วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบแสบ ๆ คัน ๆ กวน ๆ

วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบแสบ ๆ คัน ๆ กวน ๆ

วิธีรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบแสบ ๆ คัน ๆ กวน ๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้ใครหลายคนอาจได้มีประสบการณ์กดรับเบอร์โทรศัพท์แปลก ๆ ที่โทรหาตัวเอง แล้วปลายสายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทขนส่งรายหนึ่ง คุยไปคุยมาก็จะพบว่าชื่อของตัวเองกลายเป็นเจ้าของพัสดุที่ถูกส่งไปต่างประเทศ โดยพัสดุชิ้นนั้นก็ดันเข้าข่ายผิดกกฎหมายเสียด้วย จู่ ๆ ก็ดันเข้าไปพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว เป็นใครก็ต้องตกใจเป็นธรรมดา ต้องการที่จะตรวจสอบและยืนยันความบริสุทธิ์โดยเร็ว ดังนั้น เมื่อปลายสายขอให้ทำอะไรก็ทำตามทุกอย่างแบบสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวและไม่ทันได้คิดไตร่ตรองให้ดี จนในที่สุดก็ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพโดยสมบูรณ์

เมื่อมีเหยื่อเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะเห็นคนที่มีประสบการณ์เช่นนั้นมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัย มีสำนักข่าวมาทำข่าว ตามคอมเมนต์ก็มีคนที่มีประสบการณ์ร่วมมาร่วมแชร์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น หลายคนเคยอ่านโพสต์เตือนภัยจากที่แชร์กันมาบ้างก็เห็นจากข่าว เมื่อได้เจอเข้ากับตัวก็รู้ทันมิจฉาชีพพวกนี้ เตรียมการรับมืออย่างดีชนิดที่ว่าปลายสายต้องตัดสายทิ้งหรือด่ากลับ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนเช่นกันที่ยังหลงกลคนพวกนี้ อาจเพราะไม่ได้เห็นข่าวที่เขาเตือน ๆ กัน รวมถึงหลงเชื่อกลวิธีในการหลองลวงที่แยบคายมากและดูน่าเชื่อถือขึ้นมากจริง ๆ

สำหรับแก๊งมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ หรือที่เราเรียกกันว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในเวลานี้กำลังออกอาละวาดจนเป็นข่าวใหญ่ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ แต่สำหรับสังคมไทยไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง เมื่อมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ก็จะหายเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนที่จะคัมแบ็กมาพร้อมกับมุกใหม่ที่ต่างไปจากเดิมเล็กน้อย แยบคายขึ้น และดูน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้ใครหลาย ๆ คนหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง และสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก

istock-938430346

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง

วิธีสังเกตแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ง่ายที่สุด คือ การสังเกตจากบทสนทนา แก๊งนี้มักจะเปิดบทสนทนาที่ทำให้เราตกใจและตื่นตระหนกก่อนเป็นอันดับแรก อาจลวงด้วยความโลภของคน และการที่รู้ไม่ทันด้วย ที่สำคัญคือมักจะมีการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีอยู่จริง ๆ สุดท้ายเป้าหมายมีเพียงแค่เพื่อให้เราทำธุรกรรมทางการเงินหรือหลอกถามข้อมูลส่วนตัว ดังนั้น ก่อนที่กดรับสายควรสังเกตเบอร์ที่โทรเข้าก่อนและพิจารณาจาก

1. ส่วนใหญ่จะเป็นเบอร์จากต่างประเทศ ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วยรหัสประเทศที่ไม่คุ้นเคย มีจำนวนตัวเลขที่มากกว่าเบอร์โทรปกติในไทย อาจเป็นเบอร์มือถือ หรือเบอร์จากต่างจังหวัด ในขั้นนี้เราสามารถกรองพวกเบอร์แปลก ๆ ที่โทรหาเราได้ในเบื้องต้น คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whos Call มาใช้งาน หากเป็นเบอร์ที่เคยโทรไปหลอกคนอื่น ๆ มาแล้ว และมีคนกดบันทึกไว้ว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ เมื่อเบอร์ดังกล่าวโทรมา ก็จะแจ้งเตือนที่จอมือถือเราทันทีว่าเป็นมิจฉาชีพ รวมถึงสามารถแจ้งพวกข้อความที่ส่งมาจากเบอร์มิจฉาชีพได้ด้วย

2. มักเป็นระบบอัตโนมัติที่แอบอ้างว่ามาจากบริษัทขนส่งหรือธนาคารชื่อดังเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อมีการโอนสายจะแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ชื่อนั้นชื่อนี้ อาจมีพวกเลขยืนยันตัวตนเพื่อความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งแก๊งนี้อาจไปได้มาโดยเจ้าตัวจริง ๆ ก็ไม่รู้ตัว จากนั้นจะมีข้อความต่าง ๆ ที่ทำให้เราตกใจ ตื่นตระหนก เช่น

  • มีการส่งพัสดุผิดกฎหมายไปยังต่างประเทศและกำลังจะถูกดำเนินคดี
  • สืบได้ว่าบัญชีธนาคารเข้าไปพัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย
  • อ้างว่าเราเป็นหนี้กับหน่วยงานรัฐ โดยต้องชำระด่วนก่อนถูกดำเนินคดี
  • บัญชีธนาคารกำลังมีปัญหา ขอข้อมูลส่วนตัวรวมถึงรหัสผ่านต่าง ๆ เพื่อรักษาเงินในบัญชี
  • ได้รับเงินรางวัลแต่ต้องจ่ายภาษีเพื่อรับเงินรางวัลนั้น
  • มีชื่อเข้าไปพัวพันกับคดีค้ายาหรือฟอกเงิน ต้องโอนเงินทั้งหมดไปให้ตรวจสอบ
  • ได้รับสิทธิ์ขอคืนภาษี แต่ต้องไปทำรายการขอรับเงินคืนที่ตู้เอทีเอ็ม
  • มีหมายศาลส่งมา แต่ส่งไปไม่ถึง รบกวนขอข้อมูลส่วนตัว
  • โอนเงินไปผิดบัญชี รบกวนโอนคืน
  • ทวงหนี้นอกระบบ โดยอ้างชื่อคนที่รู้จัก
  • หลอกว่าเป็นบริษัทประกัน

3. หลังจากที่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบแล้ว จะมีการพยายามโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ปลอม ๆ เพื่อชี้แจงว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะโยงไปที่การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปทำธุรกรรมต่อได้

4. ปลายสายจะพยายามบอกให้เราอยู่คนเดียว จดจ่ออยู่ที่การสนทนานี้เท่านั้น และอย่าวางสาย รวมถึงพยายามจะเร่งให้เหยื่อทำรายการโดยเร็ว ก่อนที่เหยื่อจะรู้สึกเอะใจ เพราะกลัวว่าเราจะมีสติ มีเวลาตรวจสอบ หรือนำเรื่องไปปรึกษาคนอื่น

5. ปลายสายพูดจาหว่านล้อม โน้มน้าว หรือข่มขู่ให้เราโอนเงินไปทำรายการตามที่แจ้งเพื่อปิดคดีหรือลดโทษ

ดังนั้น หากเผลอกดรับสายแล้วพบว่าปลายสายมีวิธีพูดหรือลักษณะการดำเนินเรื่องตรงกับที่เอ่ยมาข้างต้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นมิจฉาชีพจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะส่วนใหญ่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักจะมีรูปแบบการหลอกลวงที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก มีบทที่เตรียมไว้อยู่แล้วว่าต้องพูดอย่างไร มีการพูดแบบเป็นขั้นเป็นตอน มีการโน้มน้าวด้วยจิตวิทยา จึงต้องตั้งสติให้ดี ฟังอย่างรอบคอบ พยายามใจเย็น ๆ ไว้ก่อน อย่าประมาท พร้อมดำเนินการดังนี้

  • พิจารณาจากข้อมูลที่ปลายสายแอบอ้างว่ามีส่วนตรงกับความจริงหรือไม่ เช่น ตัวเรามีบัญชี/บัตรเครดิตธนาคารนั้น ๆ หรือไม่ หรือเคยทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
  • มิจฉาชีพจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดส่งพัสดุ เช่น ชื่อผู้รับ ผู้ส่ง ต้นทาง ปลายทาง หมายเลขติดตามพัสดุ สถานะการจัดส่ง จะมีเพียงชื่อและเบอร์ของเราเท่านั้น ข้อมูลอื่น ๆ จะมาหลอกถามจากเราระหว่างสนทนา
  • กรณีที่แอบอ้างธนาคารหรือสถาบันการเงิน ให้มั่นใจว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่อย่างแน่นอน เพราะปกติเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า อีกทั้งเวลาเราทำธุรกรรมกับทางธนาคาร ข้อมูลพวกนั้นเราให้ไปหมดแล้ว ไม่น่าจะมีการสอบถามเพื่อให้เราบอก ปกติถ้าจะยืนยันตัวตนมักจะร้องขอไม่กี่ตัว รวมทั้งธนาคารจะไม่มีการขอให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางโทรศัพท์
  • อย่าหลงเชื่อบอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่าง ๆ
  • ลองขอหมายเลขติดต่อกลับ ขอชื่อคู่สนทนารวมถึงรหัสพนักงานเพื่อตรวจสอบกับบริษัทหรือสถาบันการเงินที่ถูกแอบอ้าง อ้างว่าตอนนี้ไม่สะดวกคุยก็ได้ เดี๋ยวติดต่อกลับไปใหม่

6

วิธีการรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบแสบ ๆ คัน ๆ

เนื่องจากตอนนี้หลาย ๆ คนรู้เท่าทันกลโกงของแก๊งพวกนี้แล้ว จากข่าวและการเตือนภัยตามโซเชียลมีเดีย หลายคนรอให้มีเบอร์พวกนี้โทรมาหาตนเองบ้าง เพราะเตรียมวิธีรับมือแก้เผ็ดไว้แล้ว โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิธีแบบแสบ ๆ คัน ๆ กวน ๆ ให้อีกฝ่ายเสียเวลาเล่น อย่างไรก็ดี ต้องมีสติเสมอหากคิดจะเล่นเกมกับคนพวกนี้ อย่าหลงเชื่อมุกเดิม ๆ ที่งัดมาข่มขู่หรือโน้มน้าวเด็ดขาด ซึ่งถ้าจะเล่นกับแก๊งนี้มีมุกอะไรที่น่าสนใจบ้าง

  • กำลังร้อนเงินเหมือนกัน ตอนนี้รับคนเพิ่มไหม เพราะการเปิดบทสนทนาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะเปิดมาเหมือน ๆ กันเกือบหมด หลายคนก็จับไต๋ได้แล้ว หลังจากคุยกันไปสักพักจนถึงช่วงที่มีการขอให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ก็ลองแหย่ไปว่า “ทำแบบนี้ได้ค่าจ้างเท่าไรเนี่ย จ้างแพงไหม อย่ามาหลอกเอาเงินจากฉันเลย ฉันก็ไม่มีเหมือนกัน ว่าแต่ที่นั่นรับคนเพิ่มไหม อยากทำบ้างจัง รับรองเล่นละครได้เนียนกว่าหล่อนอีกจะบอกให้”
  • กวนประสาท ใครที่ชอบเล่นบทกวนประสาทกับเพื่อน ๆ อยู่แล้วน่าจะสนุก ปลายสายพูดอะไรมาก็หยิบมาทำเป็นมุกกวนประสาทให้หมด ถามแมวให้ตอบหมา หรือที่มีคนเคยแชร์ว่า ปลายสายอ้างชื่อบริษัทขนส่งที่มีชื่อเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเหมือนตัวย่อ ก็เลยกวนประสาทกลับไปด้วยการถามวนซ้ำ ๆ ว่าตัวย่อภาษาอังกฤษนี้มันย่อมาจากอะไร จนปลายสายรำคาญ หรือไม่ก็คุยแบบแต่งเรื่องว่าตนเองเป็นคนทำเรื่องผิดกฎหมายอย่างที่ว่าจริง ๆ รีบ ๆ ตรวจสอบซะเพราะของต้องรีบส่ง จะต้องจ่ายค่าดำเนินคดีเท่าไรก็รีบบอก พร้อมจ่ายเพราะรวยมาก (แต่สุดท้ายไม่ได้จ่ายจริง)
  • อ้างชื่อหรือนามสกุลคนมีชื่อเสียง คนใหญ่คนโต เป็นมุกที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในเวลานี้ เพราะหากการสนทนาดำเนินการต่อไป ปลายสายจะมีการขอชื่อนามสกุลของเราโดยแจ้งว่าจะเอาไปตรวจสอบข้อมูล คนที่รู้ทันก็มักจะอ้างชื่อคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรือชื่อคนใหญ่คนโตในประเทศ ที่อ้างแล้วได้ผลก็จะมีชื่อของนายกรัฐมนตรี ที่ทำเอามิจฉาชีพถึงกับด่าใส่กลับมาเลยทีเดียว
  • ชวนคุยเรื่องอื่นประดุจเพื่อนใหม่ เป็นอีกวิธีในการชวนคุยแบบกวนประสาท ปลายสายถามอะไรมา พอตอบเสร็จเราก็พาออกนอกเรื่องหรือชวนคุยเรื่องอื่น วิธีนี้ต้องอาศัยสกิลการแต่งเรื่องแบบด้นสดเก่ง ๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เพราะเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าปลายสายจะตอบอะไรมา แล้วเราจะพาออกนอกเรื่องไปทางไหน ต้องโต้ตอบกันเดี๋ยวนั้นเลย
  • ปรับทุกข์ให้ฟัง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการชวนคุยแบบกวนประสาท แกล้งเออออตามน้ำไปก่อน พอถึงช่วงสำคัญก็ปรับทุกข์ (ที่เป็นเรื่องแต่ง) ให้อีกฝ่ายฟัง เรียกคะแนนความสงสารไปเลย บางรายอ้างว่าตอนนี้ก็ลำบากมาก ๆ แล้วแกล้งขอให้อีกฝ่ายโอนเงินมาช่วยเหลือก็มี ทำเป็นร้องไห้ใส่ก็มาก ก็รู้ว่าไม่สงสารหรอกแต่ก็เสียเวลาดี
  • พ่นภาษาต่างประเทศใส่ คนที่มีทักษะภาษาต่างประเทศ โอกาสฝึกภาษาของคุณมาถึงแล้ว หากคุณรู้แล้วว่าปลายสายเป็นพวกมิจฉาชีพ ก็พ่นภาษาต่างประเทศที่คุณพูดได้ใส่ไปเลย ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส เอาให้อีกฝ่ายไปไม่เป็น แต่กรณีนี้ควรยกเว้นภาษาของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเรา เพราะเป็นไปได้ว่าคนที่คุณกำลังคุยสายอยู่อาจเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เชี่ยวชาญภาษานั้น ๆ อยู่แล้ว
  • เคาะหม้อเคาะไหให้แสบหูกันไปข้าง เป็นวิธีที่แอบแสบแก้วหูอยู่สักหน่อย แต่ก็มีคนใช้วิธีนี้เล่นงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาแล้ว หลังจากรู้ว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ก็ขอเวลาสักครู่เพื่อให้อีกฝ่ายรอสาย จากนั้นก็จัดแจงหยิบถ้วยชามรามไห หม้อข้าวหม้อแกง ครอบโทรศัพท์ไว้แล้วจัดการเคาะหม้อเคาะชามรัว ๆ หากเป็นภาชนะที่เสียงก้อง ๆ เสียงสะท้อนจนแสบรูหูจะยิ่งสนุกเป็นพิเศษ เสียงก๊องแก๊งดังขนาดนั้นถือสายรอไม่ไหวแน่ ๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook