ไบเดนลงนามกฎหมายปิดกั้นบริษัทโทรคมฯ จีน Huawei, ZTE ได้ใบอนุญาตอุปกรณ์ใหม่
วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามอนุมัติกฎหมายใหม่ที่ปิดประตูไม่ให้คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) อนุญาตหรือพิจารณาการยื่นขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ใหม่จากบริษัทที่มีรายชื่อในบัญชีดำว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทโทรคมนาคมของจีนอย่าง หัวเว่ย (Huawei) และ แซดทีอี (ZTE) ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่วันไบเดนก็จะต้องเข้าร่วมสุดยอดการประชุมเสมือนจริงกับ สี จิ้นผิง (Xi Jin Ping) ประธานาธิบดีจีน
กฎหมายใหม่มีชื่อว่า กฎหมายอุปกรณ์ที่ปลอดภัย (Secure Equipment Act) ที่กำหนดให้ FCC ไม่ต้องพิจารณาและอนุมัติการยื่นขออนุญาตให้กับอุปกรณ์ที่มีชื่ออยู่ในรายการที่ FCC กำหนดไว้ว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติหรือความมั่นคงและความปลอดภัยของบุคคลในสหรัฐฯ ที่ยอมรับไม่ได้
12 มีนาคม สำนักงานความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (PSHSB) ภายใต้คณะกรรมการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FCC) ได้เผยรายชื่อ 5 บริษัทของจีนที่ผลิตอุปกรณ์และให้บริการด้านโทรคมนาคม ได้แก่ Huawei Technologies, ZTE, Hytera Communications, Hangzhou Hikvision Digital Technology และ Dahua Technology เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ ตามกฎหมายเครือข่ายการสื่อสารที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ปี 2019 แต่ก็ไม่สามารถหยุด FCC ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทในบัญชีเหล่านี้ได้
ข้อมูลจากหน่วยงานของ FCC เผยให้เห็นว่ามีการออกใบอนุญาตให้หัวเว่ยตั้งแต่ปี 2018 มากกว่า 3,000 รายการ ได้แก่ อุปกรณ์เครือข่ายไปจนถึงอุปกรณ์การติดตาม ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้มีการเสนอร่างกฎหมาย Secure Equipment Act เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้อุปกรณ์ของหัวเหว่ยและบริษัทอื่น ๆ ของจีนอยู่ในเครือข่ายของสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป
เดือนที่แล้ว ส.ส. ของสหรัฐฯ ทั้ง 2 พรรคได้ร่วมใจกันโหวตผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในสภาด้วยคะแนนเสียง 420-4 ต่อมาก็ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างเป็นเอกฉันท์และปิดท้ายด้วยการเซ็นอนุมัติจากประธานาธิบดีผ่านออกมาเป็นกฎหมาย
แม้ว่าในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP26 จะเห็นผู้นำสหรัฐฯ และจีนประกาศร่วมมือกันต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ประเทศได้มีความบาดหมางใจกันในหลายเรื่อง ตั้งแต่สงครามการค้า สิทธิมนุษยชน การขวางไม่ให้บริษัทในสหรัฐฯ ขายอุปกรณ์แก่บริษัทที่มีรายชื่อในบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ เช่น หัวเว่ยและแซดทีอี รวมทั้งโครงการ rip and replace ที่จ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐฯ ใช้ในการเปลี่ยนอุปกรณ์ของหัวเว่ยและแซดทีอีออกจากเครือข่ายด้วยมูลค่า 1,900 ล้านเหรียญ (62,244 ล้านบาท) โดยได้เริ่มเปิดขึ้นเมื่อ 20 ต.ค.และจะปิดใน 14 ม.ค. 2022
อีกไม่กี่วันหลังจากการเซ็นอนุมัติกฎหมายฉบับใหม่ของไบเดนก็จะมีสุดยอดการประชุมเสมือนจริงระหว่างผู้นำสหรัฐฯและจีน ซึ่งเชื่อว่าจีนจะไม่นิ่งเฉยทนดูสหรัฐฯ ไล่จัดการบริษัทสัญชาติจีนอย่างนี้เรื่อยไป ดังนั้นน่าจะมีการพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้อย่างแน่นอน