รถยนต์ไฟฟ้าช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่?

รถยนต์ไฟฟ้าช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่?

รถยนต์ไฟฟ้าช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) เป็นอาวุธที่แข็งแกร่งในความพยายามของโลกในการต่อต้านภาวะโลกร้อน แต่ประสิทธิภาพของรถดังกล่าวจะดีแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ที่ประเทศไหน

การวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่า สำหรับในบางประเทศ รถยนต์ไฟฟ้านำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน

การศึกษาของ Radiant Energy Group (REG) ได้เปรียบเทียบการปล่อยก๊าซที่เกิดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยดูการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการชาร์จรถยนต์ Tesla Model 3 เพื่อขับในระยะทาง 100 กิโลเมตรกับการปล่อยมลพิษที่มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินทั่วไปที่ขับในระยะทางเท่ากัน

ทั้งนี้ บรรดาประเทศที่การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสะอาดกว่าการขับรถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซินนั้นล้วนใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในยุโรป โดยข้อมูลจาก REG ชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าในโปแลนด์และโคโซโวทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนมากขึ้น เนื่องจากระบบไฟฟ้าของประเทศเหล่านั้นพึ่งพาถ่านหินเป็นอย่างมาก แต่สำหรับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปมีการปล่อยมลพิษลดลง

ประเทศที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากที่สุดจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ล้วนใช้พลังงานนิวเคลียร์และไฟฟ้าพลังน้ำเป็นจำนวนมาก ประเทศแรกคือ สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน รองลงมาคือนอร์เวย์อยู่ที่ 98 เปอร์เซ็นต์ ฝรั่งเศส 96 เปอร์เซ็นต์ สวีเดน 95 เปอร์เซ็นต์ และออสเตรีย 93 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเทศที่มีอัตราการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้น้อยที่สุด ได้แก่ ไซปรัสอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ เซอร์เบีย 15 เปอร์เซ็นต์ เอสโตเนีย 35 เปอร์เซ็นต์ และเนเธอร์แลนด์ 37 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 55 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน

การวิจัยดังกล่าวนี้ใช้ข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของยุโรปและสำนักงาน European Environment Agency (EEA)

นอกจากนี้ การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนนั้นขึ้นอยู่กับพลังงานที่จ่ายให้กับระบบไฟฟ้าและช่วงเวลาของวันที่ชาร์จรถยนต์ด้วย

ทั้งนี้ เยอรมนีใช้พลังงานหมุนเวียนและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่สเปนสร้างกระแสไฟฟ้าจำนวนมากจากดวงอาทิตย์และลม แต่แสงอาทิตย์และลมไม่ได้เข้าไปสู่ระบบไฟของประเทศได้เท่ากันตลอดทั้งวัน

ด้วยเหตุผลนี้ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการขับรถไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวันที่มีการชาร์จด้วย โดยการชาร์จในตอนบ่ายเมื่อมีแสงแดดและลมมากกว่า จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าตอนกลางคืนในขณะที่ระบบไฟฟ้าใช้ก๊าซหรือถ่านหิน 16 ถึง 18 เปอร์เซ็นต์

การศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่ออกมาก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องการขนส่งที่การประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่เมืองกลาสโกว์ ในระหว่างการประชุมดังกล่าว กลุ่มประเทศ บริษัท และเมืองต่าง ๆ ได้ลงนามข้อตกลงว่าจะหยุดผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันภายในปี 2040

แต่ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในการลดการปล่อยมลพิษนั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้น ๆ ใช้ระบบพลังงานใดในการผลิตไฟฟ้า หลายประเทศในยุโรปยังไม่สามารถแก้ไขวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและวิธีการกักเก็บพลังงานหมุนเวียนบางชนิดไว้ในระบบของตนได้

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างในการปล่อยมลพิษระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซินได้ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในยุโรป ผู้ผลิตรถยนต์ถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการลดคาร์บอนของสหภาพยุโรป โดยการทำให้เครื่องยนต์เบนซินประหยัดน้ำมันมากขึ้น ข้อมูลของ EEA ระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินใหม่ในยุโรปลดลงโดยเฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2006 ถึงปี 2016

นอกจากนี้แล้ว ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกฎหมายห้ามใช้รถยนต์น้ำมันหลังปี 2035 ซึ่งทำให้รถยนต์ประมาณหนึ่งในห้าที่ขายในยุโรปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของปีนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์รวมถึง General Motors, Stellantis และ Volkswagen ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในยุโรปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และ General Motors ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า บริษัทของตนจะขายรถใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2022

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook