เปิดชีวิตหญิงแกร่งยุคใหม่กับการเป็น ‘ไรเดอร์’ เวลาที่ลงตัว + รายได้ที่เพียงพอ = ชีวิตที่เลือกได้เอง
ในยุคที่สถานการณ์บังคับให้เราต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ทำให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นที่ต้องการ และงานไรเดอร์ก็เป็นฟังเฟืองสำคัญในบริการนี้ ลูกค้าที่ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่หลายท่าน คงจะชินตาเวลาไรเดอร์มาส่งอาหารให้เราเป็นผู้ชาย แต่วันนึงพอเราเห็นพี่ไรเดอร์จอดมอเตอร์ไซค์คันใหญ่รออยู่หน้าบ้านพร้อมยื่นกล่องข้าวให้เรา เป็นผู้หญิงแววตาใจดี ดูอ่อนโยนคนนึง ก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า “พี่สาวคนนี้คูลมากเลย”
วันนี้เราอยากชวนมาเปิดมุมมองให้เข้าใจแนวคิดของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ที่มีความมั่นใจ มีความสามารถ รู้ศักยภาพตัวเองในการเดินทางก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ โดยไม่ต้องให้สังคมตีกรอบว่า ‘ผู้หญิง’ ควรหรือไม่ควรทำงานอะไร
ปัจจุบันมีผู้หญิงรับบทบาทหัวหน้าครอบครัว หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่นั่นไม่ใช่กับ ‘เอ จิตณรงค์’ ไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า หญิงแกร่งวัย 35 ปี ที่ไม่ยอมแพ้ ต่อสู้จนมีรายได้ที่มั่นคง เลี้ยงดูคนในครอบครัว 6 ชีวิต คือ ตัวเอเอง ลูก 3 คน หลานวัย 4 ขวบ และพี่สาวที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช
ก่อนจะเป็นไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า เอ เคยผ่านงานมาแล้วมากมายหลายอาชีพ ตั้งแต่น้องร้องคาเฟ่, เด็กเสิร์ฟ, มาร์กี้โต๊ะสนุ๊ก, ขายไอศกรีม, ขับวินมอเตอร์ไซค์, เปิดร้านขายผัดไทย เคยแม้กระทั่งล่องใต้รับจ้างเก็บน้ำยาง และขึ้นเหนือสุดเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวที่จังหวัดเชียงราย แต่ชะตาชีวิตก็พาเอไปพบกับอาชีพที่ลงตัวและสร้างความสุขให้กับเอได้
“ในชีวิตทำงานเป็นแม่ค้าตั้งแต่ ป.2 โตมาไปเป็นนักร้องคาเฟ่ รับจ้างเก็บน้ำยาง เป็นพนักงานล้างรถ อยู่ภาคใต้ 3-4 ปี เคยเปิดร้านผัดไทยที่กรุงเทพฯ ก่อนจะไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวที่เชียงราย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายตัดสินใจทำอาชีพขับ วินมอเตอร์ไซค์ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งมาเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้รายได้ซาลงไป” เอ คุณแม่ลูก 3 เผย
เอเล่าว่ามาเป็นไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า ได้เพราะเคยเห็นน้องชายเคยขับฟู้ดแพนด้า ตั้งแต่ยุคแรก ๆ และมีรายได้ดี เลยตัดสินใจสมัคร ส่วนเหตุผลหลัก ๆ ที่เลือกอาชีพไรเดอร์สำหรับเอ ก็คือเรื่อง “เวลา” และผลพวงที่ตามมาก็คือ “รายได้”
เอเล่าต่อว่า สำหรับตอนนี้ตนเลือกที่จะขับแค่ครึ่งวันเช้าเท่านั้น รายได้ก็ยังเพียงพอเลี้ยงครอบครัว ส่วนเวลาที่เหลือก็ได้ดูแลสมาชิกในครอบครัว สำหรับเอแล้ว การเป็น “ไรเดอร์หญิง” ในค่ายไรเดอร์สีชมพูไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการทำงานในสายงานที่มักจะพบเห็นแต่ผู้ชายเลือกเข้ามาทำกันมากกว่า
“ไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับเรา ครอบครัวก็มั่นใจในตัวเรา เพราะเป็นคนทำงานมาแต่ไหนแต่ไร เราไม่เคยหยุด อาจเพราะเคยขับวินมอเตอร์ไซค์ เคยขับอยู่หลายโซนทำให้รู้ว่าพื้นที่ไหนปลอดภัย หากกลัวที่เปลี่ยวช่วงกลางคืน ก็สามารถเลือกขับช่วงเช้าได้เช่นกัน”
แม้จะเป็นหญิงแกร่งไม่กลัวสิ่งใด แต่เอก็ต้องเจอกับวิกฤตที่ทำให้ท้อถึงขั้นน้ำตาไหลโดยเฉพาะประเด็นที่กลายเป็นกระแส #แบนfoodpanda ในช่วงไม่กี่เดือนก่อน
“วันนั้นแทบไม่มีออเดอร์เด้งเลย น้ำตาซึมเลย แต่ก็เชื่อมั่นว่ามันจะต้องดีขึ้น” เอเล่าต่อว่าเวลานั้นผ่านมาได้เพราะมีทั้งลูกค้า เพื่อน ๆ ไรเดอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่งานวางแผนการขนส่ง (Dispatcher) ของฟู้ดแพนด้า ที่ให้กำลังใจเป็นอย่างดี ทำให้ผ่านมาได้ จากนั้นรายได้ก็เริ่มกลับมาเป็นปกติในไม่กี่วัน
“เรื่องแค่นี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งดี ๆ ที่เราได้เจอ” จากนี้เอ มองว่าจะทำฟู้ดแพนด้าไปเรื่อย ๆ นานเท่าที่จะทำได้ ในฐานะแม่ ในฐานะยายที่ต้องดูแลหลาน จนกว่าเด็ก ๆ จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องอนาคต
“ยังทำต่อไปเพราะมีอิสระ อยากหยุดไปเที่ยวกับครอบครัว หยุดดูแลลูกหลาน หรือวันนี้เราเหนื่อย มีลูก มีพี่น้องมาหาเราก็หยุดได้ เวลาการทำงานก็เลือกได้ จะทำกี่ชั่วโมง เอาที่ไหวเราว่างกี่ชั่วโมงเราก็ขับเท่านั้น” เอเล่า
เรื่องเล่าจากเอ เป็นข้อพิสูจน์อีกข้อที่ทำให้เห็นว่างาน ‘ไรเดอร์’ นั้นนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยังเป็นงานที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า ผู้หญิงคนหนึ่ง สามารถลุกขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ ‘ไรเดอร์’ ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่ยัง “สร้างอาชีพอย่างเท่าเทียม” ให้กับผู้หญิง รวมถึงคนกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจไม่มีทุนรอนหรือความรู้เฉพาะทางได้
“เราไม่มีทุนเราก็ทำได้ เราไม่มีความรู้เราก็ทำได้ เราเป็นผู้หญิงเราก็ทำได้ เราเป็นคนแก่เราก็ทำได้ ขอแค่เรามีใจรักบริการเราก็จะทำได้” เอ ปิดท้าย