ไม่เกินจริง ที่ AI จะแย่งงานคน จากอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง!
ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เราตัดสินใจเลือกซื้อของแบรนด์นี้ เลือกเดินเข้าร้านนี้ หรือเลือกกินอาหารร้านนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราเคยเปิด “รีวิว” อ่าน/ดู มาก่อน ถ้าภาพรวมของรีวิวบอกว่าแบรนด์นี้ ร้านนี้ ของสิ่งนี้ดี ก็มีแนวโน้มที่เราจะตามไปตำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นตามที่รีวิวบอก แต่ถ้าภาพรวมของรีวิวบอกว่าไม่ดี ไม่โอเค อย่าหาลอง ก็มีแนวโน้มว่าเราจะเชื่อ และไม่เข้าไปลองเองเหมือนกัน นี่แหละคืออิทธิพลของ “การรีวิว” ที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภค
เมื่อการรีวิวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค คนที่ทำหน้าที่ในการรีวิวก็มีบทบาทมากเหมือนกัน นี่จึงเป็นอีกข้อที่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่า “อินฟลูเอนเซอร์” มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย และเป็นอีกส่วนที่สำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี โลกยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้มีแค่มนุษย์เท่านั้นที่จะรีวิวของหรือโฆษณาสิ่งต่าง ๆ ได้ เพราะ “หุ่นยนต์” ก็ทำได้แล้วเหมือนกัน ความเจ๋ง ความอัจฉริยะของ (คนที่สร้าง) AI และหุ่นยนต์ ทำให้ หุ่นยนต์ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีหัวใจ สามารถทำงาน “เสมือน” มนุษย์ได้ แม้ว่าจะใช้คนอย่างเรา ๆ ควบคุมอยู่เบื้องหลังอีกทีอยู่ดีก็ตาม
อินฟลูเอนเซอร์ “เสมือน” คน อาจแย่งงานคนจริง ๆ เข้าสักวัน
จากที่เคยมีบทความต่าง ๆ มากมายที่กล่าวถึงอนาคต ที่ว่า “AI” จะมาแย่งงานมนุษย์นั้น มาจนถึงทุกวันนี้ มันใกล้ตัวกว่าที่คิด และพัฒนามาได้เร็วเกินจนแทบตั้งตัวไม่ทัน ใครจะไปคิดว่าการรีวิวสินค้าหรือโฆษณาสินค้า ที่หลาย ๆ ครั้งจำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะทางขึ้นมาประกอบการรีวิว ด้วยสมองและความคิดของมนุษย์ อินฟลูเอนเซอร์ในโลกเสมือนจริงก็ทำได้เหมือนกัน แถมแนวโน้มในการเติบโตก็ไม่ได้มาเล่น ๆ ด้วย เนื่องจากปัจจุบัน มีหลากหลายแบรนด์ที่เลือกใช้เทรนด์นี้ในการสื่อสารกับชาวเน็ตที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์
AI Influencers หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยี AI ถือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เสมือนจริง อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ “ไม่ใช่มนุษย์” เป็นเพียงตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์กราฟิก โดยสร้างให้เหมือนคนจริง ๆ มากที่สุด ไม่เพียงแต่รูปลักษณ์เท่านั้น แต่หมายถึงคาแรคเตอร์ที่ผู้สร้างใส่เข้ามาด้วย เพื่อที่จะให้ตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นมานั้นดูมีความเป็นมนุษย์ และสมจริงมากที่สุด มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น วันเดือนปีเกิด สัญชาติ งานอดิเรก ของสะสม ความชอบ ไปจนถึงความสนใจเฉพาะทาง
พูดง่าย ๆ ก็คือ Virtual Influencer หรือ AI Influencer ก็คือ “คน” ที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างขึ้น โดยอาศัยระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ในการคำนวณรูปลักษณ์ให้เหมือนคนมากกว่าการ์ตูนแอนิเมชัน และเพิ่มลักษณะพิเศษ เช่น คาแรคเตอร์ บุคลิกภาพเข้าไป ดังนั้น การจะสร้างมนุษย์เสมือนจริงออกมาใช้งานได้จริงนี้ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมถึงต้นทุนในการจ้างคนจริง ๆ ที่มีความสามารถด้านนี้เข้ามาทำงานอยู่เบื้องหลัง แล้วปลุกปั้นคนเสมือนเหล่านี้ให้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่ได้รับการยอมรับในสังคม
เราจะเห็นว่าความล้ำของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถทำให้สิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีคุณสมบัติทางจิตใจ สามารถลงสนามมาเป็น Influencers ได้! นั่นแปลว่าสิ่งไม่มีชีวิตเหล่านี้ก็รีวิวสินค้าหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ที่อาจจะเป็นส่วนสำคัญในการพลิกโฉมวิธีคิดและวิธีการโฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ ไปด้วยเช่นเช่นกัน
การสร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ถือเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ไม่กี่ปีผ่านมา มีนักพัฒนาหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ รวมถึงไทย ต่างก็สร้างอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงของตัวเองขึ้นมา แล้วเริ่มต้นสร้างเม็ดเงินมหาศาลแล้วเช่นกัน
อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง มีใครแล้วบ้างบนโลกนี้
ต้องยอมรับว่าในยุคที่วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเฟื่องฟูและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเดินหน้าพัฒนาไปทุกวัน “โลกเสมือน” เป็นอีกสิ่งที่นักพัฒนาหลายคนกำลังให้ความสนใจ การสร้าง “คนเสมือน” ก็เช่นกัน ทำให้ AI Influencers กลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ในสนาม ที่เข้ามาสั่นคลอนสถานภาพของอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริง ๆ ในปัจจุบันที่ก็ไม่ค่อยมั่นคงเท่าไรนักอยู่แล้ว เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมาแข่งกันเองยังไม่พอ หุ่นยนต์ยังจะมาร่วมแข่งด้วยอีก
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าทุกวันนี้โลกของเรามาไกลขนาดที่มี AI Influencers แล้ว ถึงอย่างนั้น บางกรณีเราเองก็ไม่ได้จับได้เองว่าคนเหล่านี้เป็น AI แต่รู้เพราะเขาเฉลย โดยหุ่นยนต์หรือ AI เหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นคนดังในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ เช่น
Imma เป็นนางแบบเสมือนจริงคนแรกของญี่ปุ่น ปรากฏตัวครั้งแรกในปี 2018 คาแรคเตอร์ของเธอ คือ สาวฮิปผมบ๊อบสีชมพู เป็นคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เธอมีพี่ชายอีกหนึ่งคนชื่อว่า Zinn ที่ก็เป็นคนเสมือนเหมือนกัน เธอเคยร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกมาแล้วมากมาย
Lil Miquela นางแบบ-เน็ตไอดอลเสมือนจริง สัญชาติอเมริกันเชื้อสายบราซิล วัย 19 ปี จากลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ปรากฏตัวครั้งแรกในปี 2016 ด้วยบุคลิกห้าว ๆ เข้าถึงง่าย แต่อบอุ่นจริงใจ เธอเคยติด 1 ใน 25 ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในอินเทอร์เน็ตของนิตยสาร Time ในปี 2018
Shudu นางแบบหุ่นยนต์จากคอมพิวเตอร์คนแรกของโลก เธอเป็นนางแบบผิวสีชาวแอฟริกาใต้ ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์
Rozy อินฟลูเอนเซอร์หุ่นยนต์ของเกาหลี คาแรคเตอร์เป็นเด็กสาววัย 22 ปี สร้างจากภาพลักษณ์ความงามในอุดมคติของคนรุ่น MZ (Millenials+Gen Z) รายนี้เพิ่งจะเปิดตัวได้ไม่นาน แต่สามารถทำเงินมหาศาลให้กับบริษัทผู้สร้างแล้ว กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท Sidus Studio X ของเกาหลีใต้ ออกมาเปิดเผยรายได้ของ Rozy ว่าอาจทำรายได้ได้มากถึง 1 พันล้านวอน หรือราว ๆ 28.1 ล้านบาท ภายในปีนี้
ภาพจาก Jing Daily
Ling อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจากจีน เธอมีใบหน้าสวยตามสไตล์สาวจีน กับสไตล์การแต่งตัวแบบร่วมสมัย เปิดตัวครั้งแรกเมื่อกลางปี 2020 เธอก็ได้โอกาสร่วมงานกับ Tesla และนิตยสาร Vogue มาแล้ว
และไทยเองก็ไม่น้อยหน้า มี Ai Ailynn เป็น AI Influencers คนแรกของไทยด้วยเช่นกัน
Ai Ailynn หรือชื่อภาษาไทยว่า ไอ-ไอรีน เป็นอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง หรือ Virtual Influencers คนแรกของไทย สร้างโดย SIA Bangkok และเปิดตัวเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามประวัติของเธอ เธอเป็นสาววันอาทิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ปัจจุบันเธอมีอายุ 21 ปี (และจะ 21 ปีตลอดไป) สูง 165 เซนติเมตร หนัก 52 กิโลกรัม เลือดกรุ๊ป AB มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี การเต้น และการถ่ายภาพ เธอจึงลงสู่สนามอาชีพอินฟลูเอนเซอร์มาแล้วเรียบร้อย
ดูเหมือนว่ายิ่งเทคโนโลยีไปไกลมากเท่าไร คนจริง ๆ ก็ยิ่งอยู่ยากมากเท่านั้น!
ยกตัวอย่างที่ ไอ-ไอรีน เธอไม่ใช่มนุษย์ เธอคือหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ แต่สามารถทำหน้าที่รีวิวหรือโฆษณาสินค้าเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริง ๆ ได้ ตรงนี้จึงเป็นที่น่าสนใจว่า “อินฟลูเอนเซอร์เสมือน” นี้ อาจกำลังจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ในวงการการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) นั่นเอง
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง จะเป็นผู้กำหนดบุคลิก ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การแต่งตัว หรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่อินฟลูเอนเซอร์เสมือนมนุษย์นี้จะทำ ให้เหมือนกับว่าคนเสมือนเหล่านี้มีชีวิตอยู่จริง ๆ แบบที่คนจริง ๆ เขาทำกัน
อย่างไรก็ดี ข้อดีของการใช้อินฟลูเอนเซอร์เสมือนนี้ จะอยู่ที่เรื่องของการควบคุมภาพลักษณ์เป็นสำคัญ ต้องยอมรับว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริง ๆ นั้น มีข้อจำกัดในเรื่องนี้อยู่มากพอสมควร ซึ่งมันอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของคนที่รับงานเป็นอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงแบรนด์ที่จ้าง กรณีที่บุคคลผู้นั้นมีข่าวให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ไหนจะเรื่องความซับซ้อนทางอารมณ์ของมนุษย์ ที่เกิดวันไหนเหนื่อยมาก ๆ ขึ้นมา แล้วหลุดทำหน้าเหวี่ยงออกสื่อ เมื่อมีคนเต้าข่าวขึ้นมาจนเป็นเรื่องดราม่า ชีวิตในวงการอินฟลูเอนเซอร์คงจะสะเทือนไม่น้อยทีเดียว
กลับกัน หุ่นยนต์หรืออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงนี้ ไม่ได้มีประวัติชีวิตส่วนตัวให้ชาวเน็ตไปตามขุดได้ ว่าสมัยที่เธออายุ 18 ปี เธอเคยมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน หรือมีพฤติกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เพราะเอาเข้าจริงแล้ว หุ่นยนต์ไม่ได้มีอายุ 18 ปีได้ด้วยซ้ำ แต่มันเป็นการตั้งขึ้นมาต่างหาก เธอไม่มีอายุจริง เพราะเธอไม่ใช่มนุษย์!
เพราะอินฟลูเอนเซอร์เสมือน “สร้าง” มาจากเทคโนโลยี พวกเธอจึงค่อนข้างที่จะสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติทั้งเรื่องรูปลักษณ์บุคลิกภาพ และไร้ซึ่งข่าวฉาว ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่ไม่มีใครสมบูรณ์แบบโดยธรรมชาติ เมื่อทำผิด มีข้อขัดแย้ง หรือมีข่าวฉาว ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ซึ่งก็ยากจะกู้ชื่อเสียงคืนมา และส่งผลให้แบรนด์ได้รับผลกระทบไปด้วย จนทำให้แบรนด์ต้องปลดทิ้ง
ประเด็นที่สำคัญอีกประการ คือ จุดอ่อนของมนุษย์ เพราะคนเราไม่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้ สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพักกินข้าว ไม่ต้องหลับต้องนอน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แก่ตัวลง ด้วยอายุของพวกเธอจะหยุดอยู่ที่ตั้งต้นไว้ไปตลอดกาล แถมไม่เรื่องเยอะ ไม่มานั่งบ่นนู่นนั่นนี่ หรือต่อรองเรื่องค่าตัวให้ทางแบรนด์ต้องปวดหัว (แต่คนที่ทำหน้าที่ต่อรองเรื่องเงิน คือคนจริงที่ควบคุมระบบอยู่) ไม่มีอดีตฉาว ๆ อะไรให้ตามคุ้ย จึงไม่มีชาวเน็ตไปติดแฮชแท็กแบน
รวมถึงข้อจำกัดในการรับงานก็จะน้อยลง ตรงที่อินฟลูเอนเซอร์เสมือน จะตอบโจทย์บางงาน ที่คนจริง ๆ อาจไม่กล้าทำ เช่น เรื่องที่น่าอันตราย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คนจริง ๆ อาจตายได้ ในขณะที่หุ่นยนต์ เต็มที่ก็แค่เสียหาย พัง ซ่อมใหม่ก็ใช้ได้แล้ว! แต่นี่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้อยู่ในโลกเสมือน หากแบรนด์จะจ้าง ก็เพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างขึ้น ไม่ต้องออกกองถ่ายทำ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม ถ้ามีข้อผิดพลาด ก็ไม่ต้องแก้ไขหรือถ่ายใหม่ สรุปคือ ไม่ต้องเสียเวลา เสียงบประมาณ เสียความรู้สึก เสียแรงงาน
จะเห็นว่าในยุคที่ใด ๆ ในโลกเฟื่องฟูไปด้วยเทคโนโลยี ที่สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ แต่ดูเหมือนว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจะไม่สะดวกสบายสำหรับคนบางกลุ่มอีกต่อไป นั่นคือ อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริง ๆ ในเมื่อของเสมือนทำงานแทนได้ และลดข้อจำกัดลงไปได้เยอะ ถ้ามีบริษัทอื่น ๆ คิดจะสร้างหุ่นยนต์ทำนองนี้ขึ้นมามากขึ้น นั่นเท่ากับว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริง ๆ ก็กำลังจะถูกแย่งงานไป
ถึงอย่างไรก็เป็นแค่ “คนเสมือน”
แม้ว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจะมีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะการกลบข้อด้อยของมนุษย์จริง ๆ แต่ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะมันยังมีข้อจำกัดอีกหลายด้าน
การที่ไม่ใช้คนจริง ๆ ยังถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ และยังไม่ได้รับการยอมรับในวงการทั่วไป เอาเข้าจริงคือบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเรื่องแบบนี้บนโลก การที่จะมีคนบางส่วนที่รู้สึกไม่สบายใจกับการรีวิวหรือโฆษณาสินค้าของหุ่นยนต์มันก็มี รวมถึงบางคนที่อาจจะหนักกว่าตรงที่เห็นบรรดาหุ่นยนต์เหล่านี้โลดแล่นอยู่ในโซเชียลมีเดียและในวงการรีวิวสินค้า ชีวิตดูน่าสนใจ จึงไปกดติดตามช่องทางต่าง ๆ ที่หุ่นยนต์รีวิว ที่ไหนได้ พอเฉลยว่าไม่ใช่คนจริง ๆ อาจจะผิดหวังหรือรับไม่ได้เลยก็ได้ บางทีอาจรู้สึกเหมือนถูกหลอก เพราะเหมือนคนมากจริง ๆ
ที่สำคัญคือ การที่หุ่นยนต์ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างด้วยตัวเอง เพราะทดลองไม่ได้ ไม่มีคอมเมนต์หรือความคิดเห็นใด ๆ กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ชื่นชม วิจารณ์ ข้อดีข้อเสีย จริง ๆ แบบที่คนทำได้ เนื่องจากพวกเธอไม่มีหัวใจ ไม่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ต่อสินค้าหรือบริการแบบที่มนุษย์มี ที่สำคัญพวกเธอทำงานตามการป้อนคำสั่งของชุดคำสั่งต่าง ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ AI รีวิวหรือแนะนำสินค้าและบริการต่าง ๆ จึงไม่ได้มาจากความรู้สึกจริง ๆ จึงขาดความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากผู้บริโภคที่จริงจังกับความบริสุทธิ์ใจในการแนะนำสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ของอินฟลูเอนเซอร์
ในขณะที่คนจริง ๆ มีข้อได้เปรียบจากการที่เป็นคนจริง ๆ มีความซับซ้อนทางอารมณ์นี่เอง ชีวิตมีดีมีแย่แบบที่ใคร ๆ ก็เป็นกัน ทำให้ดูน่าเชื่อถือและเข้าถึงผู้บริโภคได้ดี เพราะคนด้วยกันย่อมเข้าอกเข้าใจกันได้ง่ายกว่า
ข้อจำกัดมันก็มี แต่คงลดลงได้ไม่ยาก
ต้องบอกว่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือนเหล่านี้ คงจะยังเข้ามาแทนที่คนจริง ๆ ในโลกแห่งความจริงอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าจะถูกออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับคนจริง ๆ แค่ไหน และดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับแบรนด์ ก็ยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง แต่ที่แน่ ๆ คือ มันสร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่เลยทีเดียว
ทว่าข้อจำกัดที่ว่า ก็ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคที่แก้ไม่ได้! มันจึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันหรือเป็นไปไม่ได้ เราจะประมาทไม่ได้ ในเมื่ออนาคตมันมักจะเร็วกว่าที่เราคิดเสมอ เพียงแต่ต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีที่ขั้นสูงกว่านี้ ที่จะออกแบบให้คนเสมือนมีอิทธิพลต่อความคิด และพฤติกรรมผู้บริโภคจำนวนมากได้แบบที่คนจริง ๆ ทำได้ การจะพัฒนาให้ไปถึงจุดนั้นได้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลา และทักษะขั้นสูงของผู้สร้าง ในการพัฒนาอัลกอริทึม หรือป้อนข้อมูลต่าง ๆ ให้มากพอ ให้หุ่นยนต์แสดงออกความรู้สึกหรืออารมณ์นึกคิดได้ใกล้เคียงมนุษย์มากกว่านี้
นอกจากนี้ ยังหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบให้เสถียร รองรับการทำงานของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เสมือน ก็อาจต้องจ่ายแพงให้กับคนจริง ๆ ที่ทำงานเบื้องหลังในการควบคุมการทำงานของ AI อีกอยู่ดี เพื่อลดข้อบกพร่องทางเทคนิคจากความผิดพลาดของผู้สร้างหรือคนที่ทำงานเบื้องหลังหุ่นยนต์เสมือน
ถึงกระนั้น วงการนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป หากผู้ผลิตสามารถลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงได้จริง ๆ รวมถึงมีการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนมีการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงหน้าใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกอย่างมันล้วนเกิดขึ้นได้ สำหรับใครที่อยู่ในวงการอินฟลูเอนเซอร์รับจ้างรีวิวหรือโฆษณาสินค้า ถ้าไม่อยากเจ็บใจ หรือหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะถูกมนุษย์ปลอมที่ไม่มีตัวตนจริง ๆ ในโลกแห่งความจริง แต่มีอิทธิพลในโลกเสมือนมาแย่งงาน ก็ต้องเตรียมตัวรับมือ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ อย่างไรเสีย มนุษย์จริงก็ได้เปรียบกว่านิดหน่อยในสนามนี้
อัลบั้มภาพ 105 ภาพ