‘นาซ่า’ เผยยานสำรวจสร้างออกซิเจนบนดาวอังคารสำเร็จ สานความหวังส่งมนุษย์ไปดาวแดง
องค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการสำรวจดาวอังคาร โดยระบุว่า ยานสำรวจเพอร์เซอเวอแรนซ์ (Perseverance) สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวอังคาร หรือ ดาวแดง (Red Planet) ให้กลายเป็นก๊าซออกซิเจนได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารในอนาคต
นาซ่าอธิบายว่า อุปกรณ์สร้างก๊าซออกซิเจนที่มีชื่อว่า Mars Oxygen In-Situ Resource Utilization Experiment (MOXIE) ขนาดประมาณเตาอบขนมปัง ได้ถูกติดตั้งไว้ที่ยานสำรวจดังกล่าว และเริ่มทำงานผลิตก๊าซออกซิเจนในอัตรา 5.4 กรัมต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณที่ช่วยให้นักบินอวกาศดำรงชีวิตบนดาวอังคารได้ราว 10 นาที
ชั้นบรรยากาศของดาวแดงดวงนี้มีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนประกอบราว 96% ซึ่ง MOXIE ใช้วิธีแยกอะตอมของออกซิเจน (O2) ออกมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยใช้ความร้อนสูงถึง 800 องศาเซลเซียส
จิม รอยเตอร์ เจ้าหน้าที่ควบคุมโครงการเทคโนโลยีอวกาศของนาซ่า กล่าวว่า MOXIE ยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายขั้นตอน แต่ผลการทำงานเบื้องต้นออกมาน่าพอใจ และสร้างความหวังสำหรับเป้าหมายการส่งมนุษย์ไปบนดาวอังคารในอนาคต ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องใช้อุปกรณ์สร้างก๊าซออกซิเจนขนาดใหญ่น้ำหนักราว 1 ตัน ซึ่งสามารถสร้างออกซิเจนได้ราว 1 ตันสำหรับนักบินอวกาศที่จะใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารได้ราว 1 ปี และอีก 25 ตันสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อกลับสู่โลก
นาซ่าบอกว่า MOXIE คือส่วนหนึ่งของโครงการทดสอบใช้เทคโนโลยีใหม่บนดาวอังคาร ซึ่งรวมถึง เฮลิคอปเตอร์จิ๋ว อินเจนูอิตี้ (Ingenuity) ซึ่งติดไปกับยานสำรวจเพอร์เซอเวอแรนซ์ และเริ่มทดสอบบินไปแล้วเมื่อสามวันก่อน โดยหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการสำรวจดาวอังคารต่อไป