"ปูซาน" เมืองใหญ่ในเกาหลีใต้ เร่งสร้างระบบ "สมาร์ทซิตี้" สำหรับคนตาบอด
ผู้บริหารเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกค่อยๆ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตของประชาชน และคำว่า "สมาร์ทซิตี้" เป็นเเนวคิดที่กำลังเป็นกรอบการพัฒนาโครงการต่างๆ มากมาย
เเนวคิดที่ทำให้เมืองใหญ่มีความทันสมัยมากขึ้น ยังค่อยๆ ผนวกแง่มุมที่ช่วยให้กลุ่มประชากรคนพิการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกด้วยดังตัวอย่างที่เห็นในนครปูซาน เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเกาหลีใต้
สำนักข่าว Associated Press หรือเอพี รายงานว่าทางการของนครเเห่งนี้นำนวัตกรรมสำหรับคนตาบอดมาใช้ที่สถานีรถไฟใต้ติน ถือเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญของเกาหลีใต้ ซึ่งมีคนตาบอด 250,000 คน เทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ 52 ล้านคน
หัวใจของเครื่องมือช่วยคนพิการทางสายตาคือการติดตั้งเทคโนโลยีติดต่อสื่อสารลงไปในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตัวอย่างที่มักเคยเห็น เช่น อุปกรณ์สื่อสารด้วยเสียง บริเวณทางเท้า ทางม้าลาย และภายในรถตู้ผู้โดยสารรถไฟ เป็นต้น
สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ที่เมืองปูซาน ที่เรียกว่าระบบ "นากาชิ นารานฮี" ยกระดับบริการให้คนตาบอดสามารถเดินทางได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น
นากาชิ นารานฮี ที่เเปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Side By Side” หรือ “เคียงข้างกัน” ซึ่งกำลังอยู่ในั้นทดลอง อาศัยเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งหรือ GPS ที่เชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทโฟน
A visitor looks at a map of the Korean peninsula at the DMZ museum inside a restricted area in Goseong, South Korea, Feb. 8, 2019.
หากว่าใครอยู่ในสถานีรถไฟ และมีคำถามเกี่ยวกับการเดินไปจุดหนึ่งอีกจุดหนึ่ง เช่น จากลิฟท์ ไปยังที่ยืนรอรถและ ทางออก ระบบดังกล่าวจะบอกเส้นทางอย่างละเอียดแทบจะทุกฝีก้าว ขณะที่ผู้ใช้เดินไปสู่จุดหมายเหล่านั้น
เวลาที่ระบบทำงาน เสียงการนำทางจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟน จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยที่อยู่เคียงข้างผู้ที่มีปัญหาในการมองเห็น
สถานีรถไฟยังมี เครื่องส่งสัญญาณ Bluetooth ตามจุดต่างๆ ที่อัพเดทแผนที่และเสนอข้อมูลเพิ่มเมื่อผู้ใช้เดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และยังสามารถเลือกภาษาในการสื่อสารกับระบบได้หลายภาษาอีกด้วย
จุดรับข้อมูลจากแผนที่ มีหน้าจอที่มีตัวอักษร เบรลล์ สำหรับคนตาบอด ซึ่งจอสามารถเปลี่ยนแผนที่ภาพเป็นแผนที่ที่คนตาบอดสามารถใช้มือสัมผัสเพื่ออ่านเส้นทางได้
เจ้าหน้าที่นครปูซานหวังว่าจะสามารถให้บริการแก่คนตาบอด ด้วยระบบ “นากาชิ นารานฮี” ที่สถานีรถไฟใต้ดิน 114 แห่งทั่วเมืองในที่สุด
เจ้าหน้าที่บอกกับวีโอเอด้วยว่า เทคโนโลยีบางอย่าง เช่น จุดให้ข้อมูลแผนที่ นอกจากจะมีประโยชน์กับคนตาบอดเเล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชากรในวงกว้างด้วย
สำหรับผู้ใช้ที่เป็นคนตาบอดเเละครอบครัว บางคนเห็นว่า ระบบ “นากาชิ นารานฮี” ช่วยทำให้คนที่มีปัญหาในการมองเห็นอยู่ในสังคมอย่าง “เคียงข้างกัน” กับประชากรโดยรวม ซึ่งน่าจะค่อยๆ คุ้นชินและมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับภาพของคนตาบอดในระบบบริการขนส่งมวลชนอีกด้วย