โซเชียลมีเดีย นักบุญและคนบาปต่อเหตุอาชญากรรม
ความนิยมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนั้น แทบจะเรียกว่าใช้กันทุกคนบนโลกใบนี้ ส่วนจะมีแอคเคาท์กันคนละกี่แพลตฟอร์มนั้นคงต้องไปหานับกันเอาเอง นอกจากโซเชียลมีเดียจะทำให้ทั้งโลกเชื่อมถึงกันโดยง่าย และได้เห็นความคิดเห็นของผู้คนแบบต่างชาติต่างภาษาในเวลาแค่เสี้ยววินาที ในอีกด้านหนึ่ง โซเชียลมีเดียยังสะท้อนให้เห็นมุมมืดของคนต่ออาชญากรรม อาชญากร และเหยื่อของความรุนแรง
ความคิดเห็นในยุคที่เพิ่งมีในโซเชียลมีเดียนั้น ผู้คนจะแสดงความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ได้อ่านและได้ยินมาจากสื่อกระแสหลัก แต่ในเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียมักจะมีตัวละครลับ ที่เป็นแอคเคาท์อวตาร เอาเรื่องแบบวงในมาเผยแพร่ มีทั้งผิดบ้างถูกบ้าง แต่ที่สุดคือไร้การกลั่นกรองในรูปแบบที่สื่อกระแสหลักทำกัน
การแชร์ข่าวปลอม หรือเข้าใจว่าข่าวปลอมคือข่าวจริง หรือแม้กระทั่ง Influencer ที่เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดที่ตนเองเชื่อออกมาทางโซเชียลมีเดีย และทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดต่อเหตุอาชากรรม ไม่เพียงเท่านั้น ความพยายามสร้างความต่าง หรือความรู้สึกเห็นอาชญากรเป็นฮีโร่ เพราะได้รับข้อมูลที่ผิด ๆ มา ขณะที่บางคนอยากมีตัวตน ก็สามารถเปลี่ยนรูป เปลี่ยนชื่อโปรไฟล์ของตนเองให้กลายเป็นอาชญากรได้เลยในบางครั้ง
ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นทั้งนักบุญและคนบาป เมื่อถูกผู้ใช้งานนำไปใช้ในการกระจายข้อมูลแบบหวังผลเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง
ด้านดีของโซเชียลมีเดียต่ออาชญากรรม
โซเชียลมีเดีย คือพื้นที่เปิดโปงความจริง หากใครไม่ได้รับความยุติธรรม พยายามร้องเรียนเท่าไรก็ไม่มีใครสนใจ โซเชียลมีเดียคือทางออกคนทั่วไปที่ไม่มีเส้นสาย
และในบางครั้งโซเชียลมีเดีย ก็กลายเป็นแหล่งสืบข่าวหรือติดตามความเคลื่อนไหวของคนที่ใกล้ชิดกับอาชญากร หรือแม้แต่เป็นพื้นที่ให้ผู้รักษากฎหมาย ได้ปล่อยคลิปสำคัญเพื่อทำให้ฆาตกรหรืออาชญากรรู้ตัวว่าความผิดที่ทำไว้นั้นกลบไม่มิด
ด้านเลวร้ายของโซเชียลมีเดียต่ออาชญากรรม
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะช่วยจับผู้ร้ายได้ แต่อีกมุมหนึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่สร้างอาชญากรรายใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้อายุน้อยที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเรื่องดีเลวเป็นอย่างไร
ในโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มใด ๆ เป็นเรื่องง่ายมากที่จะหาคลิปที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือการใช้อาวุธ และคลิปเหล่านั้นได้สร้างอาชญากรอายุน้อยขึ้นมารายแล้วรายเล่า
ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดีย ก็เป็นช่องทางที่ฆาตกรหรืออาชญากรชื่นชอบ เพราะสามารถติดตามสถานะของเหยื่อ หรือ พฤติกรรมของเหยื่อได้ง่ายกว่าช่องทางใด ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น โซเชียลมีเดีย ยังได้ทำให้เหตุการณ์และพฤติกรรมหลังจากเกิดเหตุอาชญากรรมเปลี่ยนไป มีผู้ใช้โซเชียลที่มีพฤติกรรมเลียนแบบหรือชื่นชมอาชญากร พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนในการสร้างอาชญากรรมของคนเหล่านั้น และทั้งหมดนั้นพวกเขาทำเพียงเพื่อต้องการเพิ่มยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียของตนเอง
ด้านที่น่ารังเกียจของโซเชียลมีเดีย
ปัจจุบันนักวิชาการหรือนักกฎหมายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม ได้แสดงความกังวลกับพฤติกรรมของผู้คนที่แสดงออกในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก
การแสดงความคิดเห็นจากคนที่มีตัวตนและเกี่ยวข้องกับคดีในโลกจริง หรือแม้แต่นักวิชาการที่ต้องการเป็น Influencer ในโซเชียลมีเดีย ได้โพสต์หรือแสดงความคิดเห็นมากกว่าให้ข้อมูลเชิงวิชาการ รวมไปถึงคนบางจำพวกที่ชอบปล่อยวิธีคิดแบบ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด ที่พวกเขาคิดกันเอาเองโดยไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์รองรับ
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ความจริงที่ถูกสื่อสารออกมาบิดเบี้ยว และทำให้หลายคนไม่เชื่อถือในมาตรฐานของระบบยุติธรรม เพราะหลายคนเลือกที่จะเชื่อความคิดเห็นที่ตรงกับใจตนเองมากกว่าจะฟังความจริง และสุดท้ายก็เกิดความพยายามให้ความจริงกลายเป็นเรื่องลวง เรื่องลวงกลายเป็นเรื่องจริง ท้ายที่สุด เมื่อผลตัดสินออกมาก็สร้างความไม่พอใจกับคนส่วนมาก และความน่าเชื่อถือของระบบก็จะถูกสั่นคลอน
ทั้งหมดนี้คืออิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่มีผลต่อความน่าเชื่อต่อกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน ยิ่งเสียงจากโซเชียลมีเดียดังเท่าไร ผลตัดสินตามกระบวนการก็จะยิ่งเบาลงเท่านั้น เพราะผู้คนในโซเชียลมีเดีย ต่างถูกหล่อหลอมให้อยู่ใน “ห้องของเสียงสะท้อนของตนเอง” รับฟังความจริงเฉพาะสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยิน เมื่อมีข้อโต้แย้งในความจริงของพวกเขา ก็จะเกิดการโต้เถียงเพื่อเอาชนะมากกว่าโต้เถียงเพื่อหาเหตุผล
ต้องไม่ลืมว่าในโลกเสมือนจริงก็คือคนจริง ๆ ที่นั่งอยู่หลังจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ยิ่งพวกเขาแสดงความคิดตัวเองออกมามากเท่าไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกจริง ก็ยิ่งมีความเป็นไปที่น่ากลัวมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีหนทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ออกมาอย่างจริงจังจากผู้บริหารหรือเจ้าของโซเชียลมีเดียในแต่ละแพลตฟอร์ม