คนแก่เต็มเมือง! ต้องมีเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้สูงอายุ

คนแก่เต็มเมือง! ต้องมีเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้สูงอายุ

คนแก่เต็มเมือง! ต้องมีเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้สูงอายุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว กล่าวคือมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20) และที่สำคัญ ไทยเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 (มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28)

เนื่องมาจากอัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2564 พบว่ามีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ซึ่งลดลงจากปี 2563 มากถึง 42,798 คน นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 600,000 คน มา 2 ปีติดแล้ว ขณะเดียวกัน อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงเช่นกัน คนอายุยืนมากขึ้น ในแต่ละปีจะมีประชากรที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้สูงอายุหน้าใหม่จำนวนมาก ผู้สูงอายุหน้าเดิมก็อายุเพิ่มขึ้น ๆ สถานการณ์ “คนแก่เต็มเมือง” จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำ ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องดูแลกันไป

ทว่าถือยังถือเป็นเรื่องดีที่ในปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยี มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายอย่างถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน บางสิ่งบางอย่างอาจต้องปรับนิดหน่อยเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งาน และอีกหลาย ๆ อย่างก็พัฒนาขึ้นเพราะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีด้านใดบ้างที่เราพอจะเริ่มเห็นแล้วว่าเขาออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลผู้สูงอายุ

istock-1288932957

แอปพลิเคชันสำหรับดูแลผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุหลาย ๆ คนยังแข็งแรงและสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ต้องยอมรับว่าร่างกายก็ไม่เหมือนคนวัยหนุ่มสาว อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น คงจะดีไม่น้อยหากมีแอปพลิเคชันเฉพาะสำหรับดูแลและอำนวยคงามสะดวกให้กับผู้สูงอายุ เช่น แอปฯ ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใกล้ตัวผู้สูงอายุเพื่อตรวจจับหากเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นก็สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากผู้ติดต่อที่ระบุไว้ หากมีคนตอบรับก็สื่อสารกันได้ทันทีไม่ต้องกระเสือกกระสนกดปุ่มอะไรอีก หรือแอปฯ สำหรับติดตามตัวผู้สูงอายุ กรณีผู้สูงอายุที่มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ แล้วหายออกจากบ้าน เป็นต้น

เทคโนโลยีช่วยเหลือด้านการเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหว นับเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ เนื่องจากสุขภาพร่างกายและสมรรถภาพค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น ยืนนานไม่ได้ เดินไกล ๆ ก็ไม่ไหว ขึ้นบันไดทีก็ก้าว ๆ หยุด ๆ ผุดลุกผุดหนังก็ร้องโอดโอย มีอาการปวด เมื่อย เคล็ด ขัด ยอก บางคนป่วยหรือพิการจนต้องนั่งรถเข็น แต่ถ้ามีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นและน้อยลง ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บลงได้ อย่างพวกหุ่นยนต์ที่ช่วยหยิบจับยกสิ่งของ อุปกรณ์ช่วยเดิน เก้าอี้ไฟฟ้าขึ้นลงบันได เก้าอี้ปรับยืน อุปกรณ์ช่วยออกกำลังกาย เป็นต้น

เทคโนโลยีหุ่นยนต์ผู้ช่วย

เป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนเลขาส่วนตัวคอยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตภายในบ้านได้ง่ายและสะดวกขึ้น แค่ออกคำสั่ง หุ่นยนต์ก็พร้อมทำงานให้ เปิดเพลงกล่อมนอน เพิ่มเสียง-ลดเสียง ปิด-เปิดไฟ ใช้แค่คำสั่งเสียงสั่งงานเท่านั้น สามารถตั้งค่าให้ช่วยเตือนการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กินยา กินข้าวให้ตรงเวลา ประมวลผลเมนูอาหารที่ควรกินในแต่ละมื้อ รวมถึงฟังก์ชันในสร้างความบันเทิงเพื่อคลายเหงา ในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านคนเดียวในช่วงกลางวัน อาจจะสนทนากับคนได้ หรือจะเต้นให้ดู อ่านหนังสือให้ฟัง ส่วนนี้ช่วยลดการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้

เทคโนโลยี Virtual Service

ส่งต่อความล้ำแบบสุด ๆ ให้กับผู้สูงอายุ กับเทคโนโลยี Virtual Service ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในเรื่องของการสื่อสารเป็นสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัด คือการ Virtual Care หรือการพบแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เพียงแค่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตเท่านั้น สามารถได้รับการบริการ ดูแลรักษาเสมือนผ่านทางออนไลน์ สามารถคัดกรองอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยว่าจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลด้วยตนเองหรือไม่ หรือจะใช้บริการโลกเสมือน Metaverse เพื่อคลายเหงาก็ได้เช่นกัน

เทคโนโลยีอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

เรื่องของอาหาร ผู้สูงอายุก็มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าด้านอื่น ๆ อย่างเช่น การเคี้ยว การกลืน ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ภาวะทุพโภชนาการ อาหารเหล่านี้อาจต้องพึ่งเทคโนโลยีด้านอาหารเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ที่เริ่มมีให้เห็นแล้วในเวลานี้ ได้แก่ เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาการกลืน มีสารสกัดจากใบแปะก๊วย สารอาหารครบ 5 หมู่ และสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในทุกระบบ ลักษณะจะเป็นเยลลี่เนื้อนุ่ม ไม่เหนียว เคี้ยวง่ายกลืนง่าย ไม่ทำให้สำลัก เพียงแค่ใช้ลิ้นดุน ๆ ให้แตก ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ประสบปัญหาในการกินอาหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook