ไหนบอกปลอดภัย?! แฉ Apple ยอมตามกฎหมายจีน ทำให้ข้อมูลผู้ใช้ตกอยู่ในความเสี่ยง!
แม้ซีอีโอของ Apple อย่างทิม คุก (Tim Cook) ได้ประกาศว่า ข้อมูลของผู้บริโภคจะปลอดภัย แต่ศูนย์ข้อมูลของ Apple ที่กุ้ยหยางกลับต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน ทำให้ข้อมูลของผู้บริโภคชาวจีนจะไม่ปลอดภัยเหมือนที่ Apple เคยโฆษณาเอาไว้
New York Times ออกมาแฉว่า Apple ละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง โดยยอมประนีประนอมให้กับกฎหมายในประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของความปลอดภัยของผู้ใช้งานให้อยู่ในความเสี่ยง โดยได้มีการเผยแพร่เอกสารข้อมูลจากการสัมภาษณ์พนักงาน Apple และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจำนวน 17 คน ที่ทำงานอยู่กับ Apple ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นหลักฐานถึงการยอมลดมาตรการความปลอดภัยของบริษัทเพื่อรัฐบาลจีน
แม้ทิม คุกจะออกมาพูดบ่อย ๆ เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของ Apple ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัว แต่กลับพบว่า Apple ได้ทำให้ ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคชาวจีนตกอยู่ในความเสี่ยง อีกทั้งยังยินยอมทำตามรัฐบาลจีนในการคัดกรองแอปฯบางแอปฯออกจาก App Store อีกด้วย ที่จริงแล้ว Apple ถึงขนาดยอมตัดประโยค “Designed by Apple in California” ออกจากฝาหลังของเครื่อง iPhone เลยทีเดียว
เมื่อคุณย้อนดูพฤติกรรมของรัฐบาลจีนที่ผ่านมา คุณจะไม่เห็นการขัดขืนใด ๆ จาก Apple เลย ไม่มีการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อหลักการที่ Apple อ้างว่าตัวเองยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น
นิโคลัส เบคิวลิน (Nicholas Bequelin) ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ Amnesty International (กลุ่มสิทธิมนุษยชน)
ที่น่าตกใจที่สุดคือ New York Times พบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแอปพลิเคชันหลายหมื่นแอปฯที่หายไปจาก App Store เวอร์ชันสำหรับประเทศจีน ตัวอย่างชนิดของแอปฯที่หายไปได้แก่ ช่องข่าวต่างประเทศ แอปฯเดทสำหรับเพศทางเลือก หรือแอปฯส่งข้อความเข้ารหัส เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแบนแอปพลิเคชันเกี่ยวกับ การจัดการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงแอปฯที่พูดถึงดาไล ลามะ
ข้อมูลทางสถิติเผยว่าตั้งแต่ปี 2017 ถึงปัจจุบัน แอปพลิเคชันประมาณ 55,000 แอปฯได้หายไปจาก App Store เวอร์ชันประเทศจีน โดยมีแอปพลิเคชันประมาณ 35,000 แอปฯ ที่เป็นเกม ส่วนอีก 20,000 แอปฯ สามารถแบ่งประเภทได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่แอปฯออกกำลังกายไปจนถึงแอปฯที่สอนท่วงท่าลีลาการร่วมเพศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและวิศวกรจาก Apple ให้ข้อมูลว่า การประนีประนอมของ Apple ทำให้ทางบริษัทไม่มีทางที่จะหยุดรัฐบาลจีนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้เลย ทั้งอีเมล รูปภาพ เอกสาร ข้อมูลผู้ติดต่อ และตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้งานหลายล้านราย รัฐบาลล้วนสามารถเข้าถึงได้ทั้งสิ้น
Apple ออกมาตอบโต้ประเด็นดังกล่าวว่า บริษัทดำเนินการตามกฎหมายของจีนและทำทุกอย่างเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานให้ปลอดภัย รวมถึงอธิบายว่า บริษัทยังคงเป็นผู้ควบคุมกุญแจที่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังได้ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดในการเข้ารหัสข้อมูล ส่วนเรื่องแอปพลิเคชัน ทางบริษัทจำเป็นต้องลบแอปฯบางตัวออกไปตามที่กฎหมายของประเทศจีนกำหนด อย่างไรก็บริษัทยังคงเน้นความสำคัญในการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้อยู่ดี
ระบบ iCloud ของ Apple ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น รายชื่อผู้ติดต่อ รูปภาพ หรืออีเมล ไว้ในศูนย์ข้อมูลของบริษัท iCloud สามารถสำรองข้อมูลทั้งหมดมาเก็บไว้ และยังเผยตำแหน่งอุปกรณ์ได้อีกด้วย โดยในตอนแรกข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของ Apple ที่อยู่นอกจากประเทศจีน แต่หลังจากการออกกฎหมายใหม่ของรัฐบาลจีน ซึ่งระบุว่า “ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญที่เกิดขึ้นภายในประเทศจีนจะต้องถูกเก็บไว้ในจีนเท่านั้น” จึงเป็นสาเหตุที่ Apple ต้องย้ายเซิฟเวอร์เก็บข้อมูลมาอยู่ในประเทศจีนนั่นเอง
เพื่อสร้างความสบายใจกับผู้ใช้งาน Apple ออกมาประกาศว่า กุญแจเข้ารหัสยังคงถูกเก็บไว้กับบริษัท และมีเพียงบริษัทเท่านั้นที่สามารถควบคุมการใช้งานได้