อยสัตว์น้ำลงโซเชียลมีเดีย โดยไม่ศึกษาให้ดีก่อนว่าเป็นปลาที่ปล่อยเหมาะกับระบบนิเวศบริเวณนั้นไหม เพราะถึงปลาจะอยู่ในน้ำ แต่ไม่ได้ว่าความว่าจะไปอยู่ได้ทุกที่ที่มีน้ำ

อยู่ที่ไหน ทำอะไรก็อยากให้โลกรู้

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 กรณีที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น เป็นกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จาก “ชาวเน็ต” อย่างหนักหน่วง ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ลองคิดในมุมกลับกัน ถ้าทั้ง 3 กรณีไม่มีการถ่ายภาพแล้วอัปลงโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตก็จะไม่รู้ว่าคุณไปไหน ทำอะไรมา (เว้นแต่จะโดนแอบถ่ายโดยผู้ไม่หวังดี) ดราม่าในประเด็นนั้น ๆ ก็อาจไม่เกิดก็ได้

ขอยกอีกกรณีตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน เรื่องบัตรคอนเสิร์ตในตำนาน ที่มีคนดังได้มาด้วยวิธีที่ดูเอาเปรียบคนธรรมดา จากนั้นก็โพสต์อวดว่าตัวเองได้มาด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ จนกลายเป็นดราม่าดังมาก คำถามคือ ถ้าไม่โพสต์อวดในวันนั้น ก็จะไม่มีใครรู้ เมื่อไม่มีใครรู้ ก็ไม่มีใครตีดราม่า ใช่หรือไม่?

อันที่จริง คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออกไลน์รู้ดีว่าเวลานี้ ปรากฏการณ์ “สังคมอุดมดราม่า” มันเป็นอย่างไร ทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนกลายเป็นประเด็นดราม่าได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าคนสนใจแค่ไหน และสื่อตีข่าวอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไร สื่อก็พร้อมตีข่าวเสมอ แม้กระทั่งการไปกดคอมเมนต์รูปหัวใจในอินสตาแกรมของเพื่อน ๆ ยังกลายเป็นข่าวได้เลย

ซึ่งในประเด็นนั้นก็พอเข้าใจได้ว่าสื่อก็แค่ทำหน้าที่ของเขา เขาต้องขายข่าว เขาต้องเพิ่มเรตติ้ง เขาต้องการเม็ดเงินโฆษณา เพราะคนที่อยู่ในวงการรู้ดีว่าเรื่องฉาว ๆ ของผู้อื่นนั้นขายดีแค่ไหน ยิ่งข่าวไหนที่ใหญ่ แรง มีชาวเน็ตแบ่งทีมเชียร์ มีคอมเมนต์ด่ากันหยาบคายมากเท่าไร ยอดการมีส่วนร่วมก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น มีทีมอวยให้กำลังใจ มีทีมเห็นต่างเฉย ๆ มีทีมเห็นต่างโจมตี มีทีมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แค่รำคาญ แต่ดันไม่คิดในใจ ทั้งที่จริง ๆ แล้วจะปล่อยก็ได้ ก็ยอมเสียเวลาเสียพลังงานในการพิมพ์คอมเมนต์ว่า “แค่นี้ก็เป็นข่าว ไม่เห็นจะอยากรู้”

ซึ่งในยุคที่การอวดทำได้ง่ายขึ้นผ่านสื่อโซเชียล การอวดส่วนมากจะออกมาในรูปแบบของการโพสส์รูปภาพ โพสต์วิดีโอ หรือกดแพร่ภาพสด สิ่งเหล่านั้นจะแสดงให้เห็นถึงสถานะและความสุขในเวลานั้น ซึ่งจะสุขจริงหรือสุขปลอมก็ไม่สำคัญอะไร นี่จึงเป็นเหมือนวิธีการสื่อสารให้คนรอบข้าง (หรือสังคม) รู้ว่าเจ้าของภาพอยู่ในจุดที่ทำอะไรสังคมก็ต้องรู้ ผู้คนต้องสนใจ แต่จำเป็นแค่ไหนที่ต้องให้คนอื่นรู้

หลายคนอาจบอกว่ามันเรื่องของเขาที่จะทำอะไรก็ได้บนพื้นที่ของเขา นั่นไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว อย่าลืมว่าพื้นที่ของเขาที่ว่านั้นมันเป็นแบบสาธารณะ ดังนั้นคุณไม่สามารถห้ามคนไม่ให้สนใจได้ เพราะที่คุณไม่ทำอะไรเงียบ ๆ แต่แรกก็เพราะอยากให้มีคนสนใจ หากคุณไม่ใช่คนดัง การที่คุณอัปรูป ขึ้นสเตตัสบนเฟซบุ๊ก อย่างน้อย ๆ คุณก็อยากให้คนที่เป็นเพื่อนกับคุณรู้ ฉะนั้น คุณไม่มีทางปฏิเสธความเห็นในด้านลบจากสิ่งที่คุณโพสต์ลงโซเชียลมีเดียได้ นั่นหมายความว่าคุณต้องเตรียมใจรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่คิดต่างไปจากคุณ

เพราะฉะนั้น ลองมองให้ดี ๆ ว่าถ้าคุณไม่โพสต์ชีวิตใด ๆ ก็ตามให้คนอื่นรู้ว่าคุณไปไหน ทำอะไรมา ก็อาจจะไม่มีดราม่าเกิดขึ้น ดังกรณีทั้ง 3 ที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้า

ลืมให้เกียรติยอดนักแคป

อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีความเร็วสูง หากคุณมือลั่นโพสต์อะไรโดยที่ไม่ทันได้คิดดี ๆ หรือคิดให้รอบคอบก่อน พอกดโพสต์แล้วดันคิดได้พอดีจึงกดลบทันที แต่รู้ไหมว่าโพสต์หรือรูปที่ถูกอัปไปสั้น ๆ ไม่กี่วินาทีก็ทำลายชีวิตคุณได้ โดยผู้ที่เป็นยอด “แคปทัน (อเมริกา)” นั่นแปลว่าสามารถเกิดดราม่าได้ในชั่วเสี้ยววินาทีเช่นกัน

โซเชียลมีเดียทำให้การถ่ายภาพเหรืออัปวิดีโอป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน ยิ่งเมื่อรวมกับวัฒนธรรมการอวดด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเป็นช่างภาพได้ทุกที่ทุกเวลา กลายเป็นว่ายิ่งคุณอยากจะอวดชีวิตของคุณให้โลกรู้มากเท่าไร โอกาสที่จะเกิดเรื่องดราม่าก็ตามมาได้เท่านั้น รูปที่คุณอัป สเตตัสที่คุณโพสต์ เมื่อมีคนใดคนหนึ่งเห็นแล้วเขาไม่คิดเหมือนกับคุณ เขาแคปเป็นหลักฐานเก็บไว้ได้หมด ต่อให้คุณลบแล้ว แต่เขาก็พร้อมจะเปิดวาร์ปเสมอแค่มีคนเรียกหา

คิดง่าย ๆ ถ้าคุณเกิดโพสต์ภาพถ่ายที่ไม่เหมาะสมกับหน้าที่การงานของคุณ แล้วมีใครสักคนเห็นจนนำไปขยายต่อจนเป็นเรื่องดัง พอมีคนสนใจ คุณอาจต้องตกงาน เพราะสังคมต้องการให้ต้นสังกัดรับผิดชอบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคุณ ไม่เพียงเท่านั้น คุณจะมีชื่อเสียงจากการถูกรุมประณาม ถูกประจานไปอีกนานเลยทีเดียว

แต่เมื่อทนสังคมรุมทึ้งไม่ไหว การออกมาขอโทษเป็นหนทางที่ดีที่สุด พร้อมหงายการ์ด “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เพื่อขอให้สังคมให้อภัย ด้วยความเชื่อที่ว่าคนไทยลืมง่าย และก็ใจดีมากพอที่จะให้โอกาสอีกครั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อขอโทษทุกอย่างก็จบ กรณีแบบนั้นหลายคนสำนึกจริง แต่หลายคนก็ไม่ ยังทำซ้ำเดิม และก็กลายเป็นดราม่าวนไปเรื่อย ๆ ดีไม่ดี คุณอาจได้เข้าสู่วงการบันเทิง (อะเนอะ) ด้วย

คอนเทนต์ไม่สร้างสรรค์

ทุกวันนี้มีคนที่สถาปนาตนเองว่ามีอาชีพเป็นยูทูบเบอร์ เป็นวล็อกเกอร์กันมากมาย คนกลุ่มนี้ก็มีมากมายหลายเกรดตามรูปแบบคอนเทนต์ที่นำเสนอ แต่ยิ่งมีมาก คอนเทนต์ที่หลากหลายนั้นก็มีทั้งแบบที่คิดมาดีแล้ว คิดน้อยไปนิด ไม่ทันคิดเลย หรือว่าคิดแค่อยากดังช่วงข้ามคืน คอนเทนต์ประเภทที่ไม่สร้างสรรค์สังคมจึงถูกผลิตออกมาเรื่อย ๆ ผลิตมาก็มีคนดู คนที่ไม่มีวิจารณญาณมากพอก็ตกเป็นเหยื่อคอนเทนต์รูปแบบนั้น

คอนเทนต์ประเภทที่ไม่สร้างสรรค์สังคม หลายคนเรียกว่าคอนเทนต์ตลาดล่าง แน่นอนว่ามันเป็นคำที่แฝงความหมายเหยียดอยู่กลาย ๆ แต่บางคอนเทนต์ก็เถียงไม่ออกจริง ๆ ทั้งที่ถ้าคิดให้มากกว่านี้ ทำอะไรที่สร้างสรรค์กว่านี้ เรื่องดราม่าก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

หากใครอยากมีพื้นที่ มีตัวตน อยากหากินบนโลกออนไลน์ คุณอาจจะต้องเตรียมใจยอมรับสักหน่อย ว่าจะรับได้ไหมถ้ากระแสตีกลับ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการกระทำของคุณ โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่หวังดีที่จ้องแต่จะจับผิด และหาเรื่องโจมตีได้ทุกอย่าง หากคุณไม่คิดให้ดี ปล่อยให้มีช่องโหว่ คุณก็จะโดนโจมตีได้ง่าย แล้วถึงเวลานั้นก็คงทำได้เพียงขอโทษ อ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และรอสังคมให้อภัย

บทความนี้ไม่ได้จะสนับสนุสให้คนในสังคมทำอะไรแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ แล้วก็ไม่ได้บอกว่าการที่คุณอยากให้คนอื่นรู้เรื่องของคุณเป็นเรื่องผิด การอวดเป็นพฤติกรรมปกติขงมนุษย์ เพียงแต่จะเตือนว่าก่อนจะอัปรูปหรือโพสต์สเตตัสอะไรลงบนสื่อโซเชียล ขอให้คิดดี ๆ คิดให้รอบคอบก่อนทำ เพราะมันอาจมีราคาที่คุณต้องจ่ายกรณีที่มันไม่เหมาะสมจริง ๆ

เพราะอะไรก็ตามที่ถูกเผยแพร่แบบสาธารณะ คุณไม่มีทางที่จะห้ามไม่ให้คนพูดหรือแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งถ้าคุณรับไม่ได้กับเรื่องดราม่าที่จะตามมาทั้งหลาย จะดีกว่าไหมที่คุณจะใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ไม่จำเป็นต้องโพสต์ทุกอย่างที่ทำให้โลกรู้ ถ้าไม่ใช้ชีวิตติดอวด (ในโซเชียล) มากเกินไป ดราม่าก็อาจจะน้อยลงก็ได้ เพราะถ้าคุณอยู่เงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตากก็จะไม่มีใครเขารู้ว่าคุณไปทำอะไรมา (แต่ไม่มีใครรู้นี่แหละที่ไม่มีความสุข) ก็ไม่มีดราม่า ไม่เป็นเรื่องราวให้ใครวิพากษ์วิจารณ์

ส่วนในมุมของผู้รับสาร จริง ๆ ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร ก็ไม่ต้องพยายามหาปมให้เป็นดราม่าทุกเรื่องก็ได้ เพราะบางเรื่องมันไม่ควรจะมีใครไปจ้องจับผิดจริง ๆ เป็นเรื่องของเขาที่มีสิทธิ์ที่จะโพสต์ เห็นแบบผ่านตาก็ได้ ปล่อยผ่านไปบ้าง หรือจะตามข่าวอยู่เงียบ ๆ ห่าง ๆ ก็พอ ไม่ต้องอยากไปมีส่วนร่วมกับทุกเรื่อง ก็น่าจะช่วยให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้น และเรา ๆ ก็อยู่กันอย่างสงบมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook