รีวิวลำโพงแก้ว Sony LSPX-S3 ลำโพงสวยพร้อมแสง ที่ราคาลงมาจับต้องได้สักที

รีวิวลำโพงแก้ว Sony LSPX-S3 ลำโพงสวยพร้อมแสง ที่ราคาลงมาจับต้องได้สักที

รีวิวลำโพงแก้ว Sony LSPX-S3 ลำโพงสวยพร้อมแสง ที่ราคาลงมาจับต้องได้สักที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลำโพงแก้ว เป็นลำโพงตระกูลที่เป็นเอกลักษณ์ของ Sony ที่ไม่มีค่ายไหนเลียนแบบครับ ด้วยการให้เสียงผ่านเนื้อแก้วจริงๆ พร้อมหลอดไฟอยู่กลางลำโพง ทำให้มันเป็นได้ทั้งลำโพงและของแต่งบ้านได้

โดยรุ่นแรกคือ Sony LSPX-S1 ออกมาตั้งแต่ปี 2016 ด้วยราคากระชากใจที่ 25,990 บาท ทำให้กลายเป็นไอเท็มที่หลายคนได้แต่เก็บไปฝัน ไม่มีโอกาสได้ซื้อมาใช้จริง จนรุ่นที่ 2 คือ Sony LSPX-S2 ออกตามมาในปี 2018 ด้วยค่าตัวที่ถูกลงเหลือ 17,990 บาท

ซึ่งก็เป็นราคาที่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และรุ่นล่าสุดที่ออกเมื่อปี 2021 คือ LSPX-S3 ที่เรารีวิวในวันนี้ โดยมีค่าตัวถูกที่สุดคือ 12,990 บาทเท่านั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นราคาที่ตัดสินใจซื้อกันได้ไม่ยากครับ

ความแตกต่างระหว่าง Sony LSPX-S1, S2, S3

ลำโพงแก้ว 3 ศรีพี่น้อง

S3 S2 S1
ความถี่เสียงที่รองรับ 20-20,000 Hz 20-20,000 Hz 60-40,000 Hz
รองรับ Codec Bluetooth SBC, AAC, LDAC SBC, AAC, LDAC AAC, aptX, LDAC, SBC
เชื่อมต่อ Wi-Fi X / X
รองรับ Spotify Connect X / X
ระบบการชาร์จ USB-C Micro USB หัวชาร์จกลม
น้ำหนัก 1.1 kg 1.1 kg 920 g
ราคา 12,990 บาท 17,990 บาท 25,990 บาท

ดีไซน์ของ Sony LSPX-S3

รัศมีแสงจาก Sony LSPX-S3

ยามค่ำคืนก็สวยงาม

วงไฟบนเพดาน

ดีไซน์ของลำโพงแก้วรุ่นที่ 3 นั้นดำเนินรอยตามลำโพงรุ่นที่ 2 ครับ คือมีฐานกว้างและส่วนที่เป็นแก้วมีลักษณะเป็นท่อที่แคบกว่าอยู่ด้านบน พร้อมหลอดไฟ LED อยู่ส่วนล่างของหลอดแก้ว

ลำโพงนี้มีหลอดไฟ LED 1 ดวงที่สวยเด่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งลักษณะแสงไฟของ Sony LSPX-S3 นั้นเป็นแสงไฟสีส้มอ่อนๆ สำหรับตกแต่งบรรยากาศ (แต่ถ้าเร่งจนสุดก็พอจะทำให้ห้องมืดสว่างขึ้นมาได้เหมือนกัน) นอกจากนี้ยังมีโหมดแสงเทียนหรือ Candle Light Mode ที่แสงจากโคมไฟจะเปลี่ยนไปมาเหมือนแสงเทียนจริงๆ โดยแสงจากลำโพงแก้วนี้จะกระจายไปรอบๆ โคมไฟและยิงขึ้นด้านบน จนไปกระทบกับแผ่นโลหะที่ปิดท่อแก้วอยู่ ก็สร้างบรรยากาศโรแมนติกได้ไม่น้อยครับ ซึ่งในชุดก็มีการแถมผ้าสำหรับเช็ดท่อแก้วนี้ให้ใสเคลียร์เสมอ ถึงหลอดไฟนี้มันจะสว่างไม่มาก ถ้าเปิดความสว่างเกินครึ่งแล้วไปมองที่หลอดไฟ ก็รู้สึกตาพร่าได้เหมือนกัน

เมื่อจับถือลำโพงจะรู้สึกเลยว่าส่วนฐานของลำโพงนั้นมีน้ำหนักมาก ซึ่งก็ทำให้เวลาตั้งลำโพงนั้นมั่นคง ไม่ล้มง่ายๆ โดยส่วนฐานของ Sony LSPX-S3 จะเป็นที่อยู่ของดอกลำโพงขนาด 46 มม. และ Passive Radiator ที่อยู่ล่างสุดของลำโพงเพื่อให้เสียงกลาง-ต่ำ

ถ้าสังเกตดีไซน์ของ Sony LSPX-S3 จะแยกกันอยู่ 2 ส่วนนะครับ คือส่วนท่อแก้วด้านบน และส่วนฐานด้านล่าง ซึ่งคั่นอย่างชัดเจนด้วยช่องลำโพงที่อยู่บริเวณฐานนะครับ จึงเหมือนส่วนท่อแก้วนั้นลอยแยกออกจากฐานถ้าเรามองลำโพงในมุมระนาบกับช่องลำโพงครับ และส่วนท้ายสุดของลำโพงที่มีปุ่มต่างๆ อยู่ จะใช้ผ้าที่ให้สัมผัสนุ่มนวล และสามารถซ่อนไมโครโฟนสำหรับคุยโทรศัพท์อยู่ใต้ผ้านี้ได้ครับ

ช่องลำโพงของ Sony LSPX-S3

ดีไซน์โดยรวมถือเป็นลำโพงที่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนในบ้านได้สะดวก แบตเตอรี่อยู่ได้ราวๆ 8 ชั่วโมงแล้วชาร์จผ่าน USB-C ได้ง่าย แต่ด้วยความบอบบางของกระบอกแก้ว มันจึงไม่น่าใช่ลำโพงที่เราจะติดใส่กระเป๋าเดินทางไปฟังนอกสถานที่ได้สะดวกนัก ยกเว้นว่าจะใส่กล่องหรือหาเคสเฉพาะมาใส่ครับ

การใช้งาน Sony LSPX-S3

ฟังก์ชันโคมไฟ

เราสามารถปรับแต่งการทำงานของโคมไฟนี้ได้จากปุ่มสัมผัสที่โคมไฟครับโดยสามารถสั่งงานได้ดังนี้

A คือลดความสว่าง และ B คือเพิ่มความสว่าง

  • แตะสั้นๆ เปิด-ปิดโคมไฟ
  • แตะลากจากซ้ายไปขวา เพิ่มความสว่าง
  • แตะลากจากขวาไปซ้าย ลดความสว่าง
  • แตะค้างจนมีเสียง ใช้/เลิกใช้โหมดแสงเทียน
  • แตะลากจากซ้ายไปขวาในโหมดแสงเทียน
    • เปลี่ยนโหมดแสงเทียนจาก สว่างน้อย -> สว่าง -> สว่างมาก -> ลิงก์กับเสียงเพลง
    • ถ้าลากจากขวาไปซ้ายในโหมดแสงเทียนก็จะสั่งงานกลับข้างกันคือ ลิงก์กับเสียงเพลง -> สว่างมาก -> สว่าง -> สว่างน้อย

ซึ่งสำหรับใครที่จำไม่ได้ว่าสั่งงานยังไง ก็สามารถโหลดแอป Sony Music Center มาสั่งงานจากสมาร์ตโฟนได้เลย ซึ่งสามารถปรับระดับความสว่างได้ละเอียด 32 ระดับเลย และรู้สถานะการเปิดไฟได้โดยไม่ต้องเดาว่าเรากำลังเปิดไฟโหมดอะไรอยู่

แอป Sony Music Center

การควบคุมการใช้งาน

ที่ตัวลำโพงนี้มีปุ่มที่ต้องใช้งานครบถ้วนอยู่ที่ฐานส่วนล่างสุดของลำโพงครับ ซึ่งปุ่มที่อยู่ข้างพอร์ต USB-C สำหรับชาร์จก็มี ปุ่มเปิด-ปิดลำโพง, ปุ่มรับสาย-วางสาย และปุ่มเพิ่มลดเสียงครับ

ไมโครโฟนของลำโพงรุ่นนี้จะอยู่ส่วนฐานของลำโพงที่เป็นผ้า โดยอยู่ตำแหน่งเดียวกับโลโก้ Sony ด้านหน้าลำโพง ซึ่งเราลองใช้งานคุยโทรศัพท์แล้ว ก็ให้เสียงที่ชัดเจนดี ปลายสายไม่ได้ขอให้พูดใหม่ โดยเราทดลองสนทนาในห้องทำงานที่ไม่มีเสียงรบกวนภายนอกเท่าไหร่นะครับ

ปุ่มควบคุมบริเวณฐานของลำโพงและพอร์ตชาร์จ

ส่วนที่ก้นของลำโพงจะมีอีก 2 ปุ่มคือปุ่มเชื่อมต่อ Bluetooth ซึ่งใช้เชื่อมลำโพง 2 ตัวเป็นสเตอริโอ หรือเชื่อมลำโพงกับมือถือหรืออุปกรณ์ใหม่ โดย Sony LSPX-S3 นั้นมีฟังก์ชั่น Multi Point ด้วย ทำให้สามารถเชื่อมลำโพงกับอุปกรณ์ได้ 2 ตัว และสามารถใช้งานสลับกันได้ทันทีโดยไม่ต้องกด Disconnect แล้วไปเชื่อมอุปกรณ์ใหม่ เช่นฟังเพลงจากมือถือ แล้วก็สลับไปดูวิดีโอบนคอมพิวเตอร์ ให้เสียงไปออกที่ลำโพงได้ทันที นอกจากนี้ยังรองรับ Google Fast Pair เพื่อเชื่อมต่อลำโพงอย่างง่ายได้ด้วย

ปุ่มควบคุมที่ด้านล่างของลำโพง

นอกจากนี้ยังมีปุ่ม Sleep Timer ที่กดแล้วลำโพงจะปิดเองเมื่อผ่านไป 1 ชั่วโมง ซึ่งสามารถกำหนดระยะเวลาให้ลำโพงปิดได้จากแอป Sony Music Center ครับ

สเปกด้านเสียงของ Sony LSPX-S3

ลำโพงรุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อสัญญาณเสียงผ่าน Bluetooth ได้เท่านั้นนะครับ ไม่รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Wifi เหมือน Sony LSPX-S2 รุ่นที่แล้ว ทำให้ไม่สามารถเปิด Spotify มาออกที่ลำโพงโดยตรงผ่าน Spotify Connect ได้ และไม่รองรับการเชื่อมต่อเสียงผ่านสายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีช่อง 3.5 mm ส่วนช่อง USB-C นั้นรองรับการชาร์จอย่างเดียว ไม่สามารถต่อเข้ากับอุปกรณ์เพื่อส่งสัญญาณเสียงได้

การใช้งาน Sony LSPX-S3 ต่อ 2 ตัวแบบสเตอริโอ

ลำโพงรุ่นนี้ใช้ Bluetooth 5.0 โดยรองรับ Codec SBC, AAC, LDAC ซึ่งถ้าเชื่อมกับ iPhone ก็จะคุณภาพเสียงสูงสุดเป็น AAC แต่ถ้าเชื่อมกับสมาร์ตโฟน Android รุ่นใหม่ๆ ก็จะให้เสียงที่ใกล้เคียงกับ Lossless ผ่าน LDAC

โดยลำโพงรุ่นที่ 3 นี้ถือว่าเป็นลำโพงที่ให้เสียงเบสที่หนักแน่นที่สุดในบรรดาลำโพงแก้ว 3 ศรีพี่น้องนะครับ โดยสามารถให้เสียงในความถี่ระหว่าง 20 – 20,000 Hz ได้ (เทียบกับ S1 ที่ให้เสียงความถี่ 60 – 40,000 Hz) เพราะที่ฐานมีลำโพงเสียงกลางและเสียงต่ำขนาด 46 mm พร้อม Passive Radiator จึงเสริมเสียงเบสให้หนักแน่นขึ้น และถ้าเบสยังหนักไม่พอก็สามารถเปิดโหมด Bass Boost จากแอป Music Center ได้อีก ก็ให้เสียงต่ำได้สะใจกันไปเลย แต่ด้วยความที่มันให้เสียงต่ำได้หนักแน่นขึ้น เลยทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนลงไปที่โต๊ะหรือตำแหน่งที่วางลำโพงด้วยนะครับ ถ้าเรานั่งทำงานโต๊ะเดียวกับที่วางลำโพง จะรู้สึกเลยว่ามันสั่นไปทั้งโต๊ะ ถ้ารำคาญก็ต้องเปลี่ยนที่วางลำโพงครับ

ส่วนเสียงสูงจะใช้เทคโนโลยี Advanced Vertical Drive ที่อาศัย Actuator 3 ตัวสั่นหลอดแก้วด้านบนเพื่อสร้างเสียงแหลมออกมา แต่เวลาใช้งานจริง ถ้าเราไปจับตรงหลอดแก้วก็ไม่รู้สึกว่ามันสั่นนะครับ เพราะมันสั่นด้วยความถี่สูงกว่าที่เราจะรู้สึกได้

เสียงของ Sony LSPX-S3

Sony LSPX-S3 เป็นลำโพงที่ให้เสียงกระจาย 360 องศา ออกมารอบตัวนะครับ เพราะฉะนั้นสามารถตั้งไว้กลางบ้านเพื่อให้เสียงกระจายไปรอบๆ ได้เลย หรือสามารถจับคู่ Sony LSPX-S3 2 ตัวเพื่อให้เสียงแบบสเตอริโอก็ได้

โดยลักษณะเสียงของ Sony LSPX-S3 เป็นดังนี้ครับ

  • เสียงต่ำ ให้เสียงเบสได้กระชับ หนักแน่นเกินตัว ไม่บวม ไม่กวนเสียงกลาง ส่วนถ้าเปิดโหมด Bass Boost เบสจะหนักขึ้นอย่างชัดเจน โต๊ะยิ่งสั่นกว่าเดิม แต่ก็ถือเป็นเบสที่เก็บตัวอยู่ในทรงอยู่ดี
  • เสียงกลาง-สูง ใสกระจ่าง โปร่งและให้เสียงล่องลอยในห้อง บางเพลงที่เคยฟังกลิ่นอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อฟังจากลำโพงนี้
  • ความดัง ให้เสียงชัดเจนสำหรับการใช้ในห้องหรือในบ้าน เปิดดังสุดก็ยังไม่ดังเกินไปสำหรับการใช้ในบ้าน แต่ถ้าพื้นที่กว้างๆ ตัวเดียวอาจจะเอาไม่อยู่

ตัวอย่างเพลงที่น่าลองฟังด้วย Sony LSPX-S3 คือ Bad Guy ของ Billie Eilish ซึ่งจะได้ยินรายละเอียดของเบสแบบเกินตัวว่าลำโพงแก้วจะทำเบสแบบนี้ได้ หรือเพลง เอาปากกามาวง ของเบล-วริศรา เพื่อฟังความใสของเสียงร้องก็ได้ครับ

สรุป Sony LSPX-S3 น่าจัดไหม

Sony LSPX-S3 เปิดตัวด้วยราคา 12,990 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่มีคู่แข่งที่น่าสนใจอยู่หลายรุ่นเลย ถ้ามองในแง่เสียงอย่างเดียว ลำโพงแก้วรุ่นนี้อาจจะให้เสียงได้ไม่เต็มที่ ไม่ดังเท่าลำโพงเพียวๆ ที่มีราคาพอๆ กัน แต่ถ้ามองโดยรวมในแง่ดีไซน์และการเอาไปตกแต่งห้อง ถือว่าลำโพงรุ่นนี้โดดเด่นกว่าใคร สามารถสร้างบรรยากาศแสงที่แปลกตา พร้อมเสียงที่ดีไม่เสียชื่อแบรนด์ Sony ครับ

 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ รีวิวลำโพงแก้ว Sony LSPX-S3 ลำโพงสวยพร้อมแสง ที่ราคาลงมาจับต้องได้สักที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook