เมื่อเทคโนโลยีสำรองข้อมูลบน “คลาวด์” ทำลายสิ่งแวดล้อม

เมื่อเทคโนโลยีสำรองข้อมูลบน “คลาวด์” ทำลายสิ่งแวดล้อม

เมื่อเทคโนโลยีสำรองข้อมูลบน “คลาวด์” ทำลายสิ่งแวดล้อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายสิ่งหลายอย่างกลายสภาพจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล เทคโนโลยีพัฒนาทุกวันและฉลาดมากขึ้น แน่นอนว่ามันเป็นผลดีต่อมนุษย์ ที่จะสามารถใช้งานสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้สะดวกสบายขึ้นจากความอัจฉริยะของเทคโนโลยี

นอกจากนี้ โลกยุคปัจจุบันมีข้อมูลอยู่มากมายมหาศาล ข้อมูลที่สำคัญแต่ละอย่างต้องการการจัดเก็บไว้ใช้งาน แต่การเก็บไว้กับตัวหรือกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงมาก ๆ ก็เสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหาย ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “คลาวด์” ขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับสำรองข้อมูลไว้ไม่ให้มันหายไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุปกรณ์ของเรา ข้อมูลทุกอย่างก็ยังอยู่ และสามารถเรียกใช้งานได้ ตราบเท่าที่ยังมีอินเทอร์เน็ตใช้และยังจำรหัสผ่านได้

เทคโนโลยีการสำรองข้อมูลบนคลาวด์

หรือที่เรียกว่า คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) เริ่มมีใช้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 แต่ได้รับการพัฒนาให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ช่วงปลายทศวรรษ 1990 การทำงานของคลาวด์ก็คือ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจัดเก็บข้อมูลในศูนย์ข้อมูลที่ใช้ร่วมกันได้ทั่วโลก

ตัวเลขในปี 2018 ประเมินว่าผู้คนกว่า 3.6 พันล้านคน กำลังเข้าถึงบริการคลาวด์คอมพิวติ้งมากมาย ซึ่งผู้ให้บริการที่เป็นที่รู้จักก็อย่างเช่น Google Drive, Office365, Oracle, Netflix และ Dropbox ส่วนผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งรายใหญ่ที่สุดคือ Amazon Web services (AWS), Microsoft Azure และ Google Cloud Platform

การอัปโหลดข้อมูลขึ้นไปสำรองไว้บนคลาวด์คอมพิวติ้ง จำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ “อินเทอร์เน็ต” อย่างไรก็ดี การพูดถึงอินเทอร์เน็ตมันก็ค่อนข้างที่จะนามธรรม ตรงที่เรารู้สึกว่าเรามองไม่เห็นตัวของอินเทอร์เน็ต (แต่รู้ว่ามันมี) ในขณะที่ถ้าเป็นหนังสือ แผ่นดีวีดี แฟลชไดร์ฟ เรามองเห็นรูปชัดเจน จับต้องได้ ฉะนั้น เราอาจจะไม่ทันได้คิดว่าข้อมูลที่อัปโหลดขึ้นคลาวด์นั้นไม่สามารถล่องลอยหรือมีสภาพเป็นอากาศ แต่มันจำเป็นต้องใช้พื้นที่จริง ๆ บนโลกในการจัดเก็บข้อมูลอยู่ดี ตรงนี้นี่เองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อเราจัดเก็บไฟล์ข้อมูลไว้บนคลาวด์ นั่นหมายถึงเรากำลังจัดเก็บไฟล์แบบออนไลน์ ใครก็ตามที่ต้องการจะสำรองหรือเก็บข้อมูลของตนเอง ก็สามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการทั้งหลายได้ มีทั้งแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ได้พื้นที่จำกัด (ซึ่งก็มากอยู่) หรือถ้าเป็นบริษัทหรือองค์กรใหญ่ ๆ ที่มีข้อมูลมหาศาล อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้พื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น

การใช้งานคลาวด์เก็บข้อมูล

เมื่อเราอัปโหลดอะไรบางอย่างขึ้นคลาวด์ผ่านบริการของผู้ให้บริการ ระบบจะส่งไฟล์นั้นผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลที่สูงมาก แน่นอนว่าเซิร์ฟเวอร์คือสิ่งที่มีอยู่จริงและจับต้องได้ ผู้ให้การบริการคลาวด์จะมีเซิร์ฟเวอร์นับหมื่นนับแสนเพื่อไว้ใช้เก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการ จนอาจเรียกว่า “เซิร์ฟเวอร์ฟาร์ม” เพราะมันเป็นแหล่งรวมคอมพิวเตอร์ศักยภาพสูงไว้มากมายเหมือนเป็นฟาร์ม เป็นศูนย์ข้อมูลที่ใช้ร่วมกันได้ทั่วโลก

เทคโนโลยีนี้ถึงจะเรียกว่าคลาวด์ แต่คลาวด์คอมพิวติ้งก็ไม่ใช่ก้อนเมฆบนชั้นบรรยากาศ และข้อมูลต่าง ๆ ก็ไม่ได้อยู่ในอากาศด้วย ยังต้องอาศัยพื้นที่ที่มีหน่วยความจำขนาดยักษ์ในการจัดเก็บ แม้ว่าคลาวด์จะไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้ ทว่าเราก็ยังพอใจที่จะใช้มันเป็นที่สำรองข้อมูลของเรา เมื่อรู้สึกว่าโทรศัพท์ของเรามีรูปภาพมากเกินไป คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่มีไฟล์เยอะเกินไป การใช้คลาวด์เป็นตัวช่วยจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น ในยุคที่ทุกอย่างเริ่มกลายสภาพเป็นดิจิทัล

คลาวด์คอมพิวติ้งกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เซิร์ฟเวอร์ที่เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์จะมีลักษณะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ (data center) ที่จะมีลักษณะเป็นอาณาเขตใหญ่ ๆ ที่เต็มไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง เอาไว้รองรับข้อมูลที่ผู้ใช้บริการจะอัปโหลดขึ้นมา โดยข้อมูลที่เรา ๆ อัปโหลดขึ้นคลาวด์นั้นไม่ได้มีแค่ของเราคนเดียว และผู้ใช้บริการบางรายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีข้อมูลมหาศาล ดังนั้น “เซิร์ฟเวอร์ฟาร์ม” จึงต้องเป็นแหล่งเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เช่นกัน เมื่อใดที่มีข้อมูลมากเกินขีดจำกัด ก็ต้องขยายฟาร์มเพิ่ม

เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มมีเซิร์ฟเวอร์นับพันนับหมื่นเครื่อง ทั้งหมดต้องเปิดใช้งานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้บริการจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ดังนั้น คอมพิวเตอร์ที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน จำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก คอมพิวเตอร์จะเปิดตลอดเวลาไม่ได้ถ้าไม่มีไฟฟ้า การเปิดเครื่องไว้ทั้งวันทั้งคืนอาจทำให้เครื่องเกิดความร้อน ก็ต้องมีระบบทำความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เครื่องร้อน เพราะอาจเกิดเหตุการณ์เครื่องร้อนจนไปช็อต เกิดเหตุเพลิงไหม้ และในที่สุดข้อมูลก็อาจจะถูกทำลาย

ที่สำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ การใช้พลังงานย่อมปล่อยของเสียออกมา หรือก็คือคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้ไฟฟ้า การใช้ระบบทำความเย็น รวมถึงการขยายพื้นที่ฟาร์มให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะต้องเพิ่มขึ้น ยิ่งชาวโลกมีข้อมูลที่จะฝากไว้บนคลาวด์มากเท่าไร ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องงมากเท่านั้น เพราะถ้าพื้นที่หนึ่งเต็ม ก็ต้องสร้างพื้นที่เก็บใหม่ เพื่อไม่ให้ข้อมูลใหม่ไปทับกับข้อมูลเก่าที่มีอยู่

ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากคลาวด์คอมพิวติ้ง

การที่อัปโหลดข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ แม้ว่าเราจะรู้สึกอุ่นใจว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของเราข้อมูลก็จะไม่หายไปไหน อยากใช้เมื่อไรก็เรียกใช้ได้เสมอ แต่เราอาจไม่ได้คิดในมุมที่ลึกกว่านั้นนอกเหนือจากความสะดวกสบายของตัวเอง ว่ามันทำลายสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน

ในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลว่าการบริการเพลงแบบสตรีมจะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด๋ออกสู่ชั้นบรรยากาศ 25,000 ถึง 40,000 ตันทุกปี เนื่องจากต้องใช้พลังงานจำนวนมากและจำเป็นต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงด้วย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในปัจจุบัน การขยายตัวของคลาวด์คอมพิวติ้งรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI ก็ต้องใช้พลังงานอย่างมากอีกเช่นกัน กรีนพีซ (Greenpeace) ประมาณการว่าภายในปี 2025 ภาคเทคโนโลยีจะใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั้งหมดของโลกเลยทีเดียว นอกจากนี้การศึกษาของ IDC (Internet Data Center) ก็อ้างว่าภายในปี 2025 ปริมาณการใช้ข้อมูลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น 175 เซตตาไบต์ (175 ล้านล้านกิกะไบต์) โดยมีคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการเติบโตนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่นจากการใช้คลาวด์คอมพิวติ้งก็คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2018 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 50 ล้านเมตริกตันทั่วโลก เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นเซิร์ฟเวอร์จะถูกเปลี่ยนเมื่อถึงคราวหมดอายุการใช้งาน รวมถึงเมื่อมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยะเหล่านั้นจะมีสารเคมีหล่อเย็นที่ใช้ในห้องเซิร์ฟเวอร์ แบตเตอรี่สำรอง การกำจัดทั้งแบตเตอรี่ที่เป็นพิษและสารหล่อเย็น อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมหากไม่ได้จัดการอย่างถูกวิธี

การปลดปล่อยคาร์บอนจากการใช้งานก็เช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีเอกชนหลายเจ้าและรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้คาร์บอนเป็น 0 ได้ อีกทั้งการใช้คลาวด์คอมพิวติ้งในการขุดสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ก็สามารถผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากพอที่จะทำให้โลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050

เอกชนปรับตัวแล้ว

มีเอกชนหลายเจ้าที่คำนึงถึงปัญหานี้ และพยายามที่จะปรับระบบของตนเองให้ลดปริมาณการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม เช่น Google และ Microsoft ปีที่ผ่านมา Google กำลังจัดการระบบคลาวด์ของตัวเองให้เป็น carbon-free ตลอด 24 ชั่วโมง ภายในปี 2030 ส่วน Microsoft ก็พยายามจะทำดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียว ที่ใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Amazon Web Services (AWS) ก็กำลังขับเคลื่อนระบบคลาวด์โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนเมษายน บริษัทมีฟาร์มกังหันลมใหม่ 3 แห่งที่สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ 670,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ทุกปี แล้วนำพลังงานนั้นมาใช้กับระบบตัวเอง

มีรายงานว่า Apple จะซื้อที่ดินอีก 100 เอเคอร์ เพื่อเพิ่มขนาดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสองเท่า ซึ่งปัจจุบันการผลิตพลังงานหมุนเวียนนี้ ผลิตพลังงานได้มากกว่า 80 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (KWh) ต่อปี นอกจากนี้ Apple ยังวางแผนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ระบบคลาวด์ของตัวเองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต

ในฐานะผู้ใช้งาน ทำอะไรได้บ้าง

เราอาจมองเพียงด้านดีของเทคโนโลยีนี้ ว่ามันทำให้เราสามารถเก็บสำรองข้อมูลมากมายที่ทำให้ความจำโทรศัพท์เต็ม หรือมีล้นคอมพิวเตอร์แบบออนไลน์ ข้อมูลไม่หาย เรียกใช้และอัปโหลดเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา แต่ยิ่งเราใช้พื้นที่ความจำมากเท่าไร ก็เท่ากับว่าเรามีส่วนทำลายโลกให้แย่กว่าเดิมได้มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งข้อมูลเยอะก็ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์เยอะ ต้องใช้พลังงานสูง ปลดปล่อยก๊าซพิษมากขึ้น และมีขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกจำนวนมาก

เพื่อช่วยกันยื้อสภาพแวดล้อม เราอาจต้องจัดการข้อมูลบนคลาวด์ของเราบ้าง เพราะข้อมูลที่เราอัปโหลดขึ้นไปนั้นอาจไม่ได้สำคัญทั้งหมด ข้อมูลบางอย่างไม่มีประโยชน์แล้ว หรือข้อมูลบางอย่างเราอาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเคยมี ฉะนั้น ข้อมูลไหนที่ไม่สำคัญ ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วก็ลบทิ้งไปบ้าง แค่ช่วยกันลบข้อมูลที่ไม่สำคัญไปคนละนิดคนละหน่อย เราก็จะได้พื้นที่ในระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การเพิ่มเซิร์ฟเวอร์ช้าลงอีกนิด ลดการใช้พื้นที่เก็บเพิ่มเติมนั่นเอง

ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถจัดการได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน แต่มนุษย์เราทั้งโลกต่างก็ใช้ทรัพยากรร่วมกัน อยู่อาศัยบนโลกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็จำเป็นต้องช่วยกันรักษาโลกนี้ด้วยเช่นกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook