หน่วยงานด้านลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ปฏิเสธคำขอจดทะเบียนภาพฝีมือปัญญาประดิษฐ์
หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบเรื่องลิขสิทธิ์ปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิ์ของภาพที่สร้างสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence – AI) เนื่องจากผลงานดังกล่าวไม่ได้มีมนุษย์เป็นผู้ร่วมสร้าง
สตีเฟน เธเลอร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้พัฒนาระบบ neutral network ซึ่งมีความสามารถในการกระตุ้นหรือทำทีเหมือนส่งแรงกระตุ้นเช่นเดียวกับสมองของมนุษย์ ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ชื่อ Creativity Machine ซึ่งผลิตภาพคล้ายๆ ผลงานจิตรกรรม ด้วยการใช้ชุดคำสั่งอัลกอริทึม (algorithm) และการประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์
ภาพที่ว่านี้มีชื่อว่า A Recent Entrance to Paradise และ เธเลอร์ กล่าวว่า เขาตั้งใจให้ผลงานนี้เป็นตัวแทนความสามารถในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ใกล้ตายที่เสมือนจริงของ AI ก่อนที่จะยื่นเรื่องต่อสำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (U.S. Copyright Office) เพื่อจดทะเบียนภาพดิจิทัลนี้ในปี ค.ศ. 2018 ซึ่งทางสำนักงานแห่งนี้ได้ตัดสินใจปฏิเสธคำร้องดังกล่าวในปีต่อมา
เธเลอร์ ยังคงเดินหน้าติดต่อสำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ให้พิจารณาคำขอของตนต่อไป แต่ในคำตัดสินล่าสุดที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานแห่งนี้ยังคงยืนยันปฏิเสธที่จะจดทะเบียนผลงานภาพวาดฝีมือปัญญาประดิษฐ์อยู่ดี โดยให้เหตุผลว่า คำร้องที่ได้รับนั้นระบุว่า ภาพวาดดังกล่าวเป็นผลงานของระบบ AI ที่รับหน้าที่การวาด ภายใต้คำสั่งของเจ้าของ ซึ่งก็คือตัวของ เธเลอร์ เอง” แต่เอกสารคำร้องที่ยื่นมานั้นอธิบายว่า ภาพวาดนี้ “ถูกสร้างสรรค์โดยอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์เอง” โดยไม่มีมนุษย์ช่วยเหลือ
และแม้สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ จะอธิบายว่า การปฏิเสธคำร้องขอนี้เป็นเพราะผลงานชิ้นดังกล่าวไม่มีมนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ เธเลอร์ ยังคงพยายามต่อสู้และแย้งว่า การตั้งเงื่อนไขให้ผลงานชิ้นหนึ่งๆ ต้องมีส่วนร่วมของมนุษย์เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีกฎหมายใดรับรอง
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานแห่งนี้ก็ยังคงยืนยันคำตัดสินใจปฏิเสธคำร้องไว้เช่นเดิม
เมื่อปี ค.ศ. 2020 เธเลอร์ ยังได้ยื่นเรื่องของจดสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์ 2 ชิ้นที่อ้างว่าเป็นผลงานของปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อ DABUS แต่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (U.S. Patent and Trademark Office – USPTO) ปฏิเสธคำร้องนั้นไป โดยเว็บไซต์ The Verge รายงานว่า ทางหน่วยงานแห่งนี้ให้เหตุผลว่า ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ “เครื่องจักรกลไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็น ผู้คิดค้น”
แต่ เธเลอร์ ยังไม่ยอมลดละความพยายามในครั้งนั้น และไปยื่นเรื่องจดทะเบียนที่อังกฤษและยุโรปต่อ แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะทุกหน่วยงานล้วนปฏิเสธคำร้องทั้งหมด