เมื่อญาติผู้ใหญ่เสพติดโซเชียลมีเดียซะแล้ว!

เมื่อญาติผู้ใหญ่เสพติดโซเชียลมีเดียซะแล้ว!

เมื่อญาติผู้ใหญ่เสพติดโซเชียลมีเดียซะแล้ว!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยความที่โลกกำลังขับเคลื่นและหมุนอยู่ในช่วงของโลกาภิวัตน์ ที่เทคโนโลยีการสื่อสารได้ทำให้โลกนี้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นและไร้ซึ่งขอบเขต รูปแบบของการใช้งานโทรศัพท์ที่มากกว่าแค่การโทรเข้า-ออกหรือส่งข้อความ แต่กลับกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่ครบครันทุกการใช้งานและถูกเรียกว่าสมาร์ทโฟน

และเมื่อโลกเข้าสู่สังคมของโซเชียลมีเดีย เครื่องมือหลักสำหรับการติดต่อสื่อสารและสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าใครก็ติดกันงอมแงมโดยเฉพาะผู้ใหญ่และวัยรุ่น อีกทั้งเด็ก ๆ สมัยนี้ก็เป็น Gen ที่เกิดมาก็เจอกับสมาร์ทโฟนแล้วซึ่งเรียกได้ว่าโตมาพร้อมเทคโนโลยีที่ครบครัน น่าห่วงเพียงญาติผู้ใหญ่วัยชราของเรา ๆ ที่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องมาเรียนรู้การใช้สิ่งของจำพวกนี้โดยมีลูกหลานเป็นที่ปรึกษา

ด้วยความที่เรื่องของวัยและการใช้งานที่ต่างกันระหว่างวัยผู้ใหญ่มีอายุกับวัยรุ่นและเด็กที่คลุกคลีกับโซเชียลมีเดียเป็นปกติ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าถึงแม้ผู้ใหญ่จะติดมือถือมากเมื่อพวกเขาได้ใช้ แต่เป้าหมายของการใช้งานเขานั้นแตกต่างจากเราอยู่มาก อย่างการใช้ Facebook Line YouTube แอปพลิเคชั่นหลัก ๆ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่นิยมใช้กัน

มาคุยกันดูดีกว่าว่า พฤติกรรมใดบ้างที่เรามักจะเห็นจนเป็นภาพชินตา เมื่อผู้ใหญ่ติดโซเชียล

ไม่ถงไม่ถามสุขภาพซ๊ากกกคำ

ปกติเวลาเจอกับผู้ใหญ่แล้วพวกเขามักจะสอบถามสารทุกข์สุขดิบของเรา เรียนที่ไหน เป็นยังไงบ้าง ชอบทำอะไร แต่สมัยนี้น้อยลงแล้ว เพราะเปลี่ยนเป็น “ดูโทรศัพท์ให้หน่อยสิ มันเป็นอะไรก็ไม่รู้” พร้อมกับยื่นโทรศัพท์ให้ และเป็นเราที่ต้องสวมวิญญาณเป็นช่างเทคนิคแก้ไขปัญหาให้กับพวกท่าน ซึ่งสำหรับเราแล้วปัญหาที่เจอก็ไม่ได้ใหญ่หรือหนักข้ออะไรนัก เช่น เมมฯ เต็ม แอปพลิเคชันหาย (เพราะมืออาจเผลอไปเลื่อนมัน) ลืมรหัสผ่าน ฯลฯ

ได้เห็นข้อความหรือบทสนทนาชวนหัว

เนื่องจากเป็นนักแชตมือใหม่ ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ติดแอปพลิเคชันสำหรับแชตสนทนาเป็นว่าเล่นแบบเรียกได้ว่า พิมพ์เก่งเอาเรื่อง ไม่ว่าจะพิมพ์หาลูก หากลุ่มเพื่อน และบทสนทนาตลก ๆ ก็มักจะหลุดออกมาให้เราได้หัวเราะได้เสมออย่างการพิมพ์ผิดบ้างเพราะมองจอและกดแป้นพิมพ์ไม่ถนัดนัก ซึ่งลูกหลานส่วนใหญ่ก็จะแก้ปัญหาให้ด้วยการซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ไว้ให้หลาย ๆ ชุด เพื่อใช้แทนคำพูดหลาย ๆ คำเพื่อการประหยัดเวลาและความน่ารัก

อ่อนต่อโลก

เมื่อเราเป็นเด็กที่ประสบการณ์ชีวิตยังน้อยนิดเราก็คือคนที่อ่อนต่อโลก และในมุมมองเดียวกันเมื่อผู้ใหญ่เจอกับโลกโซเชียล ตอนอยู่กับโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตพวกท่านอาจมักไม่ชอบความซับซ้อนหลายขั้นหลายตอน ก็อาจใช้งานไปตามความเข้าใจของท่านเอง ซึ่งความจริงแล้วโลกออนไลน์นั้นมันกว้างขวางเกินกว่าที่เขาคิด ทุกการกระทำมันส่งผลต่อคนอื่น ๆ ได้มากมาย จนบางครั้งอาจพลั้งไปกดแชร์อะไรผิด ๆ หรือแสดงความคิดเห็นต่อคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้จักกัน

โดยเฉพาะกับเรื่องของมุกต่าง ๆ ที่แพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ซึ่งพวกท่านอาจเห็นแล้วไม่ทันมุกก็มีการคอมเมนต์จริงจังสาธยายยาวเหยียดเป็นที่ขบขันของชาวเน็ตคนอื่น ๆ หรือหนักจนถึงขั้นไปเถียงกับใครสักคนจนถูกเอาไปประจาน เรื่องแบบนี้ลูกหลานควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิดกำหนดขอบเขตและให้คำแนะนำที่ดี

ภูมิต้านทานมิจฉาชีพต่ำ

เพราะผู้ใหญ่หลายคนอาจเพิ่งเคยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก เรื่องหลอกลวงที่เราเห็นกันมาหลายครั้งหลายคราที่ยังคงอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แม้กระทั่งรุ่นเราเองก็อาจเคยตกหลุมพรางเรื่องหลอกลวงนี้มาแล้วทั้งนั้น นับตั้งแต่การหลอกแบบข้อความลูกโซ่ที่ให้ส่งต่อพร้อมคำสาปแช่ง ไปจนถึงการหลอกลวงที่ทำให้มีความเสียหายต่อทรัพย์สิน

ยิ่งเป็นชุดข้อความที่ส่งต่อ ๆ กันโดยผู้ใหญ่ด้วยกันเองนั้นอาจทำให้พวกท่านปักใจเชื่อแทบจะทันที เพราะถูกส่งต่อมาจากคนที่รู้จักกันซึ่งบางเรื่องแม้กระทั่งเราเข้าไปอธิบายให้เขาใจท่านก็ไม่ฟัง รวมไปถึงพวกท่านอาจยังไม่เข้าใจเรื่องของการหวงแหนข้อมูลส่วนตัว โดยโพสต์ชื่อ ที่อยู่ อย่างกระจัดกระจาย อาจทำให้ตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพได้

เรื่องแบบนี้เราในฐานะลูกหลานที่ใกล้ชิดกับพวกท่านมากที่สุดควรสอดแนมการใช้งานโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตอย่างใกล้ชิด และให้คำตอบและคำปรึกษารวมถึงข้อแนะนำด้วย อย่ารำคาญคนแก่เลย เพราะไม่ว่าใครเมื่อเจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยก็ต้องเรียนรู้กันทั้งนั้น ตอนเราเป็นเด็กเราซักเราถามผู้ใหญ่เป็นร้อยรอบพวกท่านยังไม่รำคาญเราแม้สักนิด เอาเป็นว่าหาวิธีจัดการให้การใช้งานอยู่ในขอบเขตที่เราตั้งไว้จะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook