ถ้า Meta เอาด้วย เปิด FB/IG ขาย NFT เน้นย้ำผู้นำ Metaverse!

ถ้า Meta เอาด้วย เปิด FB/IG ขาย NFT เน้นย้ำผู้นำ Metaverse!

ถ้า Meta เอาด้วย เปิด FB/IG ขาย NFT เน้นย้ำผู้นำ Metaverse!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ด้านเทคโนโลยี ที่มี Meta (บริษัทแม่ของโซเชียลมีเดียชั้นนำอย่าง Facebook และ Instagram) เป็นตัวละครหลัก เมื่อเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานข่าวว่า Meta กำลังวางแผนพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการสร้าง จัดแสดง และซื้อขาย NFT บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในเครือ Meta ซึ่งก็คือ Facebook และ Instagram โดยจะผนวกเอาเทคโนโลยีกระเป๋าเงินดิจิทัล Novi ที่เป็นของ Meta เองเช่นกัน เข้ามารองรับการดำเนินการในส่วนนี้

อย่างไรก็ดี นี่ยังเป็นเพียงข่าวที่ออกมาเท่านั้น แผนและกระบวนการทั้งหมดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา รวมถึงยังไม่มีใครออกมายืนยันว่าแผนเหล่านี้จะไปได้ไกลแค่ไหน

แต่ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า NFT หรือ Non-Fungible Token รวมไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ กลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงมาก ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา NFT ดังกล่าวครอบคลุมผลงานดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบ อาจเป็นภาพถ่าย ภาพวาด เพลง การ์ดสะสม ตั๋วคอนเสิร์ตหายาก ไอเท็มในเกม โดยซื้อขายกันด้วยเงินดิจิทัลผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัย

การลงสู่สนาม NFT ของ Meta ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ในเมื่อเทรนด์ NFT นั้นกำลังมาแรง ที่สำคัญ ลักษณะของ NFT ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท Meta ที่เคยประกาศไว้ว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกปกติธรรมดาให้เข้าสู่โลก Metaverse ที่มีความสมบูรณ์แบบ เพราะการถือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งบนโลกเสมือน โดยจะทำให้คนบนโลกเสมือนสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างแท้จริง รวมถึงสามารถนำสินทรัพย์เหล่านั้นไปขายต่อให้กับผู้อื่นได้เช่นเดียวกับโลกจริง

นอกจากนี้ NFT จะช่วยให้บรรดาครีเอเตอร์และศิลปิน สามารถสร้างรายได้จากการขายผลงานดิจิทัลหรือคอนเทนต์ที่พวกเขาสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า เกิดเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลบนโลก Metaverse ของ Meta ได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้น การที่ Meta เอาด้วย ในการเตรียมเปิด Facebook และ Instagram ให้สามารถซื้อขายผลงาน NFT ได้ โดยแผนการที่ว่าคือตั้วใจจะให้แพลตฟอร์มในเครือเป็น marketplace สำหรับ NFT ของตัวเองเลยด้วยซ้ำ นั่นก็เท่ากับเป็นการเน้นย้ำความพยายามเป็นผู้นำโลก Metaverse รวมถึงการมีส่วนแบ่งทางการตลาดจากแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT เดิม อย่าง OpenSea ที่เป็นตลาดซื้อขาย NFT ที่เติบโตมากในช่วงปีที่ผ่านมา

การสนับสนุนของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่และการอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

ที่ผ่านมา NFT ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์สำหรับการเก็งกำไร เนื่องจากราคาของ NFT นั้นมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีเรื่องของความปลอดภัยในการอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของ แม้ว่าจะทำธุรกรรมบนบล็อกเชน ที่ในทางทฤษฎียอมรับกันว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีวิธีเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัย ช่วยให้เกิดความโปร่งใสของการทำธุรกรรม จึงมั่นใจได้ว่าธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นปลอดภัยจากการปลอมแปลงข้อมูลและตรวจสอบได้

เมื่อเราจ่ายเงินดิจิทัลเพื่อซื้องานชิ้นหนึ่ง ๆ สิ่งที่เราจะได้รับหลังการซื้อขายเสร็จสิ้น คือ การถูกระบุว่าเป็นเจ้าของ NFT ของงานศิลปะชิ้นนั้น กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของว่าเราเป็นเจ้าของก็จะถูกบันทึกลงในบล็อกเชนด้วยเช่นกัน ถ้าใครอยากรู้ว่าผลงานชิ้นนี้ใครครอครองกรรมสิทธิ์อยู่ ก็ให้ไปดูในบล็อกเชน

แต่ต้องยอมรับว่าผลงานที่เราเป็นเจ้าของอยู่นั้นอาจจถูกขโมยออกมา หรือถูกคัดลอกไปใช้ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ถูกบันทึกบนโลกออนไลน์ในลักษณะไฟล์ดิจิทัล เช่น JPG, PNG หรือ GIF ผ่านที่อยู่เฉพาะบนบล็อกเชน ที่ระบุว่าตัวเรานั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เราไม่ได้ครอบครองมันในลักษณะที่หยิบจับเก็บแอบไม่ให้ใครเห็นได้ หากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อนุญาตให้ใครก็ตามสามารถคัดลอกและโพสต์ผลงานเหล่านั้นลงบนแพลตฟอร์มได้อีกครั้ง คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจจะอยากรู้หรอกว่ามีใครถือกรรมสิทธิ์ภาพนี้อยู่หรือไม่ ตราบใดที่ยังไม่มีการซื้อขาย

ดังนั้น มันก็เหมือนกับการที่เราเป็นเจ้าของผลงานที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้แบบสาธารณะ เพราะมันเป็นไฟล์ดิจิทัลที่อยู่บนออนไลน์ ทว่าการอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้น หากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเลือกที่จะเข้ามาสนับสนุน ถ้าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลายมีการบังคับใช้สิทธิ์การเป็นเจ้าของผลงานตามที่ NFT กำหนด มันอาจกลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมาย คนเป็นเจ้าของก็อ้างกรรมสิทธิ์ได้อย่างชอบธรรม

NFT จะเข้าถึงง่ายขึ้น (?) เพราะใคร ๆ ก็มีเฟซบุ๊ก

เป็นที่ทราบกันว่า Meta นั้นเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ของโลก บริษัทแม่ที่บริหาร 3 แพลตฟอร์มสำคัญในตลาดโซเชียลมีเดีย คือ Facebook, Instagram และ WhatsApp การเปลี่ยนชื่อจาก Facebook มาเป็น Meta และการประกาศตัวเป็นผู้นำการสร้างโลก Metaverse ก็ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้โซเชียลมีเดียเป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย ฉะนั้น แค่มีข่าวว่า Meta กำลังเตรียมแผนจะรุกคืบธุรกิจเข้าสู่ NFT ก็ถือเป็นปฏิกิริยาหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า Meta จะพยายามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกปกติธรรมดาให้เข้าสู่โลก Metaverse อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

แม้ว่า NFT จะมีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การก้าวเข้าสู่สนาม NFT ของ Meta อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ NFT และสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้น เป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา NFT ยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัด การเข้าถึงไม่ได้ยากแต่ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น แต่เมื่อ Facebook และ Instagram จะมีพื้นที่ที่สนับสนุนทั้งศิลปินผู้สร้างผลงานและกลุ่มผู้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะของ marketplace ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ NFT เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวคนบางกลุ่มอีกต่อไป

หาก Meta สร้างพื้นที่ marketplace บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองได้สำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า NFT จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น คนบางกลุ่มที่ไม่เคยรู้จัก NFT ก็จะเริ่มรู้จัก เพราะเห็นมันอยู่บน Facebook และ Instagram ที่พวกเขาใช้งาน อีกปัจจัยที่เอื้อให้ NFT จะเข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็คือ เพราะใคร ๆ ก็มี Facebook รวมถึงหลาย ๆ คนที่มีบัญชี Facebook ก็มีบัญชี Instagram ด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น โซเชียลมีเดียเจ้าอื่น ๆ ก็เริ่มมีแผนที่จะพาแพลตฟอร์มของตนเองลงสู่สนาม NFT ด้วยแล้ว Twitter เริ่มอัปเดตระบบของตนเองให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ NFT ที่ตนเองเป็นเจ้าของเป็นรูปโปรไฟล์ Reddit เปิดตัวอวาตาร์ NFT สำหรับผู้ใช้งาน รวมถึง YouTube ก็เตรียมเปิดช่องทางให้ศิลปินสร้างรายได้จาก NFT บนแพลตฟอร์มของตน

จะเห็นว่าเมื่อบรรดาโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube ต่างก็เคลื่อนไหวในสนาม NFT นี่อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้หันมาให้ความสนใจ NFT กันมากขึ้น จากการสร้างพื้นที่ของตนเองให้บรรดาศิลปินได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มและเงินดิจิทัลในการซื้อขาย NFT บนแพลตฟอร์มของตนด้วย แม้ว่าขณะนี้แผนต่าง ๆ จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นและต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อทดสอบและปรับปรุงระบบให้เสถียร แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีทิศทางที่ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook