AI กับอาหาร เมื่อเราใช้ AI เพื่อประโยชน์ด้านโภชนาการ

AI กับอาหาร เมื่อเราใช้ AI เพื่อประโยชน์ด้านโภชนาการ

AI กับอาหาร เมื่อเราใช้ AI เพื่อประโยชน์ด้านโภชนาการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาหาร เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ข้อเท็จจริงนี้ทุกคนทราบดี นอกจากนี้ยังทราบอีกว่าการกินอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการนั้นดีต่อร่างกาย ทราบว่าเราควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้อเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายจะนำไปใช้งาน ทราบว่าเราควรกินอาหารที่มีประโยชน์มากกว่ากินแบบตามใจปาก และทราบว่าการกินอาหารบางประเภทหรือการกินไม่ถูกหลักโภชนาการต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายเช่นกัน โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า จากคนปกติกลายเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย เพียงเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี

จริง ๆ แล้ว พฤติกรรมสุขภาพด้านอาหารการกินเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนทราบ แต่หลาย ๆ คนก็ไม่ค่อยเต็มใจจะทำตามไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งนี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายกันมากขึ้น ต้นเหตุจากพฤติกรรมการกินส่วนบุคคล สามารถกลายเป็นปัญหาระดับชาติและระดับโลกได้ เพราะการกินเกี่ยวโยงถึงสุขภาพ เป็นทั้งปัญหาทุพโภชนาการ และปัญหาสาธารณสุข

โลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ช่วยได้หรือไม่

โลกอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีต่าง ๆ กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างไร้ขีดจำกัด อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีใช้ทุกวันนี้ หลายอย่างเชื่อว่าในอดีตเราคงไม่เคยคิดฝันว่าจะมีใครประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ การมีอยู่ของเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายและสะดวกขึ้น ยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างชัดเจน เห็นจะหนีไม่พ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

จะบอกว่านี่เป็นช่วงเวลาของ AI เลยก็ว่าได้ เพราะการประยุกต์ใช้ประโยชน์จาก AI นั้นมีอยู่หลายด้าน หลาย ๆ วงการจึงนำ AI เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงาน ทำให้ชีวิตประจำวันของเรามี AI เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย และหนึ่งในนั้นก็คือ การประยุกต์ใช้ AI เพื่อประโยชน์ในด้านโภชนาการและอาหารการกิน แม้ว่าจะดูห่างไกลและไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกันได้ แต่ทุกวันนี้ก็มีการใช้ AI ในการวางแผนด้านการกินแล้วจริง ๆ

istock-1128699739

AI กับบทบาทในเรื่องโภชนาการ

AI เข้าไปมีบทบาทในทุก ๆ อุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงอาหาร ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI เพื่อประโยชน์ในด้านโภชนาการและอาหารการกินนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้จริงอย่างแพร่หลายมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้หลักการทำงานของ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัดการรายการอาหารและวางแผนการกินอาหารให้ได้ตามหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับคนแต่ละคน

จริง ๆ แล้วทุกคนอยากมีสุขภาพที่ดี อยากร่างกายแข็งแรง จึงหันมาใส่ใจและเป็นห่วงสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพที่ขึ้นอยู่กับอาหารการกินในแต่ละมื้อแต่ละวัน แต่เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลามากพอที่จะคัดสรรอาหารที่ตนเองจะกินอย่างพิถีพิถัน ไม่ได้มีตัวเลือกมากพอสำหรับการกินอาหาร รวมถึงไม่ได้มีงบประมาณในการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการกินอาหารตามหลักโภชนาการ AI จึงเข้ามาเป็นผู้ช่วยดูแลเรื่องอาหารการกินให้เราแทน

หลัก ๆ แล้วการทำงานของอัลกอริธึม AI จะช่วยเรื่องการวางแผนมื้ออาหาร คำนวณคุณค่าทางอาหารในเมนูอาหารแต่ละมื้อตามหลักโภชนาการให้เหมาะสมกับบุคคลแต่ละคน เนื่องจากร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน คำนวณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละมื้อและตลอดทั้งวัน ที่สำคัญเมนูอาหารที่ออกแบบด้วย AI จะต้องไม่กระทบกับรสชาติอาหาร นั่นหมายความว่าเราจะยังได้กินอาหารที่อร่อยถูกปากเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือถูกหลักโภชนาการและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า

กินอาหารตามที่ AI แนะนำ

เนื่องจากร่างกายของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งเพศ วัย หมู่เลือด ความชอบ รสนิยม เป้าหมายทางโภชนาการ เงื่อนไขทางสุขภาพและการทำงานของร่างกายอื่น ๆ เช่น รายละเอียดทางพันธุกรรม การแพ้อาหาร โรคประจำตัว ยาที่กินเป็นประจำ กระบวนการเผาผลาญ รวมถึงเน้นเลือกผลิตผลอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อัลกอริธึมของ AI จะถูกออกแบบมาให้เลือกอาหารให้เหมาะสมกับบุคคล ดังนั้น เมนูอาหารที่ออกแบบด้วย AI จึงค่อนข้างจำเพาะกับสุขภาพของเราจากข้อมูลส่วนตัว หากกินอาหารตามที่ AI แนะนำ แต่ละคนก็น่าจะได้เมนูอาหารที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ความฉลาดของ AI ในด้านโภชนาการและอาหารการกิน นอกจากจะช่วยให้เราได้กินอาหารที่เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการแล้ว AI ต้องเรียนรู้เรื่องส่วนประกอบของอาหารด้วย เพื่อให้ออกแบบเมนูอาหารได้หลากหลาย ที่สำคัญ คือ AI ต้องเข้าใจพฤติกรรมการกินของคนแต่ละคน ตามข้อมูลส่วนตัวที่เราต้องแบ่งปันให้กับระบบ AI ในการคำนวณเมนูอาหารออกมาได้ถูกหลักโภชนาการ เหมาะสมกับบุคคล และถูกปากไม่ต่างจากการเลือกกินเอง

AI ที่เป็นระบบประมวลผลข้อมูลด้านอาหาร จะมีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ ส่วนปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ส่วนอนุมานและประมวลผลข้อมูล และส่วนความรู้ทางโภชนาการและการแพทย์ เมื่อเราป้อนข้อมูลผู้ใช้งานของเราแล้ว ระบบจะประมวลผลข้อมูลสุขภาพของเราตามความรู้ทางโภชนาการและการแพทย์ ว่าร่างกายของเราควรกินอะไรให้มากขึ้นหรือไม่ควรกินอะไร จากนั้นแปลผลออกมาเป็นเมนูอาหารที่สอดคล้องและเหมาะสมกับร่างกายเรามากที่สุดที่เราควรกิน

ปัจจุบัน วงการอาหารทั้งในและต่างประเทศได้มีการพัฒนา AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในเรื่องการกินอาหารของเรา ทั้งในรูปแบบของแอปพลิเคชันด้านการวางแผนอาหาร แค่เปิดแอปฯ แล้วเปิดกล้องให้ระบบสแกนเมนูอาหารตรงหน้า เราก็จะทราบว่าเราจะได้คุณค่าทางอาหารอะไรบ้างจากมื้อนี้ หรือจะให้แอปฯ คำนวณให้ก็ได้ว่าเราควรจะกินอะไร ปริมาณเท่าไรในมื้อนี้ ในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์อัจฉริยะในครัวเรือนก็สามารถประมวลผลข้อมูลได้ แต่ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์เหล่านั้นก็มีราคาค่อนข้างสูง และเข้าถึงได้ยากสำหรับคนทั่วไป

อย่างไรก็ดีการกินอาหารตามที่ AI แนะนำก็ถือเป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจในการปรับเปลี่ยนนิสัยการกินให้หันมาใส่ใจกับสุขภาพและร่างกายมากขึ้น ด้วยมันอาจจะน่าตื่นเต้นในตอนแรกที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับการวางแผนอาหารการกินได้ขนาดนี้ และท้ายที่สุดคือประโยชน์ที่เราจะได้รับเต็ม ๆ จากการกินเพื่อสุขภาพที่ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook