คนวัยทำงานในเอเชียแปซิฟิกกว่า 88% เชื่อมั่นหุ่นยนต์ ช่วยในเรื่องอาชีพการงานได้ดีกว่ามนุษย์
จากงานวิจัยล่าสุด โดย ออราเคิล และ เวิร์กเพลส อินเทลลิเจนซ์ (Workplace Intelligence) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ระบุว่าผู้คนกำลังหันมาใช้หุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมอาชีพการงานหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากชีวิตของตัวเอง
งานวิจัยทำการศึกษาพนักงาน ผู้จัดการ หัวหน้าแผนกทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากกว่า 14,600 คนใน 13 ประเทศ ชี้ว่าผู้คนทั่วโลกต่างรู้สึกว่ากำลังติดอยู่กับภาวะน่าเบื่อหน่ายที่ไม่สามารถหาทางออกได้ทั้งในเรื่องอาชีพการงานและเรื่องส่วนตัว แต่ยังมีความพร้อมที่จะกลับมาควบคุมการใช้ชีวิตให้เข้าที่เข้าทางในอนาคตข้างหน้า โดยจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มากกว่า 6,000 คน รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์
คนวัยทำงานในเอเชียแปซิฟิกรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และควบคุมการใช้ชีวิตของตัวเองไม่ได้
มาตรการล็อกดาวน์และความผันผวนที่ยาวนานกว่าหนึ่งปีจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนทำงานเกิดความสับสนทางอารมณ์ รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานของตัวเองได้ โดยบริษัทนายจ้างต่างตระหนักถึงเรื่องนี้ และเริ่มดำเนินการเพื่อดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน
- ผู้คนกว่า 80% ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปีที่แล้ว หลายคนมีความเดือดร้อนทางการเงิน (31%) รู้สึกทรมานจากสภาพจิตใจที่หดหู่ (29%) ขาดแรงจูงใจในการทำงาน (25%) รู้สึกโดดเดี่ยวมากกว่าเดิม (25%) และรู้สึกถูกตัดขาดไม่สามารถชีวิตของตัวเองได้ (22%)
- 63% คิดว่าปี 2021 เป็นปีที่ตึงเครียดที่สุดในการทำงาน โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด (55%) ต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตจากเรื่องงานในปี 2021 มากกว่าปี 2020 ที่ผ่านมา
- ผู้คนรู้สึกถึงการไม่สามารถควบคุมการใช้ชีวิตได้ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งหลังจากเกิดการแพร่ระบาด โดยคนส่วนใหญ่รู้สึกสูญเสียการควบคุมเรื่องชีวิตส่วนตัว (47%) อนาคต (46%) และการเงิน (45%)
- 77% รู้สึกติดอยู่ในภาวะน่าเบื่อหน่ายในด้านชีวิตส่วนตัว โดยวิตกกังวลกับอนาคตของตนเอง (32%) ติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิม ๆ (27%) และเดือดร้อนด้านการเงิน (25%)
- อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน ผู้คนโดยส่วนใหญ่ (78%) รู้สึกว่าบริษัทตัวเองเริ่มใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของพนักงานมากกว่าก่อนการแพร่ระบาด
ผู้คนถูกกระตุ้นให้รู้จักเปลี่ยนแปลง แต่ยังพบความท้าทายครั้งใหญ่
ถึงแม้ว่าผู้คนต่างต้องดิ้นรนตลอดปีที่ผ่านมา คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงานของตัวเอง
- 93% ใช้ประสบการณ์จากปีที่ผ่านมาเพื่อไตร่ตรองชีวิตของตัวเอง โดย 90% ระบุว่านิยามความสำเร็จได้เปลี่ยนไปหลังเกิดการแพร่ระบาด โดยผู้คนหันไปให้ความสำคัญอย่างมากกับ work-life balance (43%) สุขภาพจิต (38%) และความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงาน (34%)
- 78% รู้สึกตันและติดอยู่กับอาชีพการงานเพราะไม่มีโอกาสก้าวหน้าในสายงานได้ (27%) และรู้สึกเหนื่อยเกินไปที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง (23%)
- 72% ที่กล่าวว่ารู้สึกจมอยู่กับอาชีพการงานมีผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตส่วนตัวด้วย เนื่องจากเกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากขึ้น (42%) ทำให้ยิ่งรู้สึกติดอยู่กับความรู้สึกส่วนตัวตามไปด้วย (31%) และเลิกให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว (28%)
- 84% พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพการงาน แต่ 79% ระบุว่าพวกเขากำลังเผชิญอุปสรรคใหญ่หลายด้าน ทั้งการขาดเสถียรภาพทางการเงิน (24%) ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนงานจะเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ (23%) ไม่มั่นใจพอที่จะเปลี่ยนแปลง (22%) และมองไม่เห็นโอกาสเติบโตในบริษัทเดิม (22%)
- เมื่อก้าวสู่ปี 2022 สิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญมากที่สุดคือการสร้างอาชีพ โดยมีคนจำนวนมากยอมเสียประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การจัดสรรงานที่ยืดหยุ่น (60%) เวลาพักร้อน (55%) แม้แต่เงินโบนัส (52%) หรือหักเงินเดือนบางส่วน (48%) เพื่อให้ได้โอกาสการทำงานที่มากขึ้น
- อย่างไรตาม คนทำงานและพนักงานกว่า 86% ในเอเชียแปซิฟิกยังไม่พอใจกับการสนับสนุนช่วยเหลือของนายจ้าง ต้องการให้องค์กรจัดหาโปรแกรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ (38%) โอกาสการทำงานในตำแหน่งใหม่ภายในบริษัท (32%) และความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น (32%)
พนักงานในเอเชียแปซิฟิกต้องการทักษะใหม่และใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการพัฒนาตัวเอง
หากต้องการรักษาและพัฒนาบุคลากรผู้มีความสามารถภายใต้สภาวะการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ นายจ้างต้องใส่ใจต่อความต้องการของลูกจ้างมากกว่าในอดีต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในด้านบุคลากรต่างๆให้มากขึ้น
- 89% ต้องการเทคโนโลยีมาช่วยในการแนะนำวิธีการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆในอนาคต(40%) การเรียนรู้ทักษะที่พนักงานจำเป็นต้องพัฒนา (39%) และบอกขั้นตอนต่อไปเพื่อก้าวสู่เป้าหมายในอาชีพการงาน (37%)
- 82% ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตามคำแนะนำของหุ่นยนต์
- 88% เชื่อว่าหุ่นยนต์สามารถส่งเสริมหน้าที่การงานของพวกเขาได้ดีกว่ามนุษย์ ด้วยการให้คำแนะนำที่ปราศจากอคติ (41%) ส่งต่อข้อมูลที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับทักษะในปัจจุบันหรือเป้าหมายที่ต้องการ (38%) อีกทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับอาชีพได้อย่างรวดเร็ว (37%)
- แต่ผู้คนก็ยังเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาอาชีพ โดยเชื่อว่ามนุษย์สามารถให้การสนับสนุนได้ดีกว่าด้วยการให้คำปรึกษาตามประสบการณ์ของแต่ละคน (45%) การบอกจุดแข็งและจุดอ่อน (43%) และการพิจารณานอกเหนือจากข้อมูลใบสมัครงานเพื่อแนะนำตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (39%)
- 91% เชื่อว่าบริษัทควรรับฟังความต้องการของพนักงานให้มากกว่านี้ และ 61% อยากทำงานกับบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์มาส่งเสริมการเติบโตในอาชีพการงาน
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆของการทำงานในอนาคต ถึงแม้ว่าคนส่วนมากจะรู้สึกยึดติดอยู่กับสิ่งต่างๆในชีวิต วิตกกังวลถึงอนาคต ติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิมๆ และรู้สึกโดดเดี่ยว แต่บรรดาพนักงานกลับรู้สึกมีพลังในการเรียกร้อง ไม่ลังเลที่จะมองหาความสำเร็จ
เมื่อผู้คนเริ่มเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตใหม่ ดังนั้นองค์กรในประไทยจำเป็นต้องกระตือรือร้นมากขึ้น ที่จะรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ในองค์กร โดยบริษัทต้องเพิ่มการดูแลพนักงานในด้านต่างๆ เป็นสองเท่าเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ และสามารถแนะนำสายงานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้พนักงานสามารถกลับมาควบคุมการใช้ชีวิต หน้าที่การงานได้เหมือนเดิม”