หุ่นยนต์สุนัขตำรวจ: เครื่องมือที่มีประโยชน์หรือสิ่งคุกคาม?

หุ่นยนต์สุนัขตำรวจ: เครื่องมือที่มีประโยชน์หรือสิ่งคุกคาม?

หุ่นยนต์สุนัขตำรวจ: เครื่องมือที่มีประโยชน์หรือสิ่งคุกคาม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน หุ่นยนต์สุนัขตำรวจถูกนำไปใช้ในงานตรวจหาคนไร้บ้านที่มีอุณหภูมิร่างกายที่สูง ณ ที่พักพิงชั่วคราวที่โฮโนลูลู เมืองหลวงของฮาวาย

ความพยายามดังกล่าวเป็นวิธีหนึ่งที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยสาธารณะเริ่มใช้หุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ที่มีชื่อว่า Spot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนสัตว์และสามารถเดินได้เหมือนมนุษย์แทบทุกอย่าง

เจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายรัฐกำลังทดลองใช้เจ้าเครื่องจักรสี่ขาที่พวกเขาบอกว่ามันเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เผชิญเหตุฉุกเฉินได้รับความปลอดภัย แต่ผู้คนที่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว เตือนว่า ตำรวจนำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีการป้องกันการใช้งานในทางที่ผิดๆ

หุ่นยนต์ตรวจหาโควิดที่ฮาวาย

สำนักงานตำรวจที่เมืองโฮโนลูลู ฮาวาย ใช้เงินเยียวยาโควิดที่ได้รับจากรัฐบาลกลางราว 150,000 ดอลลาร์ในการซื้อหุ่นยนต์ Spot จากบริษัท Boston Dynamics เพื่อใช้ในที่พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านของรัฐบาลที่อยู่ใกล้กับสนามบิน

Jongwook Kim ผู้อำนวยการด้านกฎหมายของสหพันธ์ American Civil Liberties Union of Hawaii กล่าวว่า เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัย ดังนั้นการที่นำหุ่นยนต์สุนัขตำรวจมาใช้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่หลังจากที่โรคระบาดสิ้นสุดลงก็ควรปรับการใช้งานที่แตกต่างออกไป

Joseph O'Neal หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ชุมชนของสำนักงานตำรวจโฮโนลูลู ได้กล่าวในเรื่องการใช้งานของหุ่นยนต์เมื่อต้นปีนี้ว่า หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายระหว่างมื้ออาหาร ช่วยให้คนไร้บ้านได้ตรวจหาโควิด-19 นอกจากนี้ยังสามารถสื่อสารกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะติดเชื้อ

O’Neal กล่าวว่า ไม่มีใครเลยที่บอกว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวมีความน่ากลัว และพวกมันจะไม่ตรวจสอบใครโดยไม่มีสาเหตุด้วย

ปัจจุบันการนำหุ่นยนต์สุนัขตำรวจมาใช้นั้นยังมีไม่มากนัก เนื่องจากยังไม่ได้ผ่านการทดสอบการใช้งานอย่างจริงจัง ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการโฮโนลูลูต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์เมื่อองค์กรข่าวท้องถิ่น Honolulu Civil Beat พบว่า หุ่นยนต์ Spot นั้นถูกซื้อมาด้วยเงินเยียวยาโควิด-19 จากรัฐบาลกลาง

Digidog ที่นิวยอร์ก

สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กก็เริ่มใช้หุ่นยนต์ Spot หลังจากที่เปลี่ยนสีให้เป็นสีน้ำเงิน และเปลี่ยนชื่อเป็น "Digidog"

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ Spot ที่นิวยอร์กได้รับทั้งความสนใจและคำวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้ตำรวจต้องตัดสินใจส่งคืน Digidog ให้กับบริษัทผู้ผลิต

บริษัท Boston Dynamics กล่าวว่า ทางบริษัทพยายามเรียนรู้จากเหตุการณ์ในนครนิวยอร์ก เพื่อที่จะสามารถอธิบายให้สาธารณชนทราบว่าอะไรบ้างที่หุ่นยนต์ Spot ทำได้และทำไม่ได้

Michael Perry รองประธานของ Boston Dynamics กล่าวว่า แนวทางการใช้งานของบริษัทห้ามไม่ให้ใช้หุ่นยนต์เป็นอาวุธ นอกจากนี้ไม่ควรใช้ในลักษณะที่จะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือกฎหมายสิทธิพลเมืองด้วย

ทั้งนี้ Boston Dynamics ได้อาศัยเงินจากการวิจัยทางการทหารมาเป็นเวลาหลายปี และทางบริษัทต้องการให้หุ่นยนต์ดังกล่าวนี้ดูเป็นมิตรกับรัฐบาลท้องถิ่นและธุรกิจต่างๆ มากขึ้น

Ghost Robotics ในฟิลาเดลเฟีย

นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ผลิตหุ่นยนต์อีกรายหนึ่งคือ Ghost Robotics ในฟิลาเดลเฟีย ซึ่งอนุมัติให้ใช้หุ่นยนต์ของตนเป็นอาวุธในกองทัพ โดยช่วยจัดหาหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเหมือนสุนัขให้กับกองทัพสหรัฐฯ หลายแห่ง ตลอดจนพันธมิตรของกองทัพด้วย

Michael Perry รองประธาน Boston Dynamics กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้งานหุ่นยนต์ Spot ในการตรวจสอบพื้นที่ที่มีระดับไฟฟ้าที่เป็นอันตรายอยู่ประมาณ 500 ตัว นอกจากนี้ Spot ยังถูกนำไปใช้ในสถานที่ก่อสร้าง เหมือง และโรงงานต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ Spot ยังคงถูกควบคุมโดยมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ สิ่งเดียวที่ผู้ควบคุมหุ่นยนต์ต้องทำก็คือการบอกทิศทางให้กับเจ้า Spot เพียงแค่นั้นมันก็จะสามารถจัดการกับเส้นทางที่ยากลำบากต่าง ๆ อย่างเช่นขั้นบันไดได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook